แบงก์ชาติ หนุนปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ ระบุกระทรวงการคลังมีอำนาจเต็มในการดำเนินการ การปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(เอสเอฟไอ) ตลอดจนการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงทางการเงินของเอสเอฟไอนั้น ถือเป็นหนึ่งในแผนโรดแมพเร่งด่วนระยะที่ 3 ที่กระทรวงการคลังได้เสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (คสช.) ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้พิจารณา โดยแผนการปฏิรูปดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพในการเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน และ การเพิ่มความมั่นคงในระบบเอสเอฟไอ สำหรับเรื่องนี้ นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การปฏิรูป เอสเอฟไอ นั้น กระทรวงการคลังมีอำนาจในการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว และในส่วนของ ธปท.เองก็พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ โดยมองว่าการปฏิรูปดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีต่อภาพรวมของระบบ อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า ในระยะหลังมานี้ เอสเอฟไอ บางรายโดยเฉพาะรายที่มีขนาดใหญ่อย่างธนาคารออมสิน ก็เริ่มหันมาดำเนินงานโดยยึดหลักพันธกิจของตัวเองมากขึ้น ด้วยการหันมาปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศแล้ว ยังลดความเสี่ยงต่อการดำเนินการที่ไม่ชอบมาพากลได้อย่างมากด้วย “การที่กระทรวงการคลังกำหนดพันธกิจที่ชัดเจน ย่อมต้องดีอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะดีต่อการพัฒนาประเทศ ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ผลพลอยได้ที่สำคัญยังช่วยลดการกระทำที่อาจเกิดการไม่สุจริตลงได้ด้วย เพราะการปล่อยกู้ให้รายย่อย มักไม่จูงใจให้เกิดการกระทำที่ไม่สุจริต เพราะไม่รู้จะทำไปทำไมเนื่องจากเป็นรายเล็ก คือ ปัญหาที่เราพบกับ เอสเอฟไอที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้รายใหญ่ที่เป็นสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งไม่ใช่สินเชื่อตามพันธกิจ ดังนั้นการเน้นสินเชื่อพันธกิจรายเล็กๆ จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี” ส่วนในเรื่องความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อนั้น เธอกล่าวว่า ด้วยการที่เป็นสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี จึงถือว่ามีการกระจายความเสี่ยงในตัวเองอยู่แล้ว เพราะขนาดสินเชื่อที่ปล่อยไปมีไม่มาก ผลกระทบที่มีต่อฐานะการเงินของตัวสถาบันการเงินเองจึงไม่ได้มากตามไปด้วย สำหรับเรื่องกฎระเบียบเพื่อควบคุมการดำเนินงานของเอสเอฟไอ ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ก็มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ เข้าใจว่ากฎระเบียบที่นำมาใช้กับแต่ละ เอสเอฟไอ คงแตกต่างกันออกไปบ้าง เพราะพันธกิจของแต่ละเอสเอฟไอเองก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องดูเนื้องานของแต่ละแห่งด้วย ในส่วนของ ธปท. คิดว่า การดำเนินงานโดยยึดหลักการบริหารความเสี่ยงถือเป็นเรื่องสำคัญ และหากกระทรวงการคลังขอความร่วมมือมา ในมุมของ ธปท. เองก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางการดำเนินงานที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น แบ่งเป็น 1.การปรับบทบาทของ เอสเอฟไอ ให้เหมาะสมกับพัฒนาการของระบบสถาบันการเงิน โดยเน้นการให้บริการคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินเป็นหลัก 2.การพัฒนาการกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ และการปรับเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงทางการเงิน 3.การพัฒนากรอบดำเนินงานตามพันธกิจ ทั้งเรื่องการปรับปรุงระบบประเมินผลและระบบค่าตอบแทน ปรับปรุงแนวทางการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ(พีเอสเอ) และปรับปรุงกฎหมายจัดตั้ง เอสเอฟไอ เพื่อให้การดำเนินงานของเอสเอฟไอมีความต่อเนื่อง สำหรับการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแล เอสเอฟไอ เป็นการเฉพาะ สืบเนื่องจากเอสเอฟไอได้ทวีความสำคัญขึ้นในระบบสถาบันการเงินไทย จึงควรปรับปรุงระบบการกำกับดูแลและตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ก็ควรมีความแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากต้องทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาผ่านการให้บริการของประชาชน หรือธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ได้ และควรมีกรอบการดำเนินงานที่แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจทั่วไป เนื่องจากมีการรับฝากเงินจากประชาชน ส่วนแนวทางการดำเนินงาน ได้เสนอให้มีการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแล เอสเอฟไอ เป็นการเฉพาะ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ให้มีคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีกรรมการเป็นผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และมี สศค. เป็นเลขานุการ สำหรับหน้าที่ของคณะกรรมการฯ รับผิดชอบนโยบายกำกับดูแล เอสเอฟไอ กำหนดแผนธุรกิจและการประเมินผลงาน และบรรษัทภิบาลของ เอสเอฟไอ ในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันให้ ธปท. ทำหน้าที่ตรวจสอบ เอสเอฟไอ และรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการฯ สั่งการแก้ไข ยกเว้นกรณีกรรมการหรือผู้บริหารมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อ เอสเอฟไอ ให้ ธปท. มีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวได้ทันที Tags : ปฎิรูป • แบงก์รัฐ • ธปท.