หุ้นกลุ่มปตท.ปรับลงแรง ห่วงปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เผยตั้งแต่การเมืองเปลี่ยนราคาลดลงแล้วมากกว่า 3% ภาพรวมราคาหุ้นในกลุ่มบริษัท ปตท.(PTT) ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และการปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท โดยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พบว่า ราคาหุ้นปตท. ปรับลดลง 3.57% ราคาหุ้นบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ลดลง 3.94% ราคาหุ้น บริษัท ไทยออยล์ (TOP) ลดลง 3.84% ราคาหุ้น บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) ลดลง 2.1% ราคาหุ้น ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ลดลง 0.64% ราคาหุ้นบริษัท บางจากปิโตรเลียม (BCP) ปรับลดลง 2.47% สวนทางภาวะตลาดโดยรวมที่ปิดตลาด 1,453.16 จุด ปรับขึ้นกว่า 3% โดยเทียบจากราคาเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ นักวิเคราะห์จาก บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างคณะกรรมการ (บอร์ด) และการปรับโครงสร้างพลังงานผ่านการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อส่งปัจจัยพื้นฐานการดำเนินงาน และผลประกอบการของบริษัท ปตท. ทั้งการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน และโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี เพราะคาดว่าหากจะมีการปรับโครงสร้างราคา น่าจะปรับในส่วนโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นส่วนที่รัฐบาลได้รับผลกระทบมากกว่า ทั้งนี้โครงสร้างราคาน้ำมันปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ราคาหน้าโรงกลั่น อ้างอิงกับราคาในตลาดโลก ซึ่งเป็นส่วนที่ปตท.ได้รับ และ ภาษีชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐได้รับ โดยภาษีต่างๆ ที่รัฐบาลจัดเก็บรวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15-40% ของราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปผ่านสถานีบริการน้ำมัน ยกเว้นในส่วนของราคาน้ำมันดีเซลที่ปัจจุบันภาครัฐตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เช่นเดียวกับประเด็นราคาขายก๊าซแอลพีจี ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกำหนดให้ปตท. ขายในราคาประมาณ 11 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาขายจริงอยู่เกือบ 20 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต่างที่เหลืออีก 10 กว่าบาท เป็นภาษีชนิดต่างๆ ที่รัฐบาลจัดเก็บ ดังนั้นหากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาน้ำมัน น่าจะเกิดขึ้นในส่วนของการปรับลดภาษีลง "ประเด็นการปรับโครงสร้างพลังงานไม่มีผลต่อผลการดำเนินงานของปตท. นอกจากนี้หากพิจารณากำไรจากธุรกิจซื้อขายน้ำมันโดยรวมของปตท. พบว่าคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5-8% ของกำไรรวม แม้รายได้จะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70-75% ของรายได้รวมก็ตาม สะท้อนถึงอัตรากำไรที่ต่ำมาก แต่ราคาหุ้นที่ปรับลดลงแรง เพราะนักลงทุนไม่เข้าใจ ซึ่งแนะนำว่าหากราคาปรับลดลงมาให้นักลงทุนเข้าลงทุน" สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าจะทรงตัว ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ค่อนข้างทรงๆ อย่างไรก็ตามยังคงคาดการณ์กำไรปตท.ปีนี้ไว้ที่ 1.04 แสนล้านบาท ผลตอบแทนต่อหุ้น หรืออีพีเอสอยู่ที่ระดับ 36.45 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.9% นักวิเคราะห์จากบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างพลังงาน อาจกดดันราคาหุ้นพลังงานที่เกี่ยวข้องจนกว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะประเด็นหากมีการพิจารณาให้มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ทั้งระบบ และหากมีการผลักดันให้ภาคปิโตรเคมี รับภาระในส่วนของการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศ ทดแทนการใช้จากส่วนของบริษัทปตท. โดยทุก 1 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.)ที่เพิ่มขึ้น อาจจะส่งผบกระทบเชิงลบต่อกำไรของบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ประมาณ 3 % อย่างไรก็ตาม จากความไม่ชัดเจนดังกล่าว ทำให้เลือกหุ้นบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เป็นหุ้นน่าลงทุนในช่วงไตรมาส 2 เพราะมีโอกาสได้รับผลกระทบเชิงลบจากการปรับโครงสร้างพลังงานน้อยที่สุด ด้าน บริษัท ปตท.สผ. เปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ที่ยื่นกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า มีความเป็นไปได้ที่ในเร็วๆ นี้ บริษัทจะออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ในสกุลเงินตราต่างประเทศ ในวงเงินเทียบเท่าสกุลเงินบาท ไม่เกิน 2.88 หมื่นล้านบาท ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินบาทวงเงิน 1.96 หมื่นล้านบาท ระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย.ที่ผ่านมา Tags : หุ้นพลังงาน • ปตท. • ปรับโครงสร้างพลังงาน