สอท.ระดมอุตสาหกรรม76จังหวัด ช่วย"เอสเอ็มอี"ค้าชายแดนสู้วิกฤติ หลังยอดขายในประเทศทรุดหนัก จากวิกฤติการเมืองที่ยังยืดเยื้อ และไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.จึงได้ปรับแนวการทำงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องพึ่งพาตลาดในประเทศให้สามารถดำเนินกิจการอยู่รอดผ่านช่วงนี้ไปได้ ล่าสุดได้ผลักดันให้เอสเอ็มอีส่งสินค้าออกตามแนวชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยตลาดภายในประเทศที่หดตัวอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตามแนวชายแดนทุกจังหวัด จัดงานแสดงสินค้าจังหวัดติดชายแดน และเข้าไปจัดแสดงสินค้าเจาะตลาดในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระตุ้นยอดขาย รวมทั้งจะประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด จัดงานจำหน่ายสินค้าภายในจังหวัด เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มเดินหน้าภายใน 1-2 เดือนนี้ "ประเทศเพื่อนบ้านล้วนเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจระดับสูง จึงยังเป็นตลาดที่สามารถรองรับสินค้าไทยได้มาก หากสินค้าสำเร็จรูปของไทยขยายตลาดไปได้มากขึ้น ก็จะเป็นตัวช่วยให้เอสเอ็มอี ที่ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ มียอดขายเพิ่มขึ้น จะช่วยให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีเครือข่ายการค้าในต่างประเทศมากมาย สามารถปรับตัวเพิ่มยอดส่งออกได้ไม่ลำบาก" นายเกรียงไกร กล่าว นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดการค้าชายแดนให้มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวภายใน 3 ปี ข้างหน้า จะสร้างยอดส่งออกรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 9 แสนล้านบาท หรือเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า30%จะทำให้ภาคการผลิตของไทยมีตลาดต่างประเทศที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ถกสถาบันการเงินยืดหนี้เอสเอ็มอี ส่วนการแก้ปัญหาสภาพคล่องของเอสเอ็มอี ทางส.อ.ท.ได้หารือกับสถาบันการเงิน เพื่อขอให้ยืดเวลาการชำระสินค้าให้กับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเมือง รวมทั้งยังได้หารือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) เข้ามาช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น ส.อ.ท.พร้อมหารือรักษาการประธานวุฒิฯ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการจากนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1ในฐานะว่าที่ประธานวุฒิสภา ว่าจะขอหารือกับภาคเอกชนถึงทางออกประเทศไทยในวันนี้ (14 พ.ค.) นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ส.อ.ท.เตรียมเสนอนายสุรชัย คือ ไทยควรที่จะมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลือกตั้งหรือวิธีการอื่น เพื่อจะได้มีรัฐบาลที่มีอำนาจบริหารประเทศและประกาศนโยบายของรัฐบาลออกไปสู่สาธารณชน ประการสำคัญต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับของคนส่วนใหญ่ ส่วนสิ่งที่ภาคเอกชนยังคงกังวล คือ สถานการณ์ทางการเมืองอาจไม่จบในเร็ววันแต่ยืดเยื้อออกไป รวมถึงอาจเกิดความรุนแรง เพราะรัฐบาลที่ได้รับมาไม่เป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ การหารือกับนายสุรชัย วันนี้หากมีขึ้นจริงตน ได้มอบหมายให้นายเกรียงไกร เธียรนุกุล และนายวัลลภ วิตนากร เข้าร่วมประชุม ห่วงตั้งรัฐบาลไม่ได้กระทบหนัก นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่าหากไทยไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างรุนแรง เนื่องจากต่างชาติจะยิ่งขาดความเชื่อมั่นในการค้า และการลงทุนกับไทย เพราะไม่รู้ว่าการเมืองไทยจะไปจบที่ตรงไหน และเมื่อไหร่จะกลับมาสงบสุข จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลงไปอีกจากปัจจุบัน คาดว่าจีดีพี จะขยายตัวไม่ถึง 1% ส่วนการส่งออกอาจจะขยายตัวไม่เกิน 3% โดยอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่มเอสเอ็มอี ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลาง-ใหญ่ เชื่อมั่นว่าจะสามารถปรับตัวจนผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ ยกเว้นก็จะมีเพียงอุตสาหกรรมกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน ที่คาดว่าจะมีการปรับเป้า โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ภายในประเทศ ที่อาจต้องปรับแผนลดกำลังการผลิตลง ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเดือนต.ค.-ธ.ค.นี้ จะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรปตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.2558 ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลาง-ใหญ่ในกลุ่มอื่นๆ คาดว่าจะยังคงเดินหน้าต่อไปได้ บีโอไอเร่งเดินสายโรดโชว์ดึงลงทุน นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่าทางบีโอไอ ก็ยังคงเดินหน้าแผนการส่งเสริมการลงทุนต่อไปได้ เนื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบอร์ดบีโอไอใหม่ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งก็สามารถสามารถอนุมัติให้สิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนได้ หลังจากนี้จะมีการเดินสายไปโรงโชว์ในต่างประเทศ เพื่อชี้แจงว่าสามารถตั้งบอร์ดบีโอไอแล้ว และอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม บีโอไอจะเร่งเดินสายจัดโรดโชว์ โดยเดือนพ.ค.นี้จะเดินทางไปชักจูงการลงทุน 5 ครั้งในประเทศโซนอเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยเน้นการจับคู่ธุรกิจ พานักลงทุนไทยไปแสดงสินค้า เพื่อแสดงถึงศักยภาพ สร้างความมั่นใจในอุตสาหกรรมไทย เน้นการเข้าถึงธุรกิจเป้าหมายให้ข้อมูลโดยตรง โดยเฉพาะระบบการขนส่งคมนาคม เพื่อเร่งสร้างความมั่นใจ ให้นักลงทุนได้ตัดสินใจเร็วขึ้น และอาจจะช่วยให้การลงทุนในปีนี้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 7-9 แสนล้านบาทได้ พับแผนส่งเสริมลงทุนใหม่รอรัฐบาลหน้า ส่วนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอ ที่ได้จัดทำร่างไว้และเดิมมีเป้าหมายที่จะบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2558 รวมถึงนโยบายส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนยังต่างประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ คงต้องรอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็น่าจะมีรัฐบาลและบอร์ดบีโอไอใหม่ได้ช่วงเดือนก.ย.นี้ ก็น่าจะเสนอและบังคับใช้ได้ทันวันที่ 1 ม.ค.2558 ในส่วนนโยบายส่งเสริมนักลงทุนออกไปลงทุนไปต่างประเทศ บีโอไอได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เพื่อเพิ่มบทบาทในส่วนนี้ จากเดิมทำได้เพียงส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ทำให้บีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนได้มากขึ้น ส่วนมาตรการผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าว สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยผู้ที่ขอผ่อนผันจะต้องลดการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือลง 25% จากจำนวนแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงานทุกๆ 6 เดือน จนไม่มีการใช้แรงงานต่างด้าวตามที่กำหนด ในวันที่ 1 ม.ค. 2558 บีโอไอยืนยันว่าจะเดินไปตามแนวทางเดิม โดยจะไม่มีการอนุโลมให้ใช้แรงงานต่างด้าวได้อีก ดังนั้นหากบริษัทใดไม่สามารถทำได้ตามแผนที่เสนอไว้ จะถูกบีโอไอตัดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่เกี่ยวข้องทันที Tags : สอท. • อุตสาหกรรม • ค้าชายแดนใต้