คสช.ตั้ง3บอร์ดพลังงาน'ไพรินทร์'ชูปฏิรูปเน้นเสรี

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 10 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    คสช.แต่งตั้ง3บอร์ดพลังงาน "ประยุทธ์" นั่งประธานบอร์ด กพช. ส่ง"ประจิน"คุมบอร์ดกบง. ไพรินทร์ชูปฏิรูปพลังงาน เน้นกลไกตลาดเสรี

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีหน้าที่กำกับดูแลและตัดสินใจเรื่องนโยบายพลังงาน 3 ชุด วานนี้ (9 มิ.ย.) ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

    ในส่วนของคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน การทำหน้าที่ประธานไม่เฉพาะแต่ กพช. ในส่วนของงานด้านพลังงานต้องยอมรับว่ามีหลายเรื่องที่จะต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังนั่งประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

    ส่วนพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นรองประธาน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นกรรมการ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการเป็นกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นกรรมการและเลขานุการ

    "ประจิน" นั่งประธานบอร์ดกบง.

    ส่วนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการมีปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการ สศช. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ผู้อำนวยการ สนพ.เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทน สนพ.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

    ดันเลขาธิการคสช.นั่งบอร์ดอนุรักษ์ฯ

    คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คสช.เป็นประธาน ส่วนมีกรรมการประกอบด้วย พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพลังงาน เลขาธิการ สศช. เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสภาวิศวกร นายกสภาสถาปนิก และ ผู้อำนวยการ สนพ. เป็นกรรมการ และเลขานุการ

    "ไพรินทร์"ชูกลไกเสรีปฏิรูปพลังงาน

    นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันในโครงสร้างราคาพลังงาน มีเพียงกลุ่มน้ำมันเบนซินเท่านั้น ที่มีการปล่อยลอยตัวราคาให้ขึ้นลงตามกลไกราคาตลาด ขณะที่ดีเซล รัฐมีนโยบายควบคุมเพดานราคาไว้ไม่ เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมทั้งแอลพีจีและเอ็นจีวี ยังคงจำหน่ายต่ำกว่าต้นทุนจริง หากถามว่าแนวทางการปฏิรูปพลังงานอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ส่วนตัวยังเชื่อมั่นเรื่องกลไกตลาดเสรี คือ ปล่อยให้ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด แต่ก็ต้องมีการเข้าไปช่วยอุดหนุนราคาเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น แอลพีจี ที่ยังคงต้องอุดหนุนกลุ่มผู้ใช้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ขณะที่ ครัวเรือนทั่วไป ภาคขนส่งและอุตสาหกรรมค่อยปล่อยให้ราคาลอยตัว

    ส่วน เอ็นจีวี ที่ยังถูกควบคุมราคาเอาไว้ต่ำกว่าต้นทุนจริง ก็ควรต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาดีเซล

    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เห็นว่ามีประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพของราคา ไม่ให้มีความผันผวน แม้ที่ผ่านมาอาจจะมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่นนำไปอุดหนุนราคาแอลพีจี แต่หากยังไม่มีกลไกอื่น มาทำหน้าที่แทน ก็จำเป็นจะต้องคงมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้

    ปัดปตท.ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน

    นายไพรินทร์ กล่าวตอบโต้กลุ่มที่สร้างข้อมูลที่บิดเบือนด้านพลังงานและโจมตี ปตท.ในโซเชียล เน็ตเวิร์ค ด้วยว่า สมมติฐานที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิด คือ การที่บอกว่าไทยมีทรัพยากรปิโตรเลียมมหาศาล และ ปตท.เป็นผู้ผูกขาดธุรกิจเอาไว้เพียงรายเดียว

    ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานและปตท. ก็ไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน โดยส่วนแบ่งการตลาดของปตท.มีประมาณ 39% จึงไม่ได้เป็นบริษัทที่ผูกขาด

    ในส่วนของผลกำไรแสนล้านบาทนั้น 40% เป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และอีก 60% เป็นส่วนที่ ปตท. นำมาใช้ในการลงทุนและเมื่อเข้าไปดูในแต่ละธุรกิจ พบว่า กำไรแสนล้านบาทนั้น 35-40% มาจาก ปตท. อีก 35-40% มาจากธุรกิจ ปตท.สผ. ที่ ปตท.ถือหุ้น 68% ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจอื่นๆ ของบริษัทลูก โดยในส่วนของธุรกิจน้ำมันนั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของกำไรเท่านั้น

    เล็งแยกธุรกิจน้ำมันเปลี่ยนแบรนด์ปตท.

    นายไพรินทร์ กล่าวว่า เพื่อที่จะให้ประชาชนได้เห็นว่าธุรกิจน้ำมันของปตท. ไม่ได้เอาเปรียบผู้บริโภค ฝ่ายบริหารจึงมีแนวคิดที่จะแยกธุรกิจน้ำมันของปตท. ออกมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการศึกษาที่จะเปลี่ยนแบรนด์ จากปตท. มาเป็นแบรนด์อื่น โดยจะนำเสนอต่อบอร์ด ปตท.ในเร็วๆ นี้

    “การที่ต้องออกมาชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนมีความเข้าใจผิดในเรื่องของพลังงานและปตท. เนื่องจากยังมีการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน กระจายไปสู่ประชาชนในโซเซียล เน็ตเวิร์ค อย่างต่อเนื่อง ที่อาจจะกลายเป็นกระแสไปกดดัน คสช. ที่กำลังทำเรื่องของการปฏิรูปพลังงานอยู่ในขณะนี้" นายไพรินทร์ กล่าว

    รับภาระ"เอ็นจีวี-แอลพีจี"ปีละ3หมื่นล้าน

    นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน ปตท. ต้องแบกรับภาระต้นทุนเอ็นจีวี ปีละ 20,000 ล้านบาท จากราคาต้นทุนอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม แต่ต้องขายเอ็นจีวีในราคาควบคุม ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ แอลพีจี ต้องแบกภาระขาดทุนอยู่ปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท เนื่องจาก ต้นทุนแอลพีจีที่ผลิตได้อยู่ที่ประมาณ 400 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ต้องขายในราคาควบคุมที่ประมาณ 333 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเห็นควรที่จะต้องปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด โดยที่รัฐอาจจะพิจารณาเก็บรายได้ จากส่วนอื่นมาทดแทน เช่น การเก็บภาษีรถที่ใช้ดีเซลให้สูงกว่า รถที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ เหมือนในบางประเทศ เป็นต้น

    Tags : เอ็นจีวี • แอลพีจี • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • คสช. • พลังงาน • กบง. • กพช. • บีโอไอ • พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้