คณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลฯ เห็นชอบแผนตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (Data Center Consolidation)

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 23 มีนาคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 (งานเดียวกับข่าวเห็นชอบ กสทช. เดินหน้าประมูล 4G) คณะกรรมการฯ ยังมีมติให้หน่วยงานราชการไทยไม่สามารถของบซื้อ-ทำศูนย์ข้อมูล (data center) เฉพาะหน่วยงานของตัวเองได้อีกต่อไป แต่ต้องเปลี่ยนมาใช้ "ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ" แทน ตามแผนการบูรณาการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (Data Center Consolidation) เพื่อลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ

    ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติจะเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลโครงการในเร็วๆ นี้ โดยโครงการจะต้องดำเนินการเสร็จภายใน 12 เดือน ตอนนี้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) กำลังศึกษารายละเอียด

    รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานบอร์ด EGA ระบุว่านอกจากเรื่องการบูรณาการศูนย์ข้อมูลแล้ว ขั้นต่อไปจะผลักดันให้หน่วยงานราชการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ รวมถึงประชาชนนำข้อมูลไปต่อยอดได้ด้วย

    ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์ EGA

    หมายเหตุ ในมติของคณะกรรมการฯ ระบุว่ามีข้อยกเว้นให้ "หน่วยงานราชการสำคัญสองหน่วย" ที่ไม่ต้องปฏิบัติตามมตินี้ แต่ไม่บอกว่ามีหน่วยงานอะไรบ้าง ผมยังหามติฉบับเต็มไม่ได้ ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมจะมารายงานครับ


    หม่อมอุ๋ยเผยแผนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ ปูพื้นรัฐบาลดิจิทัล

    รองรับนโยบายดิจิตัล อีโคโนมี ปรับกระบวนภาครัฐเว้นของบสร้างศูนย์เอง

    เตรียมเปิดให้เอกชนเข้าประมูล ส่งต่อ EGA ดูแลทั้งระบบ

    หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ในส่วนของนโยบายการสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลได้กำหนดให้มีการส่งเสริมและวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งมีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาใน 5 ด้าน คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ (Service Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐาน (Soft Infrastructure) ด้านส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Digital Economy Promotion) และด้านการพัฒนาสังคมดิจิทัล (Digital Society)

    ขณะนี้ ทุกยุทธศาสตร์มีความคืบหน้าพอสมควร เนื่องด้วยทุกหน่วยงานซึ่งรับทราบนโยบายได้เร่งดำเนินการเดินหน้าตามหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ เริ่มจากการจัดตั้งเนชั่นแนล บรอดแบนด์ หรือบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่จะนำเครือข่ายใยแก้วนำแสง หรือไฟเบอร์ออปติก เข้าถึงทุกพื้นที่ ทุกสถานประกอบการ และทุกบ้านทั่วประเทศ ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องออกกฎหมายรองรับ ใช้เพียงตั้งคณะเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานขึ้นมาพิจารณาเตรียมการในด้านต่างๆ ก่อนที่กฎหมายจะออกมา ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการชุดนี้ผ่านการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีแล้ว การจัดเตรียมดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ที่จะรวมข้อมูลที่มีหน่วยงานวิเคราะห์ไว้แล้วมารวมไว้ด้วยกัน ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่คืบหน้าไปมาก โดยในการจัดประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมครั้งที่ 1/2558 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม มีมติให้หน่วยงานราชการทั้งหมดยกเว้นหน่วยราชการสำคัญสองหน่วยไม่สามารถของบประมาณเพื่อจัดซื้อหรือจัดทำศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์หรือ IDC เป็นของหน่วยงานเฉพาะของตนเองอีกต่อไป โดยให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ ซึ่งจะเป็นศูนย์เครือข่ายรวบรวมข้อมูลทุกด้านที่ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเปิดให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน และรัฐจะเปิดให้เอกชนมาประมูล โครงการต้องเสร็จภายใน 12 เดือน และเปิดใช้งานให้ได้ภายใน 10 เดือน

    จากมติดังกล่าวส่งผลให้แนวโน้มของธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง รัฐกับเอกชนจะเข้ามาร่วมกันลงทุน โดยจะมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานการเชื่อมต่อข้อมูล เพื่อให้คุณภาพและราคาค่าบริการที่หน่วยงานภาครัฐใช้บริการอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยรองรับ มีสัดส่วนของพื้นที่เหมาะสมในการให้บริการตามความต้องการของท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ที่สำคัญที่สุดก็คือ ดาต้าเซ็นเตอร์ทุกแห่งจะมีการเชื่อมต่อถึงกัน และสามารถนำไปสู่การบริหารข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเช่น Big Data ได้ในอนาคต

    ทั้งนี้ ดาต้าเซ็นเตอร์หรือไอดีซี มีความจำเป็นมากสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะทำให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาล ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องการจะนำเอาความต้องการใช้งานของภาครัฐไปกระตุ้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจของเอกชน แต่ปัจจุบันยังมีผู้ให้บริการไม่มาก และแต่ละแห่งไม่ได้มีการเชื่อมต่อระบบกัน ดังนั้นเพื่อสร้างเสถียรภาพของดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งประเทศ รัฐต้องสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดพื้นที่ขนาดใหญ่โดยหน่วยงานรัฐจะเป็นผู้ใช้รายใหญ่เพื่อกระตุ้นความต้องการโดยรวมของประเทศขึ้นมา โดยดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้อาจเป็นการร่วมลงทุนกับทางภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ทาง EGA กำลังศึกษารายละเอียดร่วมกับผู้ให้บริการไอดีซีทั้งภาครัฐและเอกชน

    ดังนั้น ต่อไปนี้ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “Data Center Consolidation” หรือ การรวมศูนย์ครั้งใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชน จะไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อนกันอีกแล้วโดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ จากเดิมที่หน่วยงานแต่ละแห่งจะสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเอง ต้องลงทุนทั้งเครื่องเซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์เครือข่าย ระบบรักษาความปลอดภัย ซอฟต์แวร์ และบุคลากรจำนวนมาก เพื่อดูแลข้อมูลเฉพาะหน่วยงาน ขณะที่ข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกเจ้าของหน่วยงานนั้นๆ หวงแหน ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันกับข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ ทำให้รัฐเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

    “สิ่งที่จะเห็นคือ ภาครัฐต้องกระโดดมาเป็น Digital Government แล้ว ไม่ใช่แค่เป็น e-Government เพราะขณะนี้ภาคเอกชน ภาคประชาชนกำลังเข้าสู่ยุค Digital Citizen แล้ว ภาครัฐต้องไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ การให้บริการต้องสามารถผ่านระบบเหล่านี้ได้ทันที ภาครัฐเองไม่ต้องมาสนใจหลังบ้าน ไม่ต้องมาสนใจสร้างเครือข่ายเอง ต้องกลับมาดูแลเฉพาะเรื่องการปรับปรุงบริการ กระบวนการทำงานหรือพัฒนาบริการอะไร อย่างไร ให้เป็น Smart Service ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมากที่สุด” หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร กล่าวเพิ่มเติม

    นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเสริมว่า รัฐบาลนี้มองเห็นอนาคต และต้องการนำประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมที่มั่นคงและแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในระดับเวทีโลกได้ ดังนั้นการลงทุนด้วยการเปลี่ยนแปลงทุกด้านจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างรอบคอบและมีทิศทาง ในขณะที่ทุกภาคส่วนกำลังขยับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง ภาคราชการก็ต้องร่วมมือกันพัฒนาภาครัฐในภาพรวมให้ก้าวสู่การเป็น Digital Government ด้วย โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นองค์กรหลักที่เข้ามาขับเคลื่อนในด้านนี้ โดยจะยกระดับหน่วยงานภาครัฐสู่ Digital Government ในหลายส่วน ซึ่งสำหรับในงานสัมมนา “ก้าวสู่ Digital Government ภายใต้นโยบาย Digital Economy” วันนี้ จะว่าด้วยเรื่องภารกิจสำคัญเร่งด่วน 3 ประการ ได้แก่

    - การบูรณาการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (Data Center Consolidation) อันถือเป็นองค์ประกอบหลักของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อเกิดการบูรณาการศูนย์ข้อมูลภาครัฐเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐจะสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณจัดหาอุปกรณ์และลดภาระการใช้จ่ายงบประมาณในภาพรวมของประเทศ

    - การบูรณาการข้อมูลบริหารสำหรับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (Prime Minister’s Operation Center : PMOC) โดยดำเนินการให้มีระบบรายงานเพื่อใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศที่ทันสมัย ใช้ในการติดตามการดำเนินงาน รวมถึงรายงานเหตุการณ์เร่งด่วนต่างๆ และการแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งระบบดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือในการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน

    - การบูรณาการการให้บริการประชาชน (Smart Services) อันสืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งมุ่งใช้แนวทางการลดสำเนาเอกสารราชการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยการบูรณาการระบบบริการของราชการให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานราชการ มีเป้าหมายนำร่อง 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เชื่อมโยงเข้ากับระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อลดการขอสำเนาเอกสารราชการจากผู้ขอรับบริการ รวมถึงการนำร่องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบางบริการของรัฐได้ด้วยตนเองผ่านตู้บริการเอนกประสงค์ของรัฐ (Government Kiosk for Self-Service)

    ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญซึ่งจะผลักดันให้ภาครัฐทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานเพื่อสร้าง Digital Government ภายใต้นโยบาย Digital Economy อย่างเป็นรูปธรรม คือการได้รับนโยบายจากผู้บริหารระดับสูงเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงความจำเป็นเร่งด่วนและความสำคัญของการบูรณาการข้อมูลตามภารกิจเร่งด่วนทั้ง 3 ประการข้างต้น

    รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา EGA ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานหลักดูแลเรื่อง e-Government ของประเทศ เร่งดำเนินงานในหลายโครงการเพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตามที่รัฐบาลในชุดนี้มุ่งหวังและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ราชการยุคใหม่ก้าวกระโดดขึ้นเป็น Digital Government ซึ่งเรื่องสำคัญคือการบูรณาการข้อมูล ที่ภาครัฐจะต้องเป็นตัวนำร่อง เพราะข้อมูลจากเอกชนบางส่วนจะเกิดจากการบูรณาการข้อมูลของภาครัฐ โดยนอกจากการเร่งดำเนินการเรื่อง “Data Center Consolidate” ขณะนี้ได้สั่งการให้ EGA เร่งทำโครงการ Open Data ในภาครัฐ ที่เป็นการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานรัฐจะต้องมีโครงการนำร่องในการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลที่เป็นมาตรฐาน เพื่อทำให้แต่ละหน่วยนำข้อมูลไปบูรณาการ และพร้อมจะให้ประชาชนนำไปต่อยอดได้อีก ทั้งนี้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ (Service Infrastructure)

    นอกจากนั้น บทบาทของ EGA ในการขับเคลื่อน Digital Government ก็ต้องรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดกรอบนโยบายการขับเคลื่อนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น จากนี้ EGA ต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายในการขับเคลื่อนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ (National e-government policy maker) อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และ EGA จะต้องเป็นผู้นำริเริ่มการสร้างโครงสร้างด้านบริการที่มีขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญและมีผลกระทบในวงกว้าง เช่น Data Center ขนาดใหญ่ การบริการด้าน Open Data และ Big Data Analytical (การให้บริการวิเคราะห์ข้อมูล) เป็นต้น หลังจากนั้นก็ต้องคอยติดตามและขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐให้เกิดการยกระดับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

    ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA กล่าวเพิ่มเติมว่า การบูรณาการข้อมูลภาครัฐตามภารกิจเร่งด่วนทั้ง 3 ประการเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ EGA ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับงานด้านการบูรณาการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (Data Center Consolidation) บทบาทของ EGA จะเข้าไปดูแลทั้งในส่วนของการศึกษาแพลตฟอร์มที่จะทำให้ข้อมูลที่อยู่ในดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ทั้งหมดเชื่อมโยงถึงกัน สร้างมาตรฐานทั้งการเก็บและการเรียกใช้งาน รวมถึงแผนการลงทุนที่เหมาะสม โดยต่อไปนี้ภาคราชการไม่จำเป็นต้องสนใจว่าจะเข้ามาจัดซื้อจัดจ้าง หรือจัดหาบุคลากรมาดูแลดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้ และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเดิมที่คิดว่าเมื่อป้อนข้อมูลของตนเองเข้าไป ข้อมูลเหล่านั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานตนเองเท่านั้น ซึ่งต่อไปข้อมูลทั้งหมดจะเป็นของส่วนกลางและนำไปบูรณาการข้อมูลในภาพรวมทั้งหมด ซึ่งในงานวันนี้ EGA ได้จัดทำแบบฟอร์มให้หน่วยงานได้ทำการสำรวจการใช้งาน Data Center ของตนเอง แล้วส่งให้ EGA รวบรวม เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาประสิทธิภาพระบบสารสนเทศภาครัฐ เพื่อการรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ต่อไป

    ส่วนงานจัดการกับศูนย์ดาต้าของหน่วยงานราชการเดิมที่มีอยู่แล้ว กับดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่จากภาคเอกชนที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องมีการปรับโยกย้ายหรือนำเข้าระบบเดียวกับศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในที่สุด

    นอกจากนั้น EGAจะพิจารณาการลงทุนทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เน็ตเวิร์คกิ้งและระบบรักษาความปลอดภัยรวมทั้งการจัดสรรเกต์เวย์หรือช่องทางการสื่อสารออกสู่ต่างประเทศที่เหมาะสมอีกด้วย
    EGA, Thailand, Data Center, Government
     

แบ่งปันหน้านี้