ว่ากันว่ามือกฎหมายที่ร่างประกาศ-คำสั่งให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนให้ "พ.อ.วินธัย สุวารี" รองโฆษกกองทัพบกออกมาอ่านแทบทุกคืนในห้วงก่อนหน้านี้ มาจากฝีมือการเขียนของนายทหารพระธรรมนูญ แต่ที่เหนือกว่าคนเขียนคือ "มือตรวจ" ที่มีผู้ลือว่าเป็นนักกฎหมายระดับชั้นเซียนเหยียบเมฆ นั่นคือ "มีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีกทั้งคนที่ถูกเชิญมาร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งทำหน้าที่ตรวจร่างคำสั่ง คำประกาศ คสช. ก็คือ "วิษณุ เครืองาม" อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ 2 นักกฎหมายแถวหน้าเมืองไทย มิได้ถูกเรียกให้เข้ามาช่วยเขียน ช่วยตรวจกฎหมายให้กับคณะรัฐประหารเป็นครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งแรกที่เนติบริกร 2 คนร่วมมือกันเขียน ร่วมกันร่างคำสั่ง-ประกาศ-ธรรมนูญให้กับผู้ยึดอำนาจเพราะตามหน้าประวัติศาสตร์การรัฐประหาร 3 ครั้งในรอบ 22 ปี ทั้งมี ชัย ฤชุพันธุ์ และ วิษณุ เครืองามได้ทำงานเฉพาะกิจร่วมกันทุกครั้ง ย้อนเข็มนาฬิกากลับไปในยุคที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มี "พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์" ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะ ครั้งนั้น "วิษณุ" ยังเป็นแค่รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อ รสช.ตั้งรัฐบาล พร้อมเลือก "อานันท์ ปันยารชุน" เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้แต่งตั้งรองนายกฯ 3 คน 1.ดร.เสนาะ อูนากูล 2.พล.ต.อ.เภา สารสิน 3.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่ง "มีชัย ฤชุพันธุ์" ได้รับการแบ่งงานให้เป็นประธานกลั่นกรองด้านสังคม และ "วิษณุ เครืองาม"ได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่เลขานุการกลั่นกรองชุดของ "มีชัย ฤชุพันธุ์"นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 เนติบริกร "การได้ทำงานกับคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ถือว่าเป็นกำไรสุดยอดในชีวิต เหมือนเข้าโรงเรียนโดยไม่ต้องจ่ายค่าหน่วยกิต เหมือนดูหนังดูละครแล้วเต็มอิ่ม" วิษณุกล่าว ต่อมาได้มีการตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ "มีชัย ฤชุพันธุ์" ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ซึ่ง "วิษณุ เครืองาม" ได้เข้าร่วมในตำแหน่งกรรมาธิการและผู้ช่วยเลขานุการ และโฆษกคณะกรรมาธิการ ในภารกิจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนี้ "วิษณุ เครืองาม" ยังต้องสวมบท "โฆษกรัฐบาลจำเป็น" เพราะคนที่ รสช.ติดต่อไว้ให้มานั่งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกฯตัวจริง เกิดมีปัญหาขัดข้องด้านเทคนิค "ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือเขาจะมา แต่คุณสุจินดา (คราประยูร) ไม่เอาแล้ว เพราะแกเกิดไปรู้ข่าวน้องชายของอดีตหัวหน้าประชาสัมพันธ์ ท่านนั้นถูกจำคุกในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ "วิษณุ เครืองาม" ได้ขยับตัวเข้าใกล้กองบัญชาการคณะรัฐประหาร และในการยึดอำนาจของ รสช.ครั้งนั้น ทำให้เขาได้สนิทสนมกับชายที่ชื่อ "มีชัย ฤชุพันธุ์" แต่เขาอาจไม่รู้ว่า 15 ปีหลังจากนั้น ทั้งตัวเขาและนายมีชัยจะได้มาร่วมงานกันอีกครั้ง หลังยึดอำนาจวันที่ 19 ก.ย. 2549... ซึ่งขณะนั้น "วิษณุ เครืองาม" ได้รับเชิญไปร่วมงานฉลองความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส 30 ปี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจได้ 3 วัน "วิษณุ เครืองาม" กลับถึงเมืองไทยในวันที่ 22 ก.ย. เย็นวันเดียวกัน "วิษณุ เครืองาม"ยังไม่ได้พักผ่อนให้หายเหนื่อย สัมภาระต่าง ๆ ยังอยู่ในกระเป๋าเดินทาง แต่โทรศัพท์มือถือของเขาดังขึ้น ปลายสายนั้นคือ "มีชัย" "คำแรกที่ท่านถามคือ ทราบแล้วใช่ไหมว่าเขามีการยึดอำนาจ ผมบอกทราบแล้วครับ ท่านว่าขณะนี้ท่านถูกให้มาช่วยยกร่างธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราว ถ้าอาบน้ำอาบท่า กินข้าวกินปลาเสร็จแล้วก็มาช่วยกันหน่อย เพราะงานมันเยอะ ท่านทำอยู่คนเดียว" "แม้ท่านจะชวนนักกฎหมายหลายคนมาช่วย อาทิ อาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล และยังมีคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อู้ย..มากันเยอะแยะ มีอีกหลายคน แต่พอท่านเหล่านั้นมาพูด ๆ เสร็จแล้วก็กลับไป ไม่ได้เขียนอะไรไว้ให้เลย เราก็มานั่งเขียนตามที่ท่านพูดนั่นแหละ ซึ่งใครจะด่าคนพูดหรือคนเขียนก็สุดแท้แต่" การทำงานระหว่าง "วิษณุ เครืองาม" และ "มีชัย ฤชุพันธุ์"ครั้งนั้น มีอีก 1 มือกฎหมายคนสำคัญเข้ามาช่วยคือ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แต่ในช่วงเวลานั้นกลับมีเสียงวิจารณ์จากคนภายนอกว่าตัวเขาเป็น "นกสองหัว" เพราะเคยทำงานให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" แต่อยู่ ๆ มาร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้กับ คปค. "วิษณุ เครืองาม" จึงขอเฟดตัวเอง ออกตัวว่าขอช่วยทำธรรมนูญการปกครองเท่านั้น "รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวออกมาวันที่ 1 ต.ค. แต่ผม บวรศักดิ์ และท่านมีชัยไปพักผ่อนที่ฮ่องกง 3 วัน ศุกร์-อาทิตย์ โดยออกเดินทางไปตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.เลย และไม่ได้ไปแบบน้อยอกน้อยใจหรือโกรธอะไรนะ เตรียมจะไปกันอยู่แล้ว นัดกันมาตั้งเป็นเดือนเป็นปี ไม่อย่างนั้นจะเอาโรงแรมที่ไหนไปพัก ระหว่างนั้นเขาก็ออกประกาศและคำสั่งอะไรไปเรื่อย ซึ่งวันนี้ผมย้อนกลับไปดู ผมว่ามันแปลก ๆ อยู่หลายฉบับนะ ก็ไม่รู้ให้ใครทำ เขาก็ทำกันเอง" หลังธรรมนูญชั่วคราวประกาศใช้ มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) "มีชัย ฤชุพันธุ์" ได้เป็นประธาน สนช. ส่วน "วิษณุ เครืองาม" ได้เป็น สนช.ตามคำขอร้องของ "บิ๊กบัง"-พล.อ.สนธิ บนเส้นทางรัฐประหาร ผู้นำที่เคยครองอำนาจ ย่อมมีเสื่อมอำนาจ เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนมือไปตามกาลเวลา จากรัฐประหาร 24 ก.พ. 34 สู่รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 กระทั่ง 22 พ.ค. 57 แต่คนที่ไม่เคยหายหน้าหายตาคือเนติบริกร 2 คน ที่ชื่อ "มีชัย ฤชุพันธุ์" และ "วิษณุ เครืองาม"