จีนติงคุณภาพหอมข้าวหอมมะลิไทย

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 14 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    จีนติงข้าวหอมมะลิไทยรสชาติเปลี่ยน ชี้อาจเกิดจากการปลอมปนในประเทศจีนเอง"สมพร"ชี้เหตุข้าวหอมมะลิไทยรสชาติเปลี่ยนจากกระบวนการผลิต

    นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับนาง ZENG LIYING รัฐมนตรีช่วยว่าองค์การบริหารธัญพืชแห่งรัฐ (STATE ADMINISTRATION OF GRAIN:SAG) สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยฝ่ายจีนได้หยิบยกปัญหาข้าวหอมมะลิไทยมาหารือ พร้อมแจ้งว่าที่ผ่านมาจีนได้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยเป็นปริมาณมาก เนื่องจากมีกลิ่นหอมและรสชาติอร่อย แต่ในระยะหลังผู้บริโภคของจีน ได้ท้วงติงถึงเรื่องรสชาติข้าวไทยและกลิ่นที่มีความหอมน้อยลง

    กระทรวงเกษตรฯได้ยืนยันว่า กรมการข้าวได้มีการตรวจสอบพันธุกรรมข้าวหอมมะลิ เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่มีกลิ่นหอมเช่นเดิม

    อย่างไรก็ตามการส่งออกไปจีนมี 2 รูปแบบ คือ การส่งออกข้าวขาวหอมมะลิบรรจุสำเร็จจากไทย มีตราสัญลักษณ์ C.C.I.C. ซึ่งเป็นการรับรองคุณภาพมาตรฐานข้าวและการปลอมปนที่เชื่อถือได้และอีกรูปแบบ คือ การส่งออกข้าวขาวหอมมะลิในลักษณะถุงขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการของจีนนำไปบรรจุใหม่ในจีน ซึ่งอาจเกิดการปลอมปนได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้เร่งดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควบคู่กับตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานพันธุ์ข้าวไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว

    สศก.ได้สนับสนุนให้ทางการจีนสร้างความร่วมมือในการนำเข้าสินค้าเกษตรคุณภาพดี จากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คัดสรรสินค้าเกษตรคุณภาพดี จากเกษตรกรมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้จีนสามารถเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าเกษตรจากไทยได้ หากมีความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนและไทย

    นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า การที่จีนท้วงติงเกี่ยวกับรสชาติและความหอมของข้าวหอมมะลิไทย เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวในตลาดพรีเมียม โดยปัจจุบันไทยมีการส่งข้าวหอมมะลิไปขายยังประเทศจีนประมาณ 1 - 1.3 แสนตันต่อปี

    รสชาติของข้าวมะลิที่เปลี่ยนไปและกลิ่นที่หอมลดลงเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยส่วนแรกเกิดจากการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่เกษตรกรไทยในปัจจุบัน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความพิเศษของข้าวหอมมะลิเอาไว้ โดยใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งผลผลิตทำให้สภาพธรรมชาติของพืชที่เป็นจุดเด่นหายไป การเก็บเกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าวอาจได้เมล็ดข้าวที่ยังไม่สุกเต็มที่มาด้วยส่งผลให้มีการปะปนกัน

    "การนำข้าวหอมมะลิที่ปลูกได้ดีในบางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ที่มีความพิเศษของดินไปปลูกในพื้นที่ในเขตชลประทาน เป็นข้าวหอมจังหวัด ก็ทำให้ลักษณะพิเศษหมดไปด้วยเช่นกัน"

    นอกจากนี้เกิดจากปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่ายในตลาดจีน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันข้าวหอมมะลิไทยในตลาดจีน เพราะทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างมาก

    “พ่อค้าข้าวที่ต้องการทำกำไรจากการปลอมปนข้าวระหว่างข้าวหอมมะลิกับข้าวธรรมดาที่มีราคาถูกกว่าหรือเป็นการผสมข้าวหอมมะลิกับข้าวพันธุ์อื่นๆ เพื่อต้นทุนที่ถูกกว่าและสามารถตัดราคาคู่แข่งได้ โดยปัจจุบันการตรวจสอบยังคงทำได้ยากเพราะจะต้องใช้วิธีการตรวจดีเอ็นเอของข้าว ซึ่งกระบวนการปลอมปนข้าวมีการทำทั้งพ่อค้าในประเทศและต่างประเทศ "นายสมพรกล่าว

    หนังสือพิมพ์เวียดนามอีโคโนมิกไทม์สรายงานว่าเวียดนามได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกข้าวสำหรับปี 2557 เหลือ 6.2 ล้านตัน จากก่อนหน้านี้คาดหมายว่าจะส่งออกได้ 6.6 ล้านตัน หลังจากสมาคมอาหารระบุว่าจากต้นปีถึงเดือนพ.ค.สามารถส่งออกได้น้อยลง

    Tags : จีน • คุณภาพข้าวหอมมะลิ • เกษตรฯ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้