Galaxy S6 (และพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน Galaxy S6 edge) เป็นสมาร์ทโฟนที่ถูกจับตามากที่สุดในปีนี้ เนื่องด้วยมันเป็นสมาร์ทโฟนระดับเรือธง สินค้าหมายเลขหนึ่งของ "แชมป์" อันดับหนึ่งของโลกสมาร์ทโฟนที่กำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะโดนคู่แข่งตีขนาบทั้งตลาดบนและตลาดล่าง จนยอดขาย-กำไร-ส่วนแบ่งตลาดลดลงจากเดิมฮวบฮาบ รอบการวางขาย Galaxy S6 จึงถือเป็นโอกาสที่ซัมซุงจะระดมสรรพกำลังทั้งหมดมา "โต้กลับ" แบบจัดเต็ม เพราะถ้าทำตัวเหยาะแหยะแบบที่แล้วมา ก็เสี่ยงมากที่จะเสียบัลลังก์แชมป์เอาได้ง่ายๆ ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นซัมซุงทำได้ดีกว่าที่คาด ทำให้เสียงตอบรับ Galaxy S6 ดีกว่ารุ่นพี่ในปีก่อนๆ มาก ส่วนประเด็นว่า Galaxy S6 ทำได้ดีแค่ไหน ซัมซุงประเทศไทยส่งเครื่องมาทำให้ทีม Blognone ทดสอบเป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ และนี่คือรีวิวของ Galaxy S6 (และ S6 edge) ครับ คำเตือน: ภาพเยอะมาก ย้อนอดีต Galaxy S อะไรคือจุดอ่อนของซัมซุง ก่อนจะเข้าเรื่อง Galaxy S6 เราคงต้องมาย้อนดูประวัติของซีรีส์ Galaxy S กันก่อนว่ามันมีความสำคัญกับซัมซุงอย่างไร และมี "จุดอ่อน" ที่เป็นช่องโหว่ เปิดโอกาสให้คู่แข่งอย่างไรบ้าง ถ้าเราย้อนอดีตไปถึงปี 2010 ที่ซัมซุงเปิดตัว Galaxy S รุ่นแรก แล้วมองย้อนกลับมา จะเห็นว่าเส้นทางชีวิตซีรีส์ Galaxy S นั้นผูกพันกับการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจในโลกสมาร์ทโฟนของซัมซุงอย่างแนบแน่น เพราะก่อนมาทำซีรีส์ Galaxy S ซัมซุงถือเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนธรรมดาๆ รายหนึ่ง และชื่อชั้นน่าจะยังแพ้ HTC อยู่ด้วยซ้ำ แต่ซัมซุงใชัข้อได้เปรียบของตัวเองที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และหน้าจอเอง ทำให้ Galaxy S รุ่นแรกๆ เหนือกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจนในแง่สเปกฮาร์ดแวร์ จนซัมซุงแซงหน้าแอปเปิลและโนเกียขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งโลกสมาร์ทโฟนได้สำเร็จในช่วงปลายปี 2011 (หลังออก Galaxy S2) อย่างไรก็ตาม มือถือของซัมซุงถูกวิจารณ์มาตลอดว่าสเปกดีจริง แรงจริง แต่งานออกแบบ งานประกอบ วัสดุที่ใช้ดูไม่สมราคามือถือระดับเรือธง ในส่วนของซอฟต์แวร์เองก็ดู "เยอะ" ปรับแต่งพิสดารจนอัพเดตช้า แถมยังอุดมไปด้วยฟีเจอร์หรือแอพที่ดูเจ๋งตอนโฆษณา แต่ไม่มีประโยชน์ในการใช้งานจริงมากนัก เสียงบ่นเหล่านี้ขึ้นถึงจุดสูงสุดตอน Galaxy S4 ที่ยังใช้วัสดุเป็นพลาสติกเหมือนเดิม และให้ฟีเจอร์ที่ไม่ได้ใช้จริงมาเยอะมาก (อ่านบทความเก่า บทวิเคราะห์ Galaxy S4 พลาสติกก๊อบแก๊บบุกอเมริกา ประกอบ) เมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับ iPhone ที่เน้นเรื่องวัสดุและงานออกแบบ ยิ่งเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน แถมคู่แข่งของซัมซุงในฝั่งแอนดรอยด์เอง เช่น HTC, Sony, Motorola ก็พัฒนาเรื่องวัสดุและงานออกแบบอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคย่อมมีตัวเลือกมากขึ้น แน่นอนว่าแรงกดดันนี้ย่อมส่งมาถึงซัมซุง แต่ช่วงนั้น (ปี 2013) บริษัทกลับยังไม่ค่อยจริงจังมากนักกับประเด็นด้านงานออกแบบ ถ้ามองย้อนกลับไป เราจะเห็นว่าซัมซุงใช้วิธี "ปรับแก้นิดหน่อย" ใส่ลูกเล่นบางอย่างเข้าไปเพื่อให้ดูแตกต่างจากเดิมเท่านั้น ตั้งแต่ Galaxy Note 3 ที่ออกตามหลัง S4 ใช้วิธีทำฝาหลัง "ลายหนัง" ตามด้วย Galaxy S5 ที่เพิ่มความสามารถใช้ได้จริงหลายอย่าง แต่ยังมีปัญหาเรื่องงานออกแบบอยู่ ปัญหาเรื่องการออกแบบของ Galaxy S5 (ที่โดนล้อว่าเหมือนพลาสเตอร์ยา) ทำให้ซัมซุงต้องจริงจังกับงานออกแบบและวัสดุมากขึ้น ครึ่งหลังของปี 2014 เราจึงเริ่มเห็นมือถือที่คุณภาพดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา เริ่มจากงานแนวทดลอง Galaxy Alpha ที่เริ่มนำวัสดุโลหะมาใช้งาน ตามด้วย Galaxy Note 4 ที่พัฒนาขึ้นในทิศทางเดียวกัน แต่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังไม่มากพอและมาช้าไป ครึ่งหลังของปี 2014 เราจึงเห็นปรากฏการณ์ "ซัมซุงสะดุด" สะท้อนออกมาในยอดขายและผลประกอบการ เหตุเพราะการแข่งขันที่รุนแรงมากในโลกสมาร์ทโฟน ทั้งจาก iPhone 6 ที่แอปเปิลยอมกลืนน้ำลายทำมือถือจอใหญ่ และฝั่งแอนดรอยด์เองที่มีคู่แข่งหน้าใหม่จำนวนมากเข้ามาต่อสู้และตัดราคาซัมซุงนั่นเอง เมื่อสภาพการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไปในระดับที่แอปเปิลยังต้องยอมปรับตัวอย่างจริงจัง ทางรอดเดียวของซัมซุงก็คือการปรับตัวเช่นกัน สิ่งที่ซัมซุงเลือกทำใน Galaxy S6 จึงเป็นการแก้ไขจุดอ่อนของตัวเอง ด้วยการปรับปรุงด้านดีไซน์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมไปถึงการคงจุดเด่นเรื่องสเปกเอาไว้ และปรับปรุงฟีเจอร์ด้านกล้องให้สามารถต่อสู้กับ iPhone ได้ตรงๆ เรามาดูกันทีละส่วนครับว่า Galaxy S6 มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง สเปกฮาร์ดแวร์ "สเปกบนหน้ากระดาษ" ถือเป็นจุดเด่นของซัมซุงตลอดมา และใน Galaxy S6 ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าเรานำสเปกของ Galaxy S6 มากางดู ก็จะหาข้อติหรือจุดด้อยกว่าคู่แข่งได้ยาก เริ่มจากหน้าจอ 5.1" Super AMOLED ความละเอียดสูง 2560x1440 (หารออกมาแล้ว 577 ppi) ที่คุยว่าดีที่สุดในท้องตลาด และกระจกจอ Gorilla Glass 4 รุ่นล่าสุด ทนทานต่อการตกมากกว่าเดิม ฝั่งซีพียูใช้ Exynos 7420 รุ่นล่าสุด ทำงานแบบแปดคอร์ ผลิตที่ 14 นาโนเมตร ประสิทธิภาพและการใช้พลังงานดีกว่าเดิม, จีพียู Mali T760, แรม 3GB แบบ LPDDR4, หน่วยความจำภายในแบบ Universal Flash Storage (UFS) 2.0 ประสิทธิภาพดีกว่า eMMC, กล้องหลัง 16MP พร้อม OIS, กล้องหน้า 5MP พร้อมฟีเจอร์กล้องมากมาย ฟีเจอร์ด้านฮาร์ดแวร์อื่นมากันครบถ้วน ทั้งการเชื่อมต่อเป็น Wi-Fi 802.11ac แบบดูอัลแบนด์, LTE Cat 6, รองรับ Bluetooth 4.1, NFC, ระบบสแกนลายนิ้วมือ, ระบบชาร์จไฟไร้สาย-ชาร์จเร็ว จุดที่พอติได้คือ สเปกบางอย่างลดลงจาก Galaxy S5 รุ่นก่อนหน้า ได้แก่แบตเตอรี่ลดลงจาก 2800 mAh เหลือ 2550 mAh, ตัดฟีเจอร์ด้านถอดแบตได้-เสียบ micro SD ได้ออกไป และตัดฟีเจอร์กันน้ำของ Galaxy S5 ออก ประเด็นเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงงานออกแบบ ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป โดยสรุปคือในแง่สเปกฮาร์ดแวร์ ซัมซุงไม่เคยเป็นรองใคร และ Galaxy S6 ก็ยังคงความโดดเด่นเช่นเดิม งานออกแบบภายนอก - ซัมซุงยุค "คิดใหม่ทำใหม่" สิ่งที่ Galaxy S6 เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงคืองานออกแบบภายนอก ถ้าสรุปแบบเข้าใจยากหน่อย มันคือ "มือถือซัมซุง ที่ดูไม่ค่อยเป็นซัมซุง แต่ก็ยังมีความเป็นซัมซุง" ผมต้องออกตัวก่อนว่า S6 เป็นมือถือที่ไม่ค่อยขึ้นกล้องเท่าไรนัก ประสบการณ์สัมผัสเครื่องจริงกับภาพตัวเครื่องที่เห็นมีความแตกต่างกันมาก ตอนที่ผมดูภาพในวิดีโองานแถลงข่าวเปิดตัวก็ไม่ค่อยเข้าถึงนัก (ดูแล้วก็แบบ มันหน้าตาซัมซุงเหมือนเดิมนี่นา) แต่เมื่อได้มาลองจับเครื่องจริงก็สัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ (ซึ่งพอถ่ายรูปมาลงเว็บก็กลับไปเหมือนเดิม คือดูแต่รูปไม่ได้ประสบการณ์ใช้จริง) ถ้าดูโครงสร้างโดยรวมของตัวเครื่องแล้ว S6 ยังมีความเป็นซัมซุงอยู่ครบถ้วน นั่นคือเป็นมือถือขอบมุมโค้ง มีลำโพงพร้อมโลโก้ซัมซุงอยู่ขอบบน มีปุ่ม Home เป็นปุ่มจริงและปุ่มอีก 2 ปุ่มอยู่ด้านข้าง ด้านหลังมีกล้องอยู่ในแนวกลางค่อนไปในทางบน ขอบเป็นสีเงินโลหะ ตัดกับสีของตัวเครื่องชัดเจน เรียกว่าดูไกลๆ ใครก็สามารถบอกได้ทันทีว่า "ซัมซุง" แต่เมื่อมาดูกันในรายละเอียด S6 แตกต่างไปจากรุ่นพี่ๆ มาก เมื่อลองจับครั้งแรก สิ่งที่รู้สึกได้ชัดเจนคือตัวเครื่องบางลง (หนา 6.8 mm เทียบกับ S5 ที่หนา 8.1 mm), น้ำหนักเบากว่าเดิม (138 กรัม เทียบกับ S5 หนัก 145 กรัม) ส่วนของหน้าตาและวัสดุก็เปลี่ยนไปจากเดิมในทุกมิติของเครื่อง เรียกว่า "ความเป็นซัมซุง" บางอย่างหายไป (ในทางที่ดี) วัสดุด้านหน้า เปลี่ยนจากสีทึบ (solid color) มาเป็นสีออกเลื่อม มีสีที่สองซ่อนอยู่เมื่อดูในแสงกระทบที่พอดี เช่น สีดำที่ได้มาจะมีสีน้ำเงินเข้มซ่อนอยู่ (ดูจากภาพถ่ายอาจเห็นไม่ชัดนัก) ขอบเครื่องกลายเป็นโลหะขัดเต็มตัว แถมไม่มีทาสีเคลือบแบบ Note 4 ทำให้การสัมผัสรู้สึกชัดเจนว่าเป็นโลหะ ฝาหลังกลายเป็นกระจกแบนราบ (ต่างจากมือถือซัมซุงตัวอื่นๆ ที่จะโค้งเข้ามุม อันนี้ราบเรียบสนิท 100%) มีกล้องนูนขึ้นมาชัดเจน ถ้าเทียบระหว่างพี่น้อง Galaxy S6 จะยังคงเหมือนมือถือทั่วไป กระจกหน้าแบนราบ ขอบโลหะเต็มความหนาตัวเครื่อง จับได้เต็มไม้เต็มมือกว่า ส่วน S6 edge มีรูปแบบ form factor ที่ต่างไปคือจอโค้งสองด้าน ขอบโลหะบางลงมาก จับยากกว่า แต่ตอนถือแล้วรู้สึกแตกต่างกว่ามือถือทั่วไปเช่นกัน ขอบข้างของ Galaxy S6 ขอบข้างของ Galaxy S6 edge ส่วนประกอบเหล่านี้มารวมกันแล้วทำให้ "ฟีลลิ่ง" หรือสัมผัสในการจับเครื่อง S6 แตกต่างจากมือถือซัมซุงเดิมๆ มาก ตัวผมเองใช้มือถือซัมซุงอยู่แล้ว (Note 3) พอใส่มือถือสองเครื่องไว้ในกระเป๋ากางเกงข้างเดียวกัน เอามือลงไปล้วงก็แยกแยะได้ชัดเจนว่าเครื่องไหนคือ S6 หรือ Note 3 ในแง่ของความพรีเมียมถือว่าซัมซุงทำได้ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา สามารถใช้คำภาษาอังกฤษว่า "shiny object" หรือของหรู วัสดุผิวมันวาว ระยิบระยับ ได้อย่างเต็มปาก อย่างไรก็ตาม วัสดุและการออกแบบภายนอกของ S6 ยังมีข้อติย่อยๆ ได้ 2 จุด อย่างแรกคือฝาหลังเป็นกระจกแบนราบ อาจส่งผลต่อการถือจับที่ไม่มั่นคง อาจทำลื่นหลุดมือได้ง่ายขึ้น ฝาหลังแบนราบทำให้เราต้องออกแรงจับที่ขอบเครื่องมากขึ้น แถมการที่โมดูลกล้องหลังยื่นออกมาเยอะ (จนใช้คำว่า "ปูด" ได้เลย) ก็เสียวๆ อยู่ว่าการวางหงายด้านหน้าขึ้น อาจทำให้กล้องขูดกับพื้นสัมผัสได้ ประเด็นที่สองคือขอบด้านบนและล่างของตัวเครื่อง ที่ออกแบบมาแล้วต้องยอมรับว่า "ลอก" แนวทางของ iPhone มาให้ถูกติซะเปล่าๆ ไหนๆ (ตั้งใจคิดใหม่ทำใหม่มาขนาดนี้แล้วก็ควรจะสร้างความแตกต่างให้ได้ทุกจุด ไม่รู้จะทำเลียนแบบมาทำไม) โดยสรุปคือ งานออกแบบภายนอก "ดีจนไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นซัมซุง" (ถ้าทำแบบนี้ตั้งนานแล้วคงไม่มีใครด่า) แต่ก็ยังคง "โครง" ที่ดูแล้วรู้ว่าเป็นซัมซุงทันทีอยู่เหมือนเดิม จุดอ่อนเรื่องวัสดุพลาสติก ราคาถูก ไม่พรีเมียม ปัญหาเหล่านี้หมดไปแล้วอย่างสิ้นเชิง (ใครอ่านแล้วไม่เชื่อก็แนะนำให้ลองไปจับของจริงดูครับ) เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ของ Galaxy Alpha หรือ Note 4 กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยเมื่อมาเจอกับ S6 Regression: ถอดแบตไม่ได้, เสียบ micro SD เพิ่มไม่ได้ ในมุมกลับกัน การออกแบบแนวใหม่ของซัมซุงที่เน้นความพรีเมียม ตัวเครื่องบางเบา ก็ต้องแลกมาด้วยการออกแบบแนวปิดตาย ทุกอย่างถูกผนึก (ดูคลิปการประกอบเครื่อง S6 ประกอบ) ผู้ใช้ไม่สามารถถอดเปลี่ยนฝาหลังและแบตเตอรี่ได้เอง (อันนี้เป็นแนวทางเดียวกับ Galaxy A Series) ช่องเสียบซิมเปลี่ยนมาเป็นถาดอยู่ด้านข้าง และตัดสล็อต micro SD ออกไป ตรงนี้ถือเป็นจุดที่ S6 ด้อยลงจาก S5 คือไม่สามารถเปลี่ยนแบตเองได้ เสียบ micro SD เพิ่มไม่ได้ ถ้าเทียบกับมือถือคู่แข่งอย่าง iPhone คงไม่ต่างกันนัก (ทำไม่ได้เหมือนกัน) แต่ถ้าเทียบกับมือถือซัมซุงในอดีต ก็ต้องยอมรับว่าแย่ลง (จริงๆ ทำถาดเสียบซิมมาแล้ว ก็น่าจะทำถาดเสียบ micro SD ให้อีกสักนิด) แน่นอนว่าฟีเจอร์พวกนี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้งาน ผู้ใช้จำนวนมากไม่เคยมีแบตก้อนที่สอง หรือซื้อ micro SD มาเสียบเลย (จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) ผู้ใช้เหล่านี้ย่อมไม่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียความสามารถเหล่านี้ แต่สำหรับผู้ใช้อีกกลุ่มที่เลือกซื้อมือถือสักเครื่องด้วยปัจจัยเหล่านี้ การถอดความสามารถเหล่านี้ออกย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ S6 แน่นอน ซอฟต์แวร์ - แบนราบ สะอาด ไม่ยัดเยียด แนวทางการออกแบบซอฟต์แวร์ของซัมซุงในอดีตคือสร้าง UI ของตัวเองชื่อ Touchwiz ครอบแอนดรอยด์ปกติไว้อีกชั้น และเพิ่มฟีเจอร์มหาศาลเข้ามาทั้งในระดับของรอม และระดับของแอพ แนวทางนี้ใช้งานได้ดีในสมัยแรกๆ ที่แอนดรอยด์ยังมีฟีเจอร์ไม่มากนัก ในแง่การตลาดแล้วช่วยให้ซัมซุงสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งแอนดรอยด์รายอื่นได้ แต่มันก็มีผลในทางลบคือ ซอฟต์แวร์ดูเยอะ สับสน ใหญ่ สิ้นเปลืองทรัพยากร และกลายเป็นข้อจำกัดให้รอมซัมซุงอัพเดตช้า ประเด็นเรื่องความเยอะของซอฟต์แวร์เป็นสิ่งที่ซัมซุงโดนด่ามานาน ซึ่งช่วงปีหลังๆ บริษัทก็พยายามปรับแก้อยู่เรื่อยๆ พอมาถึงยุคของ S6 ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ UI ที่สะอาดกว่าเดิมมาก ลองดูภาพเปรียบเทียบ UI ของสมุดที่อยู่ ระหว่างรอม Note 4 กับรอม S6 (ภาพจาก Samsung Tomorrow) ภาพเปรียบเทียบตัวเลือกใน Settings ระหว่าง Note 4 (34 รายการ) กับ S6 (24 รายการ) หน้าโฮมของ S6 ค่าดีฟอลต์มีเพียง 3 หน้าจอเท่านั้น (สอดคล้องกับแนวทางของมือถือซัมซุงช่วงหลัง) หน้าซ้ายสุดจะเป็น Briefing รวมข่าวจาก Flipboard ส่วนอีกสองหน้าจอเป็นหน้าโฮมปกติพร้อม widget เพียงไม่กี่อันเท่านั้น ส่วนของ launcher ก็น่าตกใจว่าจากของเดิมที่ซัมซุงยัดแอพมาให้จำนวนมากจนงง พอมาถึงปี 2015 แอพดีฟอลต์มีเพียงแค่ "หน้าครึ่ง" จนไม่น่าเชื่อว่าเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ (เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะแอพของกูเกิลถูกจัดเข้าโฟลเดอร์ เลยดูไม่รก) แอพของซัมซุงที่ติดมากับเครื่องมีแค่แอพมาตรฐานสำหรับการใช้งานทั่วไป และแอพเสริมนิดหน่อยอย่าง S Health และ S Voice ส่วนแอพอื่นของซัมซุง เช่น Kids Mode, Knox, S Translator, Group Play, SideSync ถูกลบออกหมดชนิดไม่เหลือแม้แต่ไอคอน และต้องดาวน์โหลดเองจากร้าน Galaxy Apps แทน อีกประเด็นที่น่าสนใจคือซัมซุงไม่พรีโหลดแอพพันธมิตรอย่าง Dropbox, Flipboard, Evernote มาให้เหมือนเดิมแล้ว (ยังดาวน์โหลดแยกได้) สิ่งที่เพิ่มเข้ามาแทนคือแอพของไมโครซอฟท์ โดยแยกเป็นโฟลเดอร์ชัดเจน (เมืองไทยมีแค่ OneDrive กับ Skype แต่ไม่มี OneNote) ส่วนแอพโซเชียลบางตัวอย่าง Facebook, Instagram, WhatsApp, LINE ยังมีมาให้อยู่ (แต่ไม่มี Twitter) รูปแบบการใช้งาน Touchwiz เหมือนเดิมแทบทุกประการ สามารถวาง widget และเปลี่ยนภาพพื้นหลังได้เหมือนเดิม ฟีเจอร์เล็กๆ ที่เพิ่มเข้ามาคือเปลี่ยนสีให้โฟลเดอร์ (ไม่รู้จะใส่มาทำไม) และภาพพื้นหลังแบบ parallax เคลื่อนได้เมื่อเปลี่ยนมุม เหมือนของ iOS (ไม่รู้จะลอกมาทำไม) หน้าตาโดยรวมของ Touchwiz รุ่นนี้สะอาดขึ้นกว่าเดิมมาก ตัวอย่างแถบ notification ถูกปรับปรุงเล็กน้อย ย้ายไอคอนที่สำคัญมาอยู่ด้านหน้า (เช่น ไฟฉาย มาอยู่ในหน้าสอง) และลดจำนวนไอคอนทั้งหมดลง (ของเดิมมีประมาณ 5 แถว) แอพมาตรฐานหลายตัวดูแบนราบตามสมัยนิยม ลดจำนวนเส้นและสีเพื่อให้เรียบง่ายกว่าเดิม ดูแล้วสะอาดตาขึ้นมาก แนวทางการออกแบบที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือ ซัมซุงลดการใช้ "ไอคอน" ลง และเปลี่ยนปุ่มคำสั่งหลายๆ ปุ่มเป็นข้อความแทน ซัมซุงอธิบายเรื่องนี้ในบล็อก Samsung Tomorrow ว่าผู้ใช้บางกลุ่มไม่เข้าใจความหมายของไอคอนบางตัว ซึ่งการใช้ข้อความอธิบายแทนช่วยให้เข้าใจได้ง่ายกว่า ตัวอย่างเช่น ปุ่ม ... ของแอนดรอยด์ที่ผู้ใช้คุ้นกันดีว่าหมายถึง "เมนูที่ซ่อนอยู่" กลายเป็นคำว่า "More" แทน (ประเด็นนี้ผมไม่แน่ใจว่ามันจะช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือหน้าตาแอพหลายตัวดูสะอาดขึ้นมาก) ซัมซุงยังบอกว่าได้ปรับแก้ข้อความ ลดศัพท์เทคนิคเข้าใจยากลง เปลี่ยนมาใช้คำที่เข้าใจง่ายขึ้น เช่น จาก Network SSID มาเป็น Network Name, คำว่า Font Style เปลี่ยนเป็น Font นอกจากนี้ซัมซุงโฆษณาว่าลดจำนวนหน้าจอยืนยันและป๊อปอัพต่างๆ ลง ซึ่งผมไม่ได้เทียบกับเวอร์ชันก่อนๆ ว่าลดลงมากน้อยแค่ไหนครับ หน้าจอ Settings ปรับปรุงใหม่ให้สั้นลงมาก มีปุ่มที่ใช้บ่อยอยู่ด้านบน ส่วนอื่นๆ ใช้เป็นเมนูเรียงจากบนลงล่างทั้งหมด เลือกปรับให้แสดงเป็นไอคอนหรือเป็นแท็บแบบหลายหน้าไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ฟีเจอร์บางอย่างที่ถูกวิจารณ์ว่าไร้สาระ ถูกถอดออกไปหรือเอาไปซ่อนไว้ลึกๆ เช่น ฟีเจอร์ Smart Stay หรือ Smart Scrolling ฟีเจอร์สาย gesture ทั้งหมดสามารถปิดได้ถ้าไม่ใช้งาน ฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจคือระบบธีมตามสมัยนิยม ถึงแม้กูเกิลไม่สนใจใส่ระบบธีมเข้ามาใน Official Android แต่เมื่อผู้ใช้เรียกร้อง บวกกับคู่แข่งหลายเจ้าทั้ง Xiaomi, HTC, Cyanogen ต่างก็มีกันหมด ทำให้ซัมซุงต้องมีกับเขาด้วย ธีมมาตรฐานมากับเครื่องมีให้ 3 ธีม (เลือกอีกสองธีมก็ต้องต่อเน็ตดาวน์โหลดอยู่ดี) ถ้ายังไม่พอใจก็โหลดเพิ่มได้จาก Theme Store ที่มีธีมให้เลือกเยอะพอตัว ฟีเจอร์ธีมของ S6 ตอนนี้ยังอยู่ในระดับแค่โหลดธีมมาเปลี่ยนเองได้ แต่ยังไม่สามารถแต่งธีมเองได้นะครับ เท่าที่ผมลองดูกับธีมที่เตรียมมาให้ก็สวยงามดีเลยแหละ แอพใหม่อีกตัวที่น่าสนใจมาก (และมีประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ) คือแอพชื่อว่า Smart Manager ครับ อธิบายง่ายๆ มันคือ System Monitor ของฝั่งพีซีนั่นเอง เปิดแอพมาจะพบหน้าจอ 4 ส่วน แสดงสถานะของแบตเตอรี่ สตอเรจ หน่วยความจำ และความปลอดภัยของระบบ เมื่อกดเข้าไปแต่ละส่วนจะแสดงสถานะอย่างละเอียด เช่น แบตเตอรี่ (มีระยะเวลาที่ยังใช้งานต่อได้, ปุ่มกดเข้าโหมดประหยัดพลังงาน) สตอเรจ (พื้นที่ว่างในปัจจุบัน, ปุ่มลบไฟล์ขยะหรือไม่จำเป็นต่อระบบ) หน่วยความจำ (หน่วยความจำที่ว่าง, รายการแอพที่รันอยู่พร้อมปุ่มปิด) สามส่วนนี้ไม่มีอะไรใหม่ เพราะเราเข้าถึงหน้าสถานะแบตเตอรี่, สตอเรจ, รายการแอพได้จาก Settings อยู่แล้ว แต่พอเอามาทำให้ดูง่ายๆ แบบนี้ (มี widget วางบนหน้าโฮมได้ด้วยนะ) ก็มีประโยชน์ขึ้นกว่าเดิมมาก ของใหม่จริงๆ คือหมวด Security ที่แสดงผลการแสกนระบบ (เหมือนใส่แอนตี้ไวรัสให้มือถือ) ตรงนี้ซัมซุงใช้เอนจินของ McAfee และถ้ากดตามลิงก์ไป จะเข้าหน้าเว็บสมัครบริการ McAfee LiveSafe ในราคาพิเศษ 2.99 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยสรุปคือเรื่องซอฟต์แวร์ ซัมซุงก็ปรับปรุงขึ้นดีมากครับ ลดความเยอะลง อะไรที่แยกดาวน์โหลดได้ก็ให้ดาวน์โหลดกันเอาเอง ฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาอย่างระบบธีมและ Smart Manager ก็มีประโยชน์ใช้งานได้จริง ที่เหลือก็ขึ้นกับทีมซอฟต์แวร์ของซัมซุงว่าจะขยันอัพเดตเวอร์ชันของแอนดรอยด์ได้ต่อเนื่องและรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน ตัวสแกนลายนิ้วมือแบบใหม่ - แตะเลย ไม่ต้องรูด Galaxy S5 เพิ่มตัวสแกนลายนิ้วมือเข้ามาบนปุ่มโฮม แต่เป็นแบบรูดผ่าน (swipe) ทำให้การใช้งานจริงยุ่งยากมาก และไม่เสถียรจนปิดไปเลยยังดีกว่า (อ่านรีวิว Galaxy S5 ประกอบ) พอมาถึงยุคของ Galaxy S6 ซัมซุงเปลี่ยนมาใช้ระบบแตะ แบบเดียวกับ Touch ID ของฝั่ง iPhone ผลคือการใช้งานแม่นยำขึ้นมาก สามารถแตะได้จากทุกมุมทุกองศา ถึงแม้จะโดนด่าว่าลอก iPhone แต่ผมว่าอันนี้ผู้ใช้ได้ประโยชน์ครับ การใช้งานฝั่งซอฟต์แวร์เหมือนเดิมทุกประการ หน้าจอตอนเซ็ตลายนิ้วมือเปลี่ยนไปบ้าง (คล้ายกับของ iPhone เช่นกัน) เราต้องแตะนิ้วประมาณ 15 ครั้ง สามารถเพิ่มข้อมูลได้หลายนิ้ว ประโยชน์หลักก็คือใช้ปลดล็อคหน้าจอเป็นหลัก ตามด้วยล็อกอิน Samsung Account ซึ่งคงไม่ค่อยมีใครได้ใช้กันเท่าไรครับ ขอบจอโค้ง Galaxy S6 edge - กินไม่ได้ แต่เท่ มาถึงจุดแตกต่างของ Galaxy S6 รุ่นปกติ และ S6 edge มีแค่อย่างเดียวคือขอบจอโค้ง edge screen (และราคาที่เพิ่มมา 4,000 บาท) เรามาดูกันว่าเจ้าจอโค้งนี่มีประโยชน์อะไรกันบ้างครับ อย่างแรกเลยต้องบอกว่าจอโค้งของ S6 edge ไม่เหมือนจอโค้งของ Galaxy Note Edge ซะทีเดียว (ไม่ใช่แค่ว่ามีด้านเดียวกับสองด้านนะ) โดยขอบโค้งของ Note Edge แสดงข้อมูลบนจอแยกที่เอามาแปะติดกัน แต่จอของ S6 edge เป็นจอภาพเดียวกันต่อเนื่องทั้งหมด การที่ S6 edge ใช้กระจกจอโค้ง ทำให้ตัวพาเนลจอดูไม่แนบชิดติดกระจกจอมากนัก ความรู้สึกตอนมองจอช่วงแรกจะคล้ายกับการนำผลึกปรึซึมมาวางทับบนกระดาษครับ ดูมีมิติมากกว่าจอมือถือปกติพอสมควร (บางคนอาจเวียนหัวหรือตาลายได้ แต่ใช้ไปสักพักจะเริ่มชิน) เอ้อ ต้องบอกว่าถึงแม้ S6 edge มีจอโค้งสองด้าน แต่เราสามารถเลือกแสดงข้อมูลได้เพียงข้างเดียวเท่านั้นครับ อันนี้เข้าใจว่ากลัวสับสน แต่ก็เสียดายพื้นที่อยู่เหมือนกัน เจ้าขอบจอโค้งที่ว่านี้มีประโยชน์ใช้สอยรวม 4 ประการ แบ่งเป็นตอนเปิดหน้าจอ 2 ประการ และตอนปิดจอ 2 ประการ เริ่มจากฟีเจอร์ตอนเปิดหน้าจอปกติก่อน ฟีเจอร์แรกคือ Edge lighting ถ้าคว่ำจอแล้วมีคนโทรเข้า สามารถแสดงสีที่กำหนดไว้ได้ อันนี้ผมว่าเป็นแค่กิมมิคเอาไว้โชว์ว่า เฮ้ย มือถือของฉันมีจอโค้งนะ ฟีเจอร์ที่สองชื่อ People edge เป็นการสร้างไอคอนของเพื่อนที่ติดต่อบ่อยๆ เอามาไว้ที่ขอบโค้ง ใส่ได้สูงสุด 5 คน แต่ละคนสามารถกำหนดสีแทนตัวได้เหมือนฟีเจอร์แรก รูปแบบการใช้งาน People edge คือเราสามารถลากรายชื่อเพื่อนจากขอบจอด้านข้างได้อย่างรวดเร็ว (ปรบมือสิครับ) อย่างไรก็ตาม ลากขึ้นมาแล้วเราถูกจำกัดการติดต่อกับเพื่อนได้แค่ 3 ทางเท่านั้นคือ โทร, SMS, อีเมล (ต้องใช้แอพอีเมลของซัมซุงเองด้วย) จะส่ง LINE, WhatsApp, Google Hangouts, Facebook Messenger, Skype หรือแม้แต่ส่ง Gmail พวกนี้ทำไม่ได้เลยสักอย่างครับ ในทางกลับกัน ถ้าเพื่อนที่เราตั้งกลุ่มเอาไว้โทรหา ส่ง SMS หรือเมลมาหาเรา เราจะเห็นแถบสีประจำตัวของบุคคลนั้น โผล่ขึ้นมาเป็นแถบบางๆ ตรงขอบโค้ง แล้วเราสามารถ "ลาก" แถบสีนี้ขึ้นมาบนจอเพื่อดู notification แบบง่ายๆ ได้ด้วย (ซึ่งก็จำกัดแค่การสื่อสาร 3 อย่างนี้เช่นกัน) สรุปแล้วผมว่ามันแทบไม่มีประโยชน์เลย เพราะรูปแบบการสื่อสารถูกจำกัดมากๆ สุดท้ายแล้วเราดูจาก notification มาตรฐานของระบบที่ขอบจอด้านบนง่ายกว่าเยอะ ส่วนฟีเจอร์ตอนปิดจออีก 2 อย่าง ใช้ได้เฉพาะตอนปิดหน้าจอหลักเท่านั้น เริ่มจากอย่างแรกคือ Night clock มันคือแสดงนาฬิกาที่ขอบจอด้านข้าง ตอนเราปิดหน้าจอหลัก ดูแล้วสิ้นคิดแต่ก็พอมีประโยชน์อยู่บ้าง (เราสามารถตั้งเวลาให้เปิด Night clock ได้ด้วย เช่น แสดงเฉพาะตอนหลังสามทุ่มเท่านั้น) ตัวเลขนาฬิกาของ Night clock จะไม่สว่างมากเท่ากับระดับความสว่างปกติ เพื่อไม่ให้แสงรบกวนตอนนอนครับ ฟีเจอร์สุดท้ายคือ Information stream หรือแถบแจ้งข่าวสาร อันนี้เหมือนกับ Note Edge เป๊ะๆ สามารถแสดงแถบ notification ได้, แถบข่าวสารจาก feed, สภาพอากาศ, ผลกีฬา โดยจุดต่างจาก Note Edge คือมันแสดงได้เฉพาะตอนปิดจอเท่านั้น วิธีการเรียกแถบนี้ขึ้นมาคือถูขอบจอในแนวยาว ถูไปแล้วถูกลับทันทีเป็นระยะทางสั้นๆ แถบจะโผล่ขึ้นมาครับ เราสามารถเปลี่ยนแถบด้วยการปัดขอบจอแนวขวาง โดยสรุปแล้วคือฟีเจอร์ขอบจอโค้ง Edge Screen นี่หาประโยชน์ใช้จริงไม่ได้เลย เป็นความเท่ที่กินไม่ได้อย่างสิ้นเชิง (แต่ข้อดีของจอโค้งใน S6 edge คือตัว form factor ของเครื่องดูแตกต่างจากมือถือปกติมาก ใครอยากได้มือถือที่ดูแตกต่าง จ่ายเพิ่ม 4,000 ก็น่าจะคุ้มอยู่) กล้องหลัง - ถ่ายเร็ว ดีงาม จุดเด่นอีกประการของ Galaxy S6 ที่ซัมซุงคุยไว้เยอะคือ "กล้อง" ที่สามารถเอาชนะ iPhone 6 ได้ชัดเจน อย่างไรก็ตามในการทดสอบครั้งนี้ เราไม่สามารถหา iPhone 6 มาถ่ายเทียบกันตัวต่อตัวได้ อันนี้เป็นข้อจำกัดของทีมผู้ทดสอบเอง ต้องขออภัยด้วยที่รีวิวไม่มีส่วนของการเปรียบเทียบที่หลายคนรอคอยครับ (สำหรับคนที่อยากดูเทียบ อ่านได้จากรีวีวของเว็บอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น GSMArena, The Verge, Android Central, CNET โดยรวมแล้ว ถ่ายกลางวันดีพอๆ กัน แต่ถ่ายในสภาพแสงน้อย S6 เหนือกว่านิดๆ) ฟีเจอร์กล้องของ Galaxy S6 มีหลายอย่าง เช่น CMOS ขนาดใหญ่กว่าปกติ 1.4 เท่า, Real-time HDR อัตโนมัติทั้งกล้องหน้า-หลัง, ระบบกันสั่น OIS, ตัววัดแสง IR White Balance, เลนส์มุมกว้าง F 1.9, เปิดกล้องเร็วภายในเวลา 0.7 วินาที รายละเอียดอ่านใน ข่าวเก่า โดยรวมแล้ว ฟีเจอร์ทุกอย่างจะช่วยให้ประสบการณ์การใช้กล้องมือถือดีขึ้น แนวทางของซัมซุงคือขอให้ผู้ใช้ทำหน้าที่แค่เล็งแล้วถ่าย ที่เหลือซัมซุงจัดการให้ทั้งหมด ตั้งแต่การเปิดกล้องที่รวดเร็ว การวัดแสงและประมวลผลภาพ โดยการันตีว่าจะให้ภาพที่ดีโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องคิดอะไรเลย (แม้แต่การเลือก HDR เพราะเป็นระบบอัตโนมัติ) ซอฟต์แวร์กล้องของ S6 ก็แก้ปัญหาเรื่องความช้า-ความเยอะไปได้มาก หน้าตาเรียบง่าย มีโหมดการถ่ายอยู่ขอบจอบน และปุ่มถ่ายอยู่ขอบจอล่าง หน้าตัวเลือกของกล้อง (Camera Settings) ถูกเปลี่ยนเป็นระบบเมนูแทน ส่วนโหมดการถ่ายภาพมีให้เลือกน้อยลง และกลายเป็นไอคอนแบบโมโนโครมแทน โหมดการถ่ายภาพที่เพิ่มเข้ามาคือโหมด Pro ที่ควบคุมค่าต่างๆ ได้เหมือนการถ่ายภาพจริงๆ เช่น ISO, White Balance, Macro, EV ทุกอย่างสามารถปรับได้ละเอียดสำหรับมืออาชีพครับ (แต่ UI ยังเป็นรอง Lumia Pro Camera นะ) เท่าที่ลองใช้งานจริงๆ ก็ถือว่ากล้องของ Galaxy S6 น่าประทับใจมากครับ ถ่ายสวย ชัด ไม่เบลอ แม้ในสภาพแสงต่ำๆ (แต่ที่ชอบที่สุดคือกดปุ่ม Home ย้ำสองที เปิดกล้องได้จากทุกหน้าจอ แม้กระทั่งหน้าจอล็อคอยู่ก็เปิดกล้องได้) ภาพตัวอย่างทั้งหมดเป็นภาพถ่ายในโหมดออโต้ ถ่ายที่ความละเอียดสูงสุด 5312x2988 และไม่ผ่านการแต่งภาพใดๆ (ยกเว้นการย่อรูปโดยระบบของ Flickr เอง สามารถกดเข้าลิงก์ Flickr เพื่อดาวน์โหลดภาพต้นฉบับได้) เทียบกล้อง Galaxy S6 vs Galaxy Note 4 ผมมีโอกาสลองเทียบกล้อง Galaxy S6 กับมือถือรุ่นก่อนหน้าของซัมซุงคือ Galaxy Note 4 โดยตั้งใจเทียบเฉพาะภาพในสภาพแสงน้อย ภาพตอนกลางคืน เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างรุ่นที่ออกห่างกัน 6 เดือนครับ (กล้องของ Note 4 ถือว่าดีมากๆ แล้วรุ่นหนึ่ง แต่ก็ถือว่าตกรุ่นไปแล้ว ยังไงก็แพ้ของใหม่กว่า) ภาพทั้งหมดถ่ายในโหมดออโต้ ไม่เปิดแฟลชและ HDR สามารถคลิกดูภาพต้นฉบับได้จาก Flickr (ภาพซ้าย Note 4, ภาพขวา S6 edge) ลองในสภาพที่แสงน้อยมากจริงๆ พบว่าดูไม่รู้เรื่องทั้งคู่ แต่ S6 เห็นรายละเอียดมากกว่าหน่อย ผมคิดว่าภาพผลลัพธ์ของ Note 4 ออกมาดูสว่างกว่า แต่ภาพของ S6 เก็บรายละเอียดได้ดีกว่า และมีโอกาสคมชัดสูงกว่า โดยรวมแล้วถือว่ากล้องของ S6 ทำออกมาได้ดีมาก แต่ถึงขั้นทิ้งห่าง iPhone 6 อย่างที่เห็นในเวทีเปิดตัวไหม ก็คงไม่ขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม ฟีเจอร์หลายตัวที่เพิ่มเข้ามา เช่น กล้องทำงานเร็ว กดโฮมเบิ้ลเข้ากล้องได้เร็ว กดเข้าหน้าดูภาพได้เร็ว การถ่ายภาพ HDR อัตโนมัติ ฯลฯ ฟีเจอร์พวกนี้ช่วยให้ประสบการณ์การใช้มือถือถ่ายภาพนั้นดีขึ้นมาก แบตเตอรี่และการใช้งาน ส่วนนี้เป็นเรื่องการใช้งานจริง ทั้งอายุแบตเตอรี่ การชาร์จไฟ และความร้อน แบตเตอรี่ แบตเตอรี่ของ S6 มีขนาด 2,550 mAh ส่วน S6 edge ขนาด 2,600 mAh (ใหญ่กว่ากันนิดเดียว) ถือว่ามีขนาดเล็กลงกว่า Galaxy S5 ที่ 2,800 mAh ด้วยเหตุผลว่าออกแบบเครื่องให้บางลงกว่าเดิม ผมไม่มี Galaxy S5 มาทดสอบเปรียบเทียบกันตรงๆ แต่จากผลการทดสอบของเว็บต่างประเทศหลายแห่ง พบว่า S6 มีอายุแบตน้อยกว่า S5 อยู่หน่อย แต่ดีกว่าคู่แข่งสายแอนดรอยด์บางตัว เช่น HTC One M9 ส่วนในแง่การใช้งานจริงก็ไม่พบปัญหาอะไรครับ ใช้งานได้เต็มวันดี (ขึ้นกับพฤติกรรมการใช้งานอยู่ดีแหละนะ) และไม่รู้สึกว่าแบตลดเร็วกว่าที่ควรจะเป็นหรือมีอะไรพิเศษ Fast Charging ฟีเจอร์ชาร์จเร็วหรือ Fast Charging ถูกใส่เข้ามาตั้งแต่ Galaxy Note 4 และถูกพัฒนาขึ้นใน S6 (ซัมซุงบอกว่าชาร์จเร็วกว่า S5 ราว 1.5 เท่า) ระบบชาร์จเร็วของ S6 จำเป็นต้องใช้สายชาร์จพิเศษที่แถมมากับเครื่อง (หน้าตาเหมือนกับสายชาร์จของ Note 4 แต่ไม่แน่ใจว่าแตกต่างกันหรือไม่) เท่าที่ทดสอบแบบจับเวลา เริ่มจากแบตเหลือ 20% ใช้เวลาชาร์จ 15 นาที แบตเพิ่มเป็น 40% ใช้เวลาชาร์จ 30 นาที แบตเพิ่มเป็น 63% ส่วนระบบชาร์จไฟไร้สายนั้น ทางซัมซุงไม่ได้ให้อุปกรณ์มาทดสอบ และผมเองก็ไม่มีอุปกรณ์ชาร์จไฟไร้สายใดๆ จึงไม่ได้ลองนะครับ ความร้อน สิ่งที่พบเจอจากการใช้งานทั้ง S6 และ S6 edge พบว่าบางครั้งเครื่องร้อนมากครับ อาการจะเกิดแบบสุ่ม ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ผมลองวัดความร้อนด้วยแอพ CPU-Z พบว่าอุณหภูมิขึ้นไปสูงถึง 70 กว่าองศา (อาการนี้จะเกิดเป็นบางครั้งเท่านั้น นานๆ เป็นทีด้วย) บทสรุป - เกมกำจัดจุดอ่อนของซัมซุง สรุปแล้ว Galaxy S6 เป็นมือถือที่ซัมซุงทำลายข้อจำกัดเดิมๆ ของตัวเองในเรื่องวัสดุและงานออกแบบไป (ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์) และแสดงให้โลกเห็นว่าถ้าตั้งใจจริงๆ ซัมซุงก็สามารถสร้างผลงานที่ดีในระดับนี้ได้ ทำให้ Galaxy S6 เป็นมือถือแอนดรอยด์ที่โดดเด่นมากตัวหนึ่งของปี 2015 นี้ ส่วนว่าจะดีแค่ไหน ต้องเทียบกับคู่แข่งทีละกลุ่มครับ เทียบกับ Galaxy S5 ถ้าเทียบกับรุ่นพี่ในไลน์เดียวกันคือ Galaxy S5 บอกได้เลยว่า S6 ทิ้งขาดแบบไม่เห็นฝุ่นในเกือบทุกเรื่อง ทั้งดีไซน์ กล้อง ซอฟต์แวร์ ตัวสแกนลายนิ้วมือ จะมีแค่บางฟีเจอร์ที่ถูกตัดออก (อย่างตั้งใจ) คือการถอดเปลี่ยนแบต, micro SD และฟีเจอร์กันน้ำเท่านั้น เทียบกับ Galaxy Note 4 งานดีไซน์ของ S6 ดีขึ้นจาก Note 4 มาก แต่การนำ S กับ Note มาเทียบกันตรงๆ อาจยากสักนิด เพราะ Note มีจุดต่างที่ปากกา ทำให้เราต้องรอดูว่าพอถึงเวลาของ Galaxy Note 5 ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซัมซุงจะสามารถหยิบเอาข้อเด่นของ S6 มาผนวกกับฟีเจอร์ปากกาของซีรีส์ Note ได้มากน้อยแค่ไหน เทียบกับแอนดรอยด์เรือธงปี 2015 ถ้าเอาเฉพาะที่มีวางขายในปัจจุบัน ณ เวลาที่เขียน ต้องบอกว่า S6 โดดเด่นกว่ากันมาก เพราะคงจุดเด่นเดิมของซัมซุงในเรื่องสเปก เพิ่มความสามารถเรื่องกล้อง (ที่เด่นที่สุดในกลุ่มแอนดรอยด์อยู่แต่เดิมแล้ว) พอแก้จุดอ่อนเรื่องดีไซน์ได้สำเร็จ การเทียบกับแอนดรอยด์เรือธงในระดับราคาใกล้ๆ กัน หาคนกินซัมซุงยาก ถ้าจะมีคงต้องอาศัยปัจจัยเรื่องราคาที่ถูกกว่ามาสู้ (เช่น Mi Note Pro) เท่านั้นครับ เทียบกับ iPhone 6 ผมคิดว่าการมาถึงของ Galaxy S6 ทำให้การเปรียบเทียบระหว่างมือถือเรือธงของซัมซุงกับแอปเปิล เหลือปัจจัยแค่เรื่อง ecosystem เพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น ด้วยระดับราคาที่ไล่เลี่ยกัน กลายเป็นว่าถ้าใครชอบแอนดรอยด์ก็เลือก S6 ถ้าชอบ iOS ก็เลือก iPhone มันก็แค่นั้น ปัจจัยอื่นๆ ที่เคยเป็นตัวชี้ขาดในอดีต ถูกทำลายลงไปโดยทั้งสองค่าย แอปเปิลทำลายข้อจำกัดเรื่องขนาดหน้าจอลงใน iPhone 6 ส่วนซัมซุงก็ทำลายข้อจำกัดเรื่องวัสดุและการออกแบบใน Galaxy S6 ความแตกต่างของเรือธงทั้งสองฝั่งจึงน้อยลงจากเดิมมาก ถ้าถามว่า Galaxy S6 โดดเด่นถึงขนาดทำให้คนใช้ iPhone 6 เปลี่ยนใจมาใช้ซัมซุงหรือเปล่า ก็คงไม่ขนาดนั้น แต่ด้วยพัฒนาการของ Galaxy S6 ที่ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ ลดจุดอ่อนเดิมๆ ลงไปเยอะ น่าจะทำให้คนที่ลังเลระหว่างสองค่าย ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นมาก Galaxy S6 หรือ Galaxy S6 edge คำถามสุดท้ายคือเราควรเลือกระหว่าง Galaxy S6 หรือ S6 edge ดี? อันนี้ตอบแบบฟันธงได้เลยครับว่า ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ความเด่นเรื่อง form factor ที่แตกต่าง ประหยัดเงิน 4,000 พันบาทเอา Galaxy S6 รุ่นปกติดีกว่าครับ ขอบจอโค้งยังไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเป็นลูกเล่นแปลกตา ที่รอเวลาว่าเมื่อไรซัมซุงจะสามารถหา "เหตุผลที่จำเป็นต้องใช้งาน" เจอ ข้อดี-ข้อเสีย ข้อดี สเปกแรง ครบเครื่อง จอละเอียด คมชัด วัสดุดี พรีเมียม ออกแบบสวยงาม กล้องดีมาก เปิดกล้องเร็ว ถ่ายเร็ว มีระบบชาร์จเร็วในตัว ออกแบบ UI สวยงามกว่าเดิม ไม่เยอะ ไม่ยัดเยียด ระบบสแกนลายนิ้วมือแบบใหม่ ดีขึ้นเยอะเลย แอพ Smart Manager มีประโยชน์และใช้ดีกว่าที่คิด ข้อเสีย ร้อนมากในบางโอกาส ตัดฟีเจอร์หลายอย่างจากรุ่นก่อน เช่น แบตเปลี่ยนไม่ได้ เสียบ micro SD ไม่ได้ แบตเปลี่ยนไม่ได้ อายุการใช้งานแบตน้อยลงจากรุ่นก่อนเล็กน้อย การออกแบบบางจุดยังดูลอก iPhone ไปสักหน่อย ขอบโค้งไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากเอาไว้เท่ๆ ฟีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์บางอย่าง ยังจำกัดเฉพาะแอพซัมซุงเองเท่านั้น ไม่เชื่อมกับแอพยอดฮิตตัวอื่น ไม่ได้ทดสอบ ระบบชาร์จไฟไร้สาย กล้องหน้า การถ่ายวิดีโอ และฟีเจอร์บางโหมดของกล้องหลัง Galaxy S6, Mobile, Review, Samsung