วารสาร Journal of the American Medical Association (JAMA) ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่งานวิจัยที่ระบุเกี่ยวกับความปลอดภัยและการจัดเก็บข้อมูลเวชระเบียนของผู้ป่วย โดยระบุว่าในช่วงปี 2010 ถึง 2013 มีข้อมูลเวชระเบียนจำนวนกว่า 29 ล้านชุด ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของข้อมูล โดยกว่าร้อยละ 67 เป็นเวชระเบียนที่จัดเก็บอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับสาเหตุสำคัญของการรั่วไหลของข้อมูล ร้อยละ 58 มาจากการขโมยข้อมูล ส่วนที่เหลือร้อยละ 42 เกิดจากการจัดการทำลายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (improper disposal of data), การเข้าถึงหรือเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต และการเจาะระบบหรืออุบัติเหตุที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และน่าสนใจว่าการรั่วไหลของข้อมูล มักจะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือพกพา เช่น โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว การรั่วไหลของข้อมูลยังมีความถี่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมด้วย จากร้อยละ 12 ในปี 2010 สูงขึ้นเป็นร้อยละ 27 ในปี 2013 และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ตัวเลขของชุดข้อมูลดังกล่าวอาจมีข้อมูลผู้ป่วยที่ซ้ำซ้อนกันด้วย ทำให้ตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ที่มา - The Verge, รายงานฉบับเต็มจาก JAMA (1, 2) Information Security, Medical, Privacy