ซีอีโอ Cyanogen ฟันธง ชะตากรรมของซัมซุงจะซ้ำรอยโนเกียภายใน 5 ปี

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 7 มีนาคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    Kirt McMaster ซีอีโอของบริษัท Cyanogen ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Business Insider ในหลายประเด็น เริ่มจากประเด็นว่า "ซัมซุงจะตกที่นั่งลำบาก"

    เขาอธิบายถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของวงการสมาร์ทโฟนว่ามีคลื่นหลายลูก คลื่นลูกแรกคือการย้ายจากฟีเจอร์โฟนมาเป็นสมาร์ทโฟน ตามด้วยร้านขายแอพ และการขยับขนาดหน้าจอ 3-4 นิ้วเป็น 5 นิ้ว ซึ่งซัมซุงทำได้ดีมากในเรื่องนี้ จนแอปเปิลต้องเป็นฝ่ายวิ่งไล่ตามใน iPhone 6 Plus

    อย่างไรก็ตาม คลื่นลูกถัดไปคือฮาร์ดแวร์ราคาถูกที่ใครๆ ก็ผลิตได้ (commoditization of hardware) ส่งผลให้บริษัทหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาได้ง่ายมาก (ความสำเร็จของ Xiaomi หรือ Micromax เกิดจากโซลูชันฮาร์ดแวร์เบ็ดเสร็จของ Qualcomm และ MediaTek) ผลคือซัมซุงจะเผชิญชะตากรรมแบบโนเกียในอีก 5 ปีข้างหน้า และระยะยาวแอปเปิลก็น่าจะเจอปัญหาเดียวกัน

    McMaster ใช้คำว่าซัมซุงจะถูกเชือดอย่างทารุณ (slaughtered) เพราะผู้ผลิตมือถือท้องถิ่นเข้าใจความต้องการของตลาดในประเทศ และเติบโตอย่างรวดเร็ว

    ประเด็นต่อมา เขาพูดถึงบทสัมภาษณ์เก่าที่พูดถึง Android ที่ไม่ต้องผูกกับกูเกิล โดยขยายความเพิ่มเติมว่าตอนนี้มีผู้ใช้ Android ราว 1.5 พันล้านคน และตัวเลขนี้สามารถขยับไปได้ถึง 5 พันล้านคนในอนาคต การเติบโตของ Android ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน

    Cyanogen มองว่าด้วยยอดผู้ใช้งาน 5 พันล้านคน มีที่ว่างพอสำหรับ Android ประมาณ 2-3 สายพันธุ์ ที่มีผู้ใช้อย่างน้อย 200-300 ล้านคน (ส่วน Google Android มีผู้ใช้ 2-3 พันล้านคน) หนึ่งในนั้นมี Xiaomi และเขามั่นใจว่า Cyanogen จะสามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ถ้าสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่มีคนใช้ประมาณ 500 ล้านคน เราจะสามารถต่อยอดธุรกิจได้อีกมาก

    McMaster บอกว่า Android ในปัจจุบันเป็นแค่ "เปลือก" (shell) เพื่อส่งผ่านไปยังบริการของกูเกิล สมมติว่าเราเปิด Google Now แล้วสั่งให้เล่นเพลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือบริการของกูเกิลจะค้นหาเพลง แล้วส่งเพลงจาก Google Play Music มาเล่นบนเครื่องเรา แนวทางแบบนี้ของกูเกิลไม่เปิดโอกาสให้บริการเพลงออนไลน์อื่นๆ อย่าง Spotify ทำงานได้แบบเดียวกัน แต่ Cyanogen ต้องการช่วยให้บริการแบบ Spotify เข้าถึงเคอร์เนลระดับล่างได้มากขึ้น

    เขายืนยันว่ายังรักบริการของกูเกิล ตัวเขาเองใช้บริการของกูเกิล และคาดว่าผู้ใช้ Cyanogen ก็จะใช้บริการของกูเกิลกันต่อไป แต่ Cyanogen ต้องการสร้างทางเลือกให้ผู้ใช้ สร้างแพลตฟอร์มเปิดที่ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะใช้ Google Maps หรือ Here Maps ที่เข้าถึงระบบได้ในระดับเดียวกัน

    สุดท้าย เขาปฏิเสธไม่ตอบคำถามเรื่องไมโครซอฟท์ลงทุนใน Cyanogen โดยบอกว่าจะแถลงข่าวเรื่องการรับเงินลงทุนรอบใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

    ที่มา - Business Insider

    หมายเหตุ: Cyanogen เพิ่งเปลี่ยนโลโก้ใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ด้วยครับ - Cyanogen

    [​IMG]

    Cyanogen, Android, Samsung, Mobile
     

แบ่งปันหน้านี้