"ปตท." ยอมรับต่างชาติยังไม่เข้าลงทุน ติดเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศ แถมตรึงราคาแอลพีจี-เอ็นจีวีกดราคาหุ้น ต้องยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นในกลุ่มบริษัท ปตท. (PTT) ปรับลดลงแรง สวนภาวะตลาดโดยรวมที่ปรับขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) และข่าวการปรับโครงสร้างคณะกรรมการ(บอร์ด) รัฐวิสาหกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ยังไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของปตท. ยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่มีบรรยากาศ (Sentiment) การลงทุนในเชิงบวก จนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องการตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ซึ่งปตท.รับภาระการขาดทุนอยู่กว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท "การปรับราคาพลังงาน ในส่วนของแอลพีจี และเอ็นจีวี ไม่ได้มีผลกระทบต่อปตท. เพราะเป็นการปรับราคาขายปลีก ไม่ได้ปรับราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งเป็นส่วนที่กระทบกับปตท. ยกเว้นจะมีการปรับราคาหน้าโรงกลั่นให้สะท้อนต้นทุน หรือกลไกตลาด ซึ่งปัจจุบันปตท.ยังรับภาระในส่วนต่างอยู่" ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีก มีสัดส่วนกำไรไม่ถึง 10% ของกำไรปตท.ที่เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท และหากมองในแง่ของรายได้รวม เป็นส่วนที่มาจากปตท.จริงๆ เพียง 30-40% ส่วนที่เหลือมาจากบริษัทลูกและบริษัทในเครือที่มีอยู่กว่า 300 บริษัท ซึ่งลดลงจากอดีตที่รายได้ที่มาจากปตท. และบริษัทในเครือมีสัดส่วน 50:50 เป็นผลมาจากการแบกรับภาระการตรึงราคา แอลพีจี และเอ็นจีวี เขาบอกว่า บรรยากาศการลงทุนยังถูกกดดันจากนักลงทุนต่างชาติส่วนหนึ่ง ที่ยังไม่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทั้งนักลงทุนในแถบตะวันตก และนักลงทุนจากญี่ปุ่น เพราะติดเงื่อนไขทางการเมือง และมีหลายสถาบันที่ไม่มีนโยบายจะลงทุนต่อ กระทบกับหุ้นขนาดใหญ่ (บิ๊กแคป) ซึ่งเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ "ราคาหุ้นปตท. ถูกกดดันโดยนโยบายเป็นหลัก ส่วนราคาหุ้นของบริษัทลูกที่ปรับลดลง เป็นผลมาจากธุรกิจ โดยเฉพาะปิโตรเคมีที่ยังไม่ค่อยดี เพราะตลาดส่วนใหญ่อยู่ในจีน ขณะที่เศรษฐกิจจีนไม่ค่อยฟื้นตัวดีนัก จึงกระทบกับความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ส่วนราคาหุ้นของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.จะได้รับผลกระทบเมื่อมีข่าวการค้นพบ หรือมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มเข้ามาในตลาดโลก" แม้บรรยากาศการลงทุนในหุ้น จะยังไม่มีปัจจัยบวก แต่ภาพรวมผลการดำเนินงานของ ปตท.ยังเป็นบวก และคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ตามแผนที่วางไว้ โดยปตท. สามารถบริหารธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในภาวะวิกฤติ ที่ไม่สามารถเข้าทำงานในสำนักงานใหญ่ได้นานเป็นเดือน แสดงให้เห็นว่าแผนธุรกิจในภาวะวิกฤติ หรือ บีซีพี (BCP) ของปตท.เป็นระบบที่ดี ทำให้งานไม่สะดุด สำหรับแผนงานของปตท.หลักๆ ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน แต่อาจจะชะลอการใช้งบลงทุนในบางส่วน โดยเดือนก.ค.นี้ คณะกรรมการจะมีการทบทวนแผนการลงทุน 5 ปี ซึ่งมีการทบทวนทุกปี เพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์ โดยหลักๆ อาจจะมีการปรับใช้งบลงทุนโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 เนื่องจากยังติดขัดในเรื่องการจัดหาผู้รับเหมาก่อนสร้าง ทำให้การใช้งบอาจจะต้องเลื่อนไปจากปีนี้ไปเป็นปีหน้าแทน ส่วนแผนการนำบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือบริษัท จีพีเอสซี (GPSC) เข้าตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าขั้นตอนต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ แต่จะเข้าตลาดในช่วงใดนั้น ต้องดูภาวะตลาดโดยรวมด้วย ซึ่งนอกจากธุรกิจไฟฟ้าแล้ว ปตท.ยังมีแผนที่จะแยกธุรกิจในส่วนอื่นๆ ที่มีความแข็งแกร่งออกมาแล้วเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย เช่น ธุรกิจกาแฟอเมซอน และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นเป็นต้น แต่ต้องมีการศึกษาในรายละเอียดก่อน ไม่ได้รีบเร่งที่จะต้องดำเนินการ ด้านบล.ไอร่า วิเคราะห์ว่า คาดผลการดำเนินงานปตท. ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากธุรกิจก๊าซฯที่มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น หลังจากโรงแยกก๊าซ 5 กลับมาดำเนินการผลิตได้เต็มที่ ขณะที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงกลั่นจะลดลงจากการปิดซ่อมบำรุง และยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับส่วนต่างปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ที่ลดลง ทั้งนี้คาดผลการดำเนินงานในปี 2557 จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 100,372 ล้านบาท จากผลการดำเนินงานของปตท.สผ.ที่ฟื้นตัว Tags : สุรงค์ บูลกุล • ปตท. • ราคาหุ้น • การลงทุน