ธปท.คาดไตรมาส3ศก.ฟื้นชัด

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 11 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "แบงก์ชาติ"มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนไตรมาส 3 หลังมี คสช. ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มั่นใจไม่เกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค

    นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก็ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นชัดเจน โดยเชื่อว่าไตรมาส 3 ของปีนี้ จะเป็นไตรมาสที่เห็นภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชัดเจนที่สุด

    ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2 นั้น เขาเชื่อว่า ภาพรวมน่าจะมีอัตราการขยายตัวได้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคอย่างแน่นอน เพียงแต่ภาพการฟื้นตัวอาจยังไม่เด่นชัดเจนนัก เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มดีขึ้นในเดือนมิ.ย.หลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

    "ผมมั่นใจเลยว่า เราคงไม่ได้เห็นเศรษฐกิจติดลบติดกัน 2 ไตรมาส โดยเชื่อว่าไตรมาส 2 ตัวเลขจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ขึ้นกับว่าดีกว่าแค่ไหนเท่านั้น"นายดอนกล่าว

    ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงการประเมิน ซึ่งได้จากการสอบถามผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เท่านั้น โดยยังต้องรอยืนยันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แท้จริงก่อน โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.

    นายดอน กล่าวด้วยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังน่าเป็นห่วงในขณะนี้ คงเป็นภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าตัวเลขเดือนเม.ย.และพ.ค.จะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่หลังเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมทั้งยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ก็อาจทำให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาชะลอตัวลงอีกครั้ง

    ส่วนตัวเลขการส่งออกนั้น แม้การฟื้นตัวจะช้ากว่าภาคอุตสาหกรรมอื่น แต่อย่างน้อยก็เห็นสัญญาณที่ดีขึ้น และเชื่อว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลังการส่งออกจะมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่การบริโภคและการลงทุนนั้น น่าจะกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลังเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

    ด้านนายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเสริมว่า ช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น ธปท.ให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพราะกลุ่มนี้จะเป็นรายแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องของเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ จากยอดขายลดลง

    ที่ผ่านมาธปท. ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพาณิชย์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ค่าธรรมเนียมการกู้เงินที่ผู้กู้ต้องจ่ายให้กับบสย. 1.75 % ต่อปี ซึ่งแนวทางในการแก้ไขอาจจะใช้วิธีเพิ่มสัดส่วนการรับประกันความเสียหายมากขึ้น

    จากเดิมบสย.จะรับผิดชอบหากมีความสียหาย 16% ของพอร์ต หากเสียหายระหว่าง 16-20% บสย.กับธนาคารพาณิชย์จะร่วมกันรับผิดชอบความเสียหาย และหากเสียหายเกิน 20% ธนาคารพาณิชย์จะรับผิดชอบ หรือปรับลดธรรมเนียมการกู้เงินลง หรือขยายปริมาณการประกันให้เพิ่มขึ้น และดูว่ารัฐบาลจะเข้าไปช่วยในส่วนใดได้หรือไม่ อยู่ระหว่างการดำเนินงานคาดจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

    ส่วนนายศิริ การเจริญดี หนึ่งในกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวผ่านรอยเตอร์ว่า ดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้ "อยู่ในระดับต่ำมาก" และไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ซึ่งการจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่อไปอย่างไร ต้องขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก หากสถานการณ์ยังไม่ปกติ การดำเนินการใดๆ อาจไม่ได้ผลเต็มที่

    การพิจารณาดอกเบี้ยของ กนง. คงไม่มีใครมาบังคับหรือสั่งการได้ เพราะพิจารณาจากข้อมูลตามความเป็นจริงเท่านั้น

    "สถานการณ์ขณะนี้ ปกติหรือยัง ตรงนี้สำคัญ เพราะนโยบายจะได้ผลเต็มที่ต่อเมื่อทุกอย่างเข้าที่ แต่ถ้ายังไม่เข้าที่ การทำอะไรไปก็เท่ากับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ก็ต้องประเมินว่า สถานภาพประเทศไทยมันโอเคหรือไม่ ถ้าถามว่าดอกเบี้ยเรา เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนอะไรไหม ไม่เป็นเลย เพราะต่ำ"

    ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.00% ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา กนง.มีมติด้วยเสียง 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ หลังมองว่า ดอกเบี้ยปัจจุบัน ยังผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ

    นายศิริ กล่าวว่า ถ้าในสถานการณ์ที่ภาคธุรกิจและประชาชน มีความเชื่อมั่นสูง การปรับลดดอกเบี้ย จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้มาก แต่ในทางกลับกัน หากปัญหาไม่ได้อยู่ที่ดอกเบี้ย แต่เป็นเรื่องความเชื่อมั่นของผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้จะลดดอกเบี้ยลงไป ก็คงไม่เกิดประโยชน์

    "ขณะนี้การทำนโยบาย การเงินการคลังต้องผสานกันให้ดี ซึ่งต้องสร้างเงื่อนไขว่า ในการทำสองนโยบาย ก็อยากเห็นภาคเอกชนตอบสนอง ภาคประชาชนตอบสนอง แต่ที่พูดกันนี่ ก็คือ เอกชนบอกลด ก็ลดไป ฉันไม่ลงทุน ส่วนผู้บริโภคผู้มีสตางค์ บอกลดก็ลดไป ฉันไม่ใช้จ่าย ฉันกลัว อย่างนี้ก็ไม่มีประโยชน์"

    นายศิริ ยังกล่าวยืนยันถึงการพิจารณาดอกเบี้ยของ กนง.ว่า จะดูตามข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นหลัก คงไม่มีใครมาบังคับ หรือสั่งการ กนง.ได้

    "เราดูตามข้อมูล ชนิดบังคับนี่คงไม่ได้ ดูตามข้อมูลโดยแท้เลยว่า ควรหรือไม่ควร แต่ถ้ามีกระเซ็นกระสายไปบอกว่า มีไปสั่งการ ที่ว่าคืนความสุข คงคืนไม่ได้" นายศิริ กล่าว

    Tags : ดร.ดอน นาครทรรพ • ธปท. • เศรษฐกิจ • คสช

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้