"ประจิน" รองหน.คสช. เผยสัปดาห์หน้าชี้ขาดปรับโครงสร้างพลังงาน ยึดหลักลดค่าครองชีพ พร้อมกับตั้งบอร์ดบีโอไอ-กพช. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณามาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า โดยจะมีเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) วานนี้ (4 มิ.ย.) ว่าคสช.จะเร่งสรุปผลการศึกษาข้อมูลการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ และโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนโยบายเรื่องพลังงานทดแทน ให้แล้วเสร็จในวันที่ 7-8 มิ.ย. 2557 ก่อนจะนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.พิจารณาในสัปดาห์หน้า "คสช. ยังเน้นย้ำเรื่องปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ลดภาระค่าครองชีพ" การประชุมในครั้งนี้ มี นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เข้าร่วมประชุมด้วย พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่าการตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นั้นจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้เช่นเดียวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะมีความชัดเจนหลังจากที่ทางบีโอไอ เสนอรายชื่อคณะกรรมการมาให้คสช. พิจารณา ด้าน นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในที่ประชุมยังไม่มีการหารือเรื่องการปรับเปลี่ยนบอร์ด ปตท.โดยเป็นการรับฟังข้อมูลภาพรวมพลังงาน ทั้งด้านน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี)และ ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) เท่านั้น คสช.มอบหมายอำนาจผู้ปฏิบัติงาน วันเดียวกัน คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 47/2557 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการต่างๆ โดยระบุว่าเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปได้โดยความเรียบร้อย จึงสมควรมอบหมายให้การปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ 1.ให้ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย หรือรองหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ในระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธาน รองประธาน หรือ กรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีตามสายงานความรับผิดชอบของตน แล้วแต่กรณี โดยถือว่าการมอบหมายของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี เว้นแต่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น 2.ในกรณีที่กฎหมาย ระเบียบคำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด เป็นประธาน รองประธาน หรือกรรมการ ให้ปลัดกระทรวงซึ่งมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2557 ลงวันที่ 22 พ.ค. 2557 เรื่องให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว กำหนดไว้แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ ประธาน รองประธาน หรือกรรมการในคณะกรรมการนั้นแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หากมีข้อขัดข้อง หรือเป็นการพิจารณาปัญหาสำคัญในเชิงนโยบาย หรือคาบเกี่ยวกับฝ่ายอื่น หรือก่อให้เกิดภาระงบประมาณในสาระสำคัญ ให้หาหรือหัวหน้าฝ่าย หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแล้วแต่กรณี เร่งเบิกจ่ายครึ่งปีหลัง นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางเตรียมออกมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 เป็นไปตามเป้าหมาย และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี โดยจุดประสงค์ของมาตรการจะเน้นไปที่การเบิกจ่ายงบลงทุนที่มีวงเงินลงทุนต่อโครงการไม่มากนัก แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่องบลงทุนรวมแล้วจะถือว่ามีจำนวนที่มาก จึงถือเป็นโครงการลงทุนที่จำเป็นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหาร จะมีผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งในส่วนโครงการขนาดใหญ่และขนาดเล็กเดินหน้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท ที่ขณะนี้ มีวงเงินรอการลงทุนจริงอยู่ประมาณ 7 พันล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ในช่วงรัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถดำเนินการอนุมัติได้ แต่ขณะนี้ คสช.มีอำนาจเต็มสามารถอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ "ขณะนี้ คสช.ได้เร่งรัดให้งบลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาทเบิกจ่ายให้เร็วยิ่งขึ้น แต่ในกระบวนการการทำงานนั้น อาจจะไม่ได้เร็วอย่างที่คิด เพราะขณะนี้ ทุกหน่วยงานที่มีแผนการลงทุนก็ต้องรอนโยบายจากคสช.ว่า จะเดินหน้าโครงการตามแผนหรือไม่ โดยทุกหน่วยงานที่มีแผนลงทุนจะต้องส่งแผนให้ทีมเศรษฐกิจคสช.พิจารณาก่อน เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว หน่วยงานก็ต้องกลับมาจัดกระบวนการลงทุนและเสนอกลับไปยังคสช.เพื่ออนุมัติแทนคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ฉะนั้น กว่าที่โครงการจะเริ่มลงทุนจริงก็ต้องใช้เวลา" เขากล่าว สำหรับยอดการเบิกจ่ายงบรายจ่ายปี 2557 ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา สามารถเบิกจ่ายได้ 1.565 ล้านล้านบาท คิดเป็น 62% จากงบรายจ่ายรวมที่ 2.525 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นการเบิกจ่ายงบประจำ 1.375 ล้านล้านบาท งบลงทุน 1.9 แสนล้านบาท โดยงบลงทุนดังกล่าวถือว่า เบิกจ่ายได้ 44% ของงบลงทุนรวม และต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 13.56% ทั้งนี้ เป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณรวมทั้งปีอยู่ที่ 95% ของงบรายจ่ายรวม ส่วนงบลงทุนอยู่ที่ 82% ของงบลงทุนรวม ซึ่งกรมฯคาดว่า การเบิกจ่ายตลอดทั้งปีงบประมาณทั้งสองส่วนจะใกล้เคียงกับเป้าหมาย คลังดึงแบงก์รัฐปล่อยกู้เพิ่ม ด้าน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว กระทรวงการคลังยังมีแผนเร่งรัดให้แบงก์รัฐเข้าไปช่วยปล่อยสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้นด้วย โดยเชื่อว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์รัฐหรือแบงก์เอกชน ก็จะเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อเช่นกัน เพราะว่าความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจได้กลับมา หลังจากมี คสช. เข้ามาบริหารประเทศ "แบงก์เขามีเงินเหลือ ถ้าไม่ปล่อยออกไป เขาก็จะมีต้นทุน เมื่อบวกกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่กำลังกลับมา ก็เชื่อว่า แบงก์จะเร่งปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะเรามีมาตรการที่จะให้ บสย.เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่แบงก์ได้มากขึ้น" นายรังสรรค์ กล่าวด้วยว่า กรณีที่งบประมาณรายจ่ายปี 2558 จะสามารถนำมาใช้ได้ทันตามกำหนดเวลา คือ วันที่ 1 ต.ค. นี้ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะว่าเม็ดเงินจากภาครัฐจะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ตามกำหนด ทั้งนี้ งบประมาณปี 2558 นั้น จะเป็นงบที่ขาดดุลต่อเนื่อง และระดับการขาดดุล ก็จะต้องมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งตนเห็นว่าเป้าหมายงบประมาณสมดุลในปี 2560 อาจจะต้องเลื่อนออกไป เพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจในขณะนี้ ร.ฟ.ท.พร้อมลุยรถไฟรางคู่ 5 เส้นทาง นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ได้มีการสอบถามโครงการพัฒนารถไฟทั้งโครงการที่จัดทำไว้ในรัฐบาลที่ผ่านมาที่เป็นโครงการระยะสั้น โครงการระยะกลางที่จะใช้งบประมาณปี 2558 และโครงการระยะยาว "ได้แจ้งให้ คสช. ทราบว่า ร.ฟ.ท. มีความเห็นสอดคล้องกับ คสช. ที่จะต้องเร่งรัดผลักดันโครงการรถไฟรางคู่" ขณะนี้ มีผลการศึกษา 5 เส้นทาง ซึ่งการลงทุนโครงการเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงหากวางยุทธศาสตร์ให้ไทยสามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งการโดยสารและขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 2558 โครงการรถไฟรางคู่จะมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเรื่องดังกล่าว คสช. ไฟเขียวงบเกษตร 1.1 หมื่นล้าน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เห็นชอบโครงการเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรฯ แล้วทั้งสิ้น 4 โครงการ วงเงินรวม 11,698 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.งบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตให้แก่ชาวสวนยางไร่ละ 2,520 บาท ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 (ระยะสั้น) 2.งบประมาณแก้ไขปัญหาโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) ระบาดในกุ้งทะเล จำนวน 200 ล้านบาท 3.งบกลางจำนวน 5,498 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวม 584,005 ราย ที่ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ในปี 2556-2557 และ 4.เห็นชอบโครงการบริหารจัดการนมโรงเรียน ที่ให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เข้าไปซื้อขายนมกับท้องถิ่นโดยตรงเป็นกรณีพิเศษ เพิ่มเติมอีก 2 ปี โดยโครงการนี้ไม่มีการขออนุมัติงบประมาณ เพราะว่าโครงการนี้ติดค้างอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย คือ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเท่านั้น Tags : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง • คสช. • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • พลังงาน • บีโอไอ • กพช.