"ลลิล" รับอัตราปฏิเสธสินเชื่อสูงเกินปกติ ลุ้นแบงก์ผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อหลังการเมืองพบทางออก นายกร ธนพิพัฒนศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN) กล่าวว่า ยอดปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทปัจจุบันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 15% จากปกติที่ 10% เนื่องจากที่ผ่านมาหลังจากมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆ มีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบในวงกว้างที่ได้รับทั้งอุตสาหกรรม "อัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่เป็นไปทั้งอุตสาหกรรมเพราะแบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะลดลง แต่เชื่อว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ ต้องจับตาว่าแบงก์ต่างๆ จะเริ่มผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อบ้างหรือไม่" ปีนี้บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้สูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 418 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้จากงานที่มีอยู่ และการขายโครงการใหม่ รวมถึงการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้รับประโยชน์ด้านภาษี ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิปีนี้อยู่ที่ 19% สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ 17-18% นอกจากนี้ บริษัทยังวางเป้ารายได้รวม 2,700 ล้านบาท มาจากการรับรู้รายได้จากมูลค่างานในมือ (BACKLOG) ที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 1,000-1,100 ล้านบาท ได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันคงเป้ายอดขายทั้งปีที่ 3,200 ล้านบาท ซึ่งยอดขาย 5 เดือนที่ผ่านมายังคงเป็นไปตามเป้าหมาย ช่วงครึ่งปีหลังเตรียมเปิดโครงการใหม่อีก 6-8 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรก บริษัทเปิดโครงการใหม่ 2 โครงการ มูลค่ารวม 1,500 ล้านบาท และไตรมาส 3 จะเปิดโครงการใหม่อีกอย่างน้อย 2 โครงการ ขณะเดียวกันจัดสรรงบสำหรับซื้อที่ดิน 800-900 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาโครงการบางส่วนในปีนี้ รวมถึงปีหน้า "ตอนนี้ยังไม่ได้มีการปรับแผนทั้งรายได้ยอดขาย เพราะผลงานตลอด 5 เดือนที่ผ่านมายังทำได้ตามเป้า ส่วนการเปิดโครงการใหม่ จะไม่เลื่อนออกไปอีกแล้ว เพราะเศรษฐกิจคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเรียลดีมานด์ที่เป็นกลุ่มหลักของบริษัท" ด้านนางสาวชุติมา ตั้งมติธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายบัญชีการเงิน บริษัท มั่นคงเคหะการ (MK) กล่าวว่า ยอดปฏิเสธสินเชื่อปัจจุบันอยู่ที่ 9% ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 11% เพราะบริษัทตรวจสอบคุณสมบัติและสถานะทางการเงินของลูกค้าที่จะจองบ้านเบื้องต้น หากพบว่ามีโอกาสที่ธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายใด บริษัทจะไม่รับจองบ้าน หรือจะแนะนำโครงการที่ระดับราคาถูกกว่า ปีนี้คาดว่าจะใช้งบซื้อที่ดินมากกว่า 1,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ใช้งบซื้อที่ดิน 800 ล้านบาท เนื่องจากเห็นโอกาสการซื้อที่ดินช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งมีราคาถูกลง และเจ้าของที่ดินต้องการขายมากขึ้นกว่าช่วงเศรษฐกิจดี ปัจจุบันบริษัทใช้งบซื้อที่ดินไปแล้วกว่า 700 ล้านบาท โดยใช้พัฒนาโครงการปีนี้ 1 แปลง และส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับพัฒนาโครงการในปี 2558 บริษัทเชื่อว่าปีนี้จะมีกำไรสุทธิมากกว่าปีที่แล้ว ขณะที่รายได้รวมจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2,800 ล้านบาท เพราะบริษัทเปิดโครงการแนวราบเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิสูงกว่าโครงการคอนโดมิเนียม ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทไตรมาสแรกอยู่ที่ 38.47% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 33.15% รวมถึงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวต้นทุนต่างๆ ทั้งการขายและวัสดุก่อสร้างค่อนข้างจะทรงตัว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างแนวราบ "โดยภาพรวมแล้วกำไรปีนี้จะดีกว่าปีก่อนแม้ว่ารายได้จะทรงตัว เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรของโครงการแนวราบจะสูงกว่าคอนโดมิเนียม และต้นทุนของแนวราบไม่มีการปรับตัวขึ้นเนื่องจากซัพพลายทรงตัวเพราะเศรษฐกิจชะลอ" นางสาวชุติมา กล่าว ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะดีขึ้นและฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง 2557 จากระดับความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย (Housing Demand Index) ที่คาดจะต่ำสุดในเดือน เม.ย.-พ.ค. และฟื้นในเดือนมิ.ย. นักวิเคราะห์กล่าวว่า นโยบายกระตุ้นจากคสช.ในเรื่องโครงการที่อยู่อาศัย ยังไม่ถือว่าเป็นยาแรงกระตุ้นอุปสงค์อสังหาริมทรัพย์เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายอื่น ๆ ในอดีต อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสามารถเรียกความเชื่อมั่นและ Sentiment ของกลุ่มกลับมาคืนมาได้ โดยกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง-ล่าง และผู้ประกอบการหลักที่จะได้รับประโยชน์ คือ พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) ศุภาลัย (SPALI) ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LPN) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากโครงการระดับกลางล่างเกินกว่า 50% "หากนโยบายดังกล่าวได้รับการอนุมัติ คาดว่าจะลดแรงกดดันของการถูกปฏิเสธสินเชื่อลงได้ ซึ่งจะเป็นบวกต่อกลุ่มระดับกลาง-ล่าง และบริษัทที่จะได้ประโยชน์อย่างชัดเจนคือพฤกษา เรียลเอสเตท และศุภาลัย เพราะยังสามารถบริหารความเสี่ยงและสภาพคล่องในปีนี้ได้ดี" ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 10 บริษัทที่ฝ่ายวิจัยทำการศึกษาจะมียอดขายฟื้นตัวไตรมาส 2 ปีนี้ โดยประเมินจะมียอดขายรวมกัน 36,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาสแรก แต่ลดลง 29% จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยคาดสัดส่วนยอดขายของแนวราบ 72% และคอนโดมิเนียม 28% Tags : อสังหา • ธนาคาร • สินเชื่อ • ลลิล พร็อพเพอร์ตี้