ผมได้รายงานข่าวผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยไปครบทั้ง 3 ค่ายเรียบร้อย (เอไอเอส, ดีแทค และทรู) สำหรับข่าวนี้จะเป็นการสรุปเปรียบเทียบในภาพรวม ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบปี และแนวโน้มในปีปัจจุบันครับ ส่วนแบ่งจำนวนผู้ใช้งาน เริ่มด้วยส่วนแบ่งจำนวนผู้ใช้งานก่อน ภาพรวมนั้นยังมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น โดยของทุกค่ายล้วนเป็นบวกในทุกไตรมาส ยกเว้นดีแทคในไตรมาสที่สองและสาม ที่มีจำนวนเลขหมายลดลง ส่งผลให้ตลอดปีดีแทคมีลูกค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 66,000 เลขหมายเท่านั้น เอไอเอส 44.3 ล้านเลขหมาย (เป็นระบบสัมปทาน 900MHz อยู่ 3.5 ล้านเลขหมาย) ดีแทค 28 ล้านเลขหมาย ทรูมูฟเอช 23.6 ล้านเลขหมาย ส่วนแบ่งผู้ใช้งานเอไอเอสจึงยังคงเป็นเบอร์หนึ่งต่อไป ส่วนทรูมูฟก็มีส่วนแบ่งไล่ดีแทคขึ้นมาแต่เพียงเล็กน้อย รายได้เสียงที่ลดลง แต่อินเทอร์เน็ตเข้ามาชดเชย เรื่องนี้คนแถวนี้คงรู้ว่ามันต้องเป็นแบบนี้อยู่แล้วมาหลายปี แต่ปีนี้ภาพชัดเจนมากขึ้น เพราะรายได้จากการให้บริการเสียงทุกค่ายล้วนลดลง ขณะเดียวกันรายได้ที่เข้ามาชดเชยคือบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ภาพรวมรายได้จากการให้บริการมีการเติบโตอยู่เล็กน้อย เอไอเอส บริการเสียง -14% อินเทอร์เน็ต +34% รวม +1.2% ดีแทค บริการเสียง -16% อินเทอร์เน็ต +23% รวม -2.6% ทรูมูฟเอช บริการเสียงเพิ่มเพียงเล็กน้อย อินเทอร์เน็ต +24% รวม +0.7% มหกรรมขายมือถือไม่เอากำไร การเร่งผลักดันลูกค้าให้ไปอยู่บนคลื่น 2.1GHz ซึ่งช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถคิดต้นทุนในระบบใบอนุญาตที่ต่ำกว่าระบบสัมปทาน เป็นสิ่งที่ทั้งสามค่ายมือถือเร่งกระตุ้นตลอดปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเอไอเอสนั้นมีความกดดันเนื่องจากสัมปทานคลื่น 900 จะสิ้นสุดในปี 2558 นี้ด้วย (ดีแทคหมดปี 2561) อย่างไรก็ตามเมื่อลูกค้าต้องย้ายคลื่นความถี่ มือถือที่ใช้ก็ต้องรองรับคลื่น 2.1GHz ด้วย จึงเป็นที่มาของมหกรรมขายมือถือในราคาต่ำแบบไม่เน้นกำไรของทั้งสามผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการขายสมาร์ทโฟนสั่งผลิตในแบรนด์ของตนเอง หรือเป็นการนำสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นมาขายลดราคาแลกกับการติดสัญญา ในตารางด้านล่างนี้เป็น รายได้-ต้นทุน ของการขายโทรศัพท์มือถือทั้งสามค่ายมือถือ ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าการตลาด จึงเชื่อได้ว่าทุกค่ายล้วนขายขาดทุนทั้งสิ้น การแข่งขันกันขายมือถือราคาถูกนี้น่าจะยังรุนแรงในปี 2558 เนื่องจากเอไอเอสเองก็เปิดเผยตัวเลขว่า แม้มีลูกค้าย้ายมาอยู่บนระบบ 2.1GHz แต่อุปกรณ์ลูกค้าที่ไม่รองรับนั้นยังมีอยู่มาก ต้องใช้วิธีโรมมิ่งสัญญาณกลับมา เท่ากับว่าผู้ให้บริการยังต้องขายมือถือจูงใจอีกมากพอสมควร นอกจากการแข่งขันขายอุปกรณ์เพื่อให้รองรับคลื่นใหม่แล้ว แนวโน้มที่ทั้งสามค่ายมือถือออกมาคล้ายกัน คือการผลักดันบริการเสริมเพื่อต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์, แอพ หรือการให้บริการ WiFi บรอดแบนด์เสริมความหนาแน่นของคลื่น ซึ่งดูแล้วก็ล้วนเป็นประโยชน์ต่อเราๆ ผู้บริโภคครับ AIS, Financial Report, Telecom, Thailand, DTAC, TrueMove H