เมื่อวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นวัน International Open Data Day ที่เมืองต่างๆ ทั่วโลกจะจัดงานเพื่อรณรงค์ถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ โดยภาครัฐและเอกชน 8 องค์กรร่วมกันจัดงาน ที่ห้องสมุด TCDC เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ที่ต้องอยู่ในรูปแบบที่นำไปใช้งานต่อได้ง่าย ในงานสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, NECTEC, ไมโครซอฟท์, Asian University, และ Change Fusion ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจที่จะพัฒนา Open Data ร่วมกัน นอกจากนี้คุณโอม ศิวะดิตถ์ National Technology Officer จากไมโครซอฟท์ยังแสดงตัวอย่างว่าทำไมข้อมูลเปิดจึงมีความสำคัญ ในปี 1854 เกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงลอนดอน และด้วยความเข้าใจทางการแพทย์ที่ยังจำกัดเป็นอย่างมากในตอนนั้น ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าโรคระบาดนี้เกิดจากสาเหตุใด และจะหยุดมันได้อย่างไร แม้จะขาดความรู้ที่จำเป็นนายแพทย์ John Snow และ Henry Whitehead ได้พูดคุยกับผู้ป่วย เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแผนที่จุดที่ผู้ป่วยเริ่มล้มป่วยลง จนสุดท้ายสามารถหาต้นตอได้ว่าศูนย์กลางของการระบาดน่าจะมาจากปั๊มน้ำแห่งหนึ่งบนถนน Broad เขาเสนอให้เทศบาลเมืองปิดปั๊มนี้เสีย และช่วยชีวิตคนจากโรคร้ายได้เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างการต่อสู้กับโรคร้ายของนายแพทย์ John Snow เป็นการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีิวิต ในโลกทุกวันนี้ที่จริงแล้วเรามีข้อมูลอยู่เป็นจำนวนมากถูกจัดเก็บโดย หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ไปจนถึงข้อมูลส่วนตัวของเราเอง ข้อมูลจำนวนมากอาจจะไม่ใช่ข้อมูลเปิด ที่เราสามารถเข้าถึงได้ แต่ข้อมูลที่จัดเก็บโดยภาครัฐและเอกชนจำนวนมากก็สามารถเปิดให้คนทั่วไปเข้าถึง ข้อมูลภาครัฐอาจจะเป็นข้อมูลที่รัฐต้องจัดเก็บอยู่แล้วเพื่อทำงานต่างๆ เมื่อเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาหาความรู้ สร้างบริการใหม่ๆ จากข้อมูลเหล่านั้น ข้อมูลเปิดจะทำให้คนที่มีไอเดียว่าจะใช้ข้อมูลอย่างไรจึงเกิดประโยชน์ไม่ต้องเก็บข้อมูลซ้ำไปเรื่อยๆ เช่น สถิติคนไข้ในโรงพยาบาลที่อาจจะช่วยให้คนสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดสรรช่วยเหลืองบประมาณหรือเงินบริจาคได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันข้อมูลเปิดก็อาจจะมาจากภาคเอกชน เช่น โครงการ Gutenberg เปิดให้ดาวน์โหลดหนังสือที่หมดลิขสิทธิ์แล้วจำนวนมหาศาลกว่า 48,000 เล่ม เป็นฐานข้อมูลเริ่มต้นให้กับบริการอีบุ๊กสำคัญหลายรายที่ให้บริการในทุกวันนี้ ไมโครซอฟท์เชื่อว่านอกจาก Open Data จะช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และกระบวนการทำงานในระดับมหภาค เช่น การตัดสินใจของหน่วยงานรัฐจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแล้ว Open Data ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจจากการสร้างงานและธุรกิจใหม่ๆ รายงานการศึกษา Open Data 500 ในปี 2014 พบว่ามีบริษัทถึง 500 บริษัทใช้ข้อมูลเปิดในการพัฒนาสินค้าหรือบริการ ในจำนวนนี้เป็นบริษัทใหม่ที่อายุน้อยกว่าสามปีถึง 60 บริษัท ข้อมูลเปิดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล คาดว่าภายใน 2020 ข้อมูลเปิดและการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับบริษัทในสหภาพยุโรปได้ถึงสองแสนล้านยูโร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจโลกได้ถึงสามล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไมโครซอฟท์จึงทำงานร่วมกับชุมชน และภาครัฐ สร้างความตระหนักให้กับชุมชนที่จะเข้ามาร่วมกันสร้างบริการใหม่ๆ จากข้อมูลเปิดและอาศัยพลังประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ พร้อมกับทำงานภาครัฐเพื่อให้การสนับสนุนบริการเหล่านี้เพื่อบริการประชาชนของตัวเอง นอกจากนี้บริการที่มีศักยภาพจะต่อยอดไปเป็นธุรกิจ ไมโครซอฟท์ก็ยังมีโครงการให้การสนับสนุนต่อเนื่องไปยัง BizSpark เช่นในไทยที่ทีมงาน ASK DOM ได้รับสนุนไปก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการสนับสนุนหน่วยงานวิจัยให้สามารถเข้าใช้งานทรัพยากรของไมโครซอฟท์ได้ การสนับสนุนที่ไมโครซอฟท์ให้กับชุมชนนักพัฒนาโดยตรงอย่าง BizSpark เปิดให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถเข้าถึงทรัพยากรบนบริการคลาวด์ และซอฟต์แวร์สำหรับพัฒนาที่หลากหลาย รวมมูลค่าถึงสามแสนบาทต่อปี ทุกวันนี้มีธุรกิจมากกว่าหนึ่งแสนรายใช้งาน BizSpark เพื่อพัฒนาบริการใหม่ๆ ใน 165 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การมีส่วนร่วมของไมโครซอฟท์ไม่ใช่เพียงการสนับสนุนให้ชุมชนสามารถใช้งานแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ได้เท่านั้น แต่ไมโครซอฟท์ยังทำงานร่วมกับชุมชนและแฟลตฟอร์มอื่นๆ องค์กรมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรฐานเหล่านั้นจะทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ได้เป็นอย่างดี เพื่อการทำงานร่วมกันจะเกิดประโยชน์สูงสุด Microsoft, Open Data, Advertorial