เปิดวิสัยทัศน์ เกศรา มัญชุศรี ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนที่ 12 ของไทย เผย 3 แผนงานเน้นต่อยอดเพิ่มบจ. สร้างสินค้าใหม่ และขยายฐานนักลงทุน แม้ “เกศรา มัญชุศรี” จะเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) คนที่ 12 ในช่วงที่ภาวะบ้านเมืองไม่ปกติทั้งสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เจ้าตัวไม่ได้รู้สึกกดดัน กลับมองเป็น “ความท้าทาย” ในการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเดินสายออกไปโรดโชว์เพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างชาติ 6 ครั้ง ทั้งฮ่องกง สิงคโปร์มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เชื่อว่ายังมีนักลงทุนต่างประเทศที่สนใจลงทุนในประเทศไทย และสามารถเข้าลงทุนได้ โดยที่ไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องกฎอัยการศึก เพราะภาคเอกชนไทยมีความแข็งแกร่ง มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยม ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ ก็มีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับ 2-3% หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศแผนงานทางด้านเศรษฐกิจใน 3 ระยะที่ชัดเจน “ การซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มากขึ้น สิ่งที่ทางคสช.ทำอยู่เป็นบวกต่อตลาดหลักทรัพย์ เพราะนักลงทุนต่างชาติก็เหมือนนักลงทุนทั่วไปที่ดูทิศทางในการลงทุน หากเห็นว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ดีขึ้น ก็ต้องเข้ามาลงทุน ส่วนนักลงทุนที่ยังติดเงื่อนไขเรื่องกฎอัยการศึกนั้น เราก็ต้องค้นหานักลงทุนที่ไม่ติดเงื่อนไขนี้ เพราะนักลงทุนในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน” ดันตลาดหุ้นไทยเชื่อมโยงตปท. สำหรับเป้าหมายในการทำงานในตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์นั้น เธอบอกว่า แผนงานที่สำคัญซึ่งเป็นเคพีไอ หรือ ตัวชี้วัดผลงานที่สำคัญ คือ การผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์มีความเป็นสากลมากขึ้น ทั้งการเชื่อมโยงสินค้า บริการ กับตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น รวมถึงการเป็นช่องทางการระดมทุนที่สำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียน หลังจากที่มีการเปิดประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี นอกจากนั้นยังต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้บจ.ไทยมีรายได้จากต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันที่บจ.ไทยมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศอยู่ในระดับ 40% นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดทำมาตรฐานต่างๆ ให้มีความเป็นสากล ทั้งระบบการซื้อขาย ระบบการชำระบัญชี รวมถึงการสนับสนุนให้บจ.เข้าไปอยู่ในการจัดอันดับระดับโลกเพิ่มขึ้น ทั้ง ดัชนีความยั่งยืน หรือการจัดอันดับด้านบรรษัทภิบาลตามมาตรฐานสากล ปูทางเพิ่มวอลุ่มแตะแสนล้านบาท “ ตัวชี้วัดผลงานที่สำคัญ คือต้องทำให้ตลาดตลาดหลักทรัพย์ มีความเป็นสากลมากขึ้น และรักษาอันดับที่ดีอยู่แล้วให้คงอยู่ต่อไป เช่นการเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียน ส่วนแผนงานในด้านต่างๆ ก็ยังคงไว้ตามเดิมและเชื่อมั่นว่าจะทำได้ตามแผนที่วางไว้ทั้ง มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ของบจ.เข้าใหม่ที่ตั้งไว้ 2.1 แสนล้านบาท การเพิ่มนักลงทุนรายใหม่ 8 หมื่นราย ส่วนเป้าหมายมาร์เก็ตตลาดรวมนั้น ต้องรอประชุมกับคณะกรรมการ (บอร์ด)ตลาดหลักทรัพย์ในเร็วๆ นี้” เธอกล่าวต่อว่า ในด้านการมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย หรือวอลุ่มนั้น ตลาดหลักทรัพย์ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้ฐานวอลุ่มของตลาดหุ้นไทยได้เปลี่ยนไปจากอดีต โดยมีฐานการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น จากเดิมฐานอยู่ในระดับ 3 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันฐานวอลุ่มน่าจะอยู่ในระดับ3-4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามตลาดหลักทรัพย์มีแผนที่จะเพิ่มวอลุ่มการซื้อขายให้สูงกว่านี้ หรือให้อยู่ในระดับเฉลี่ย 1 แสนล้านบาทต่อวันภายในปี 2568 ซึ่งแผนงานหลังจากนี้ก็จะต้องปูทางเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ส่วนวอลุ่มของตลาดทีเฟ็กซ์ตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะเห็นวอลุ่มในระดับ 1 แสนสัญญาต่อวัน หลังจากมีการปรับลดขนาดสัญญาของเซ็ท 50 ฟิวเจอร์ส และปีหน้าจะเห็นวอลุ่มเฉลี่ยเกิน 1 แสนสัญญา เปิดแผน”ต่อยอด-สร้างใหม่-ขยายฐาน” สำหรับแผนงานการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์จะมุ่งเน้น 3 ด้านคือ 1. การต่อยอด โดยจะต่อยอดสินค้าที่มีในปัจจุบันให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มจำนวนบจ. เพิ่มหุ้นและตราสารการลงทุน หนุนเอสเอ็มอีให้เข้ามาระดมทุนตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น โดยในอนาคตอาจจะมีเอสเอ็มอีอินเด็กซ์ ซึ่งจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันทำงาน 2.การสร้างใหม่ คือการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆให้ครบวงจรมากขึ้น และ 3. การขยายฐานผู้ลงทุน เน้นปลูกฝังความเข้าใจในเรื่องการลงทุนว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต “ตลาดหลักทรัพย์ยังไม่มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเสนอต่อคสช. ส่วนเรื่องการปฏิรูปตลาดนั้น ยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ และยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึง งานของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงนี้คือการพัฒนาตลาดไปสู่ระบบสากล และให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด” Tags : ตลาดหุ้น • เกศรา มัญชุศรี • วิสัยทัศน์