รีวิว HP Pavilion Mini พีซีกล่องข้าวน้อย เล็กกะทัดรัด ราคาไม่แพง

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 มีนาคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]
    เมื่อต้นปีนี้ HP เปิดตัวพีซีขนาดเล็กราคาไม่แพงออกมา 2 รุ่นคือ Stream Mini และ Pavilion Mini ซึ่งทาง HP ประเทศไทยเองก็นำเอารุ่น Pavilion Mini เข้ามาขายในราคา 13,990 บาท และได้รับความสนใจพอสมควร

    HP ส่ง Pavilion Mini มาให้ Blognone ลองทดสอบด้วย ใครสนใจก็ตามมาดูรีวิวกันเลยครับ

    [​IMG]

    สเปก


    HP บอกว่าไม่นำ Stream Mini ที่ราคาถูกกว่าเข้ามาขายเพราะ "คนไทยไม่ค่อยชอบ Celeron" ดังนั้นสินค้าที่วางขายจึงมีเพียงรุ่นเดียวคือ Pavilion Mini โดยสเปกที่ให้มาในราคา 13,990 บาทคือ

    • ซีพียู Core i3 4015 (Haswell)
    • แรม 2GB
    • ฮาร์ดดิสก์ 500GB

    รุ่นที่ขายในไทยมีเพียงสเปกเดียวเท่านั้นครับ ไม่มี SKU อื่น (ในต่างประเทศยังมีรุ่นที่ใช้ Pentium ให้เลือกด้วย) ส่วนสีก็มีให้เลือกแค่สีขาวสีเดียว

    หน้าตา


    ต้องยอมรับว่า HP ออกแบบ Pavilion Mini ได้น่ารักมาก ใครเห็นน่าจะรู้สึกว่ามันคล้าย "กล่องข้าว" หรือ "ทัปเปอร์แวร์" ตัววัสดุเป็นพลาสติกผิวด้าน แต่งานประกอบค่อนข้างแน่นหนาดี

    แน่นอนว่าจุดขายของมันคือ "ความเล็ก" ดังจะเห็นได้จากภาพโปรโมทของ HP ข้างล่างนี้

    [​IMG]

    ในแง่น้ำหนักก็มีการชั่งให้ดูกันจะๆ ในงานแถลงข่าว อยู่ที่ 658 กรัม

    [​IMG]

    ถือบนฝ่ามือก็พอดีๆ ครับ

    [​IMG]

    เทียบขนาดกับเมาส์ที่แถมมาให้ในชุด

    [​IMG]

    หลายคนอาจสงสัยว่าถ้าเทียบ HP Pavilion Mini กับคู่แข่งที่เป็นพีซีขนาดเล็กเหมือนกัน (อย่าง Mac mini) อะไรคือจุดขายของฝั่ง HP

    นอกจากประเด็นเรื่องเบากว่าถูกกว่าแล้ว จุดเด่นอย่างหนึ่งของ HP Pavilion Mini คือพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ที่ให้มาอย่างจุใจ เริ่มจากด้านหน้าเครื่องเป็น USB 2 พอร์ตให้จิ้มกันง่ายๆ

    [​IMG]

    ด้านหลังมี USB อีก 2 พอร์ต, Ethernet, ช่องเสียบหูฟัง และจุดเด่นที่หาได้ยากในเครื่องอื่นคือ HDMI คู่กับ DisplayPort ขนาดเต็ม

    [​IMG]

    ดังนั้น HP Pavilion Mini จึงสามารถต่อจอนอกได้ 2 จอพร้อมกัน (ถ้ามีจอพร้อมและมีสายแปลง) ในงานแถลงข่าวก็โชว์การต่อ 2 จอให้ดูดังภาพครับ

    [​IMG]

    อีกพอร์ตหนึ่งที่หลบมุมอยู่ด้านข้างคือ SD Card จะอยู่ด้านขวาของเครื่อง

    [​IMG]

    ช่องระบายความร้อนของ Pavilion Mini อยู่ที่ฐาน ตัวผ้ายางสีดำช่วยให้เครื่องยึดติดกับพื้นไม่ไถลง่าย (สามารถถอดออกได้ง่ายด้วย) เท่าที่ลองใช้งานทั่วๆ ไปพบว่าเครื่องเย็นมาก แทบไม่ร้อนเลย

    [​IMG]

    จุดเด่นประการที่สองของ HP Pavilion Mini คือการแกะเครื่องทำได้ง่ายมากๆ ครับ ไขน็อตออกนิดเดียวก็แยกร่างมันได้แล้ว เริ่มจากฝาครอบหน้าตาแบบนี้

    [​IMG]

    แยกชิ้นส่วนทั้งหมดมาเรียงกัน หน้าตาแบบรูปด้านล่าง

    Pavilion ออกแบบมาให้ผู้ใช้ปรับแต่งฮาร์ดแวร์ของตัวเองได้มากพอสมควร โดยสามารถเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ได้เอง (มาพร้อมกับรุ่น 500GB ใส่เองได้สูงสุด 1TB) เปลี่ยนแรมเพิ่มจาก 2GB เป็น 16GB และมีช่อง M.2 SSD ขนาด 42 มิลลิเมตรสำหรับคนที่อยากเร่งความเร็วสตอเรจด้วย

    [​IMG]

    อุปกรณ์ที่ให้มาในชุดคือสายไฟ และชุดเมาส์+คีย์บอร์ดไร้สาย (เรียกง่ายๆ ว่ามีทุกอย่างยกเว้นจอ) เมาส์ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาอะไร ส่วนคีย์บอร์ดผมว่าปุ่มมันตื้นไปหน่อย พิมพ์ค่อนข้างลำบาก

    [​IMG]

    [​IMG]

    ในการใช้งานจริงเราเสียบแค่ 3 พอร์ตก็เหลือเฟือแล้ว คือ ตัวส่งสัญญาณไร้สาย, สายจอ, สายไฟ

    [​IMG]

    ระบบปฏิบัติการเป็น Windows 8.1 Single Language with Bing ตัวซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่ให้มาคือซอฟต์แวร์ของ HP เอง และ McAfee Internet Security (ที่ค่อนข้างน่ารำคาญพอสมควร)

    [​IMG]

    ผมรองรันเบนช์มาร์ค Geekbench ได้คะแนนตามภาพ (ลิงก์ผลเบนช์มาร์คละเอียด) ถ้าใครสนใจเรื่องคะแนน ลองดูรีวิวของ Ars Technica ละเอียดกว่ากันมาก

    [​IMG]

    อัตราการกินไฟตามสเปกคือ 45 วัตต์นะครับ

    สรุป


    ข้อดี

    • สเปกโอเคคุ้มค่าราคา ใช้งานทั่วไปได้ไม่มีปัญหา
    • ขนาดเล็กกะทัดรัด ออกแบบมาน่ารัก ใครเห็นใครก็ทัก
    • งานประกอบดี
    • พอร์ตเชื่อมต่อครบครัน
    • ถอดประกอบได้ง่าย เปลี่ยนอุปกรณ์ง่ายมาก

    ข้อเสีย

    • ไม่เอารุ่น Stream Mini เข้ามาขาย ทำให้คนที่อยากได้ของถูกแบบสุดๆ ลำบากใจอยู่บ้าง
    • แรม 2GB อาจน้อยไปสักนิดสำหรับการใช้งานสมัยนี้
    • เอ่อ McAfee

    โดยสรุปแล้ว ใครที่กำลังคิดจะเปลี่ยนพีซีใหม่ มีจอภาพอยู่แล้ว ไม่เน้นเล่นเกมมากนัก การเปลี่ยนมาใช้พีซีขนาดเล็กแบบนี้น่าจะประหยัดพื้นที่โต๊ะไปได้เยอะ ในราคาไม่แพงนัก (สำหรับคนชอบประกอบเองจะใช้พวก Intel NUC ก็ได้ แต่กรณีนี้คือขี้เกียจประกอบ อยากได้โซลูชันสำเร็จรูป)

    HP, Pavilion, Desktop, Review
     

แบ่งปันหน้านี้