ปลัดคลังส่งสัญญาณผู้แทนคลังนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจพิจารณาลาออก ค้านห้าม "ปลัด-อธิบดี" นั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่กำกับดูแล การปรับเปลี่ยนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจขณะนี้ กำลังเป็นที่จับตามองว่าจะมี ประธานและกรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจใดบ้าง ที่ประสงค์จะยื่นใบลาออกเอง หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารประเทศแล้ว ขณะที่บอร์ดรัฐวิสาหกิจทั้งหมดถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทุกแห่งว่ามีคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแห่งใดแจ้งขอลาออกจากตำแหน่ง "ตามขั้นตอนของการเปลี่ยนตำแหน่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ คือต้องมีการแจ้งประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จากนั้น จึงแจ้งมายังสคร.จากนั้นสคร.ก็ต้องรายงานให้ตนทราบ ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีกรรมการรัฐวิสาหกิจแห่งใดขอแจ้งลาออก" นายรังสรรค์ กล่าว ในส่วนคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่มีคนของกระทรวงการคลัง เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการนั้น ตนจะเรียกมาหารือถึงความเหมาะสมว่า ควรหรือไม่ที่จะนั่งในตำแหน่งต่อ เพราะคณะกรรมการส่วนใหญ่จะถูกแต่งตั้งในรัฐบาลที่ผ่านมา จึงควรที่จะเปิดโอกาสให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้แต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมเข้าไปหรือไม่ ค้าน"ปิยสวัสดิ์"ห้ามขรก.นั่งบอร์ด สำหรับข้อเสนอของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่ให้ปลัดกระทรวงและอธิบดีทุกส่วนราชการเข้าไปนั่งเป็นประธาน และกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ที่มีบทบาทในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง นายรังสรรค์ เห็นว่า รัฐวิสาหกิจถือเป็นกิจการของรัฐ การส่งบุคลากรของกระทรวงเจ้าสังกัดเข้าไปเป็นกรรมการหรือประธานก็เพื่อเข้าไปดูแลผลประโยชน์ของรัฐ ถือเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสม "การที่กระทรวงต้นสังกัดส่งบุคลากรของตัวเองเข้าไปนั่งในตำแหน่งกรรมการหรือประธานในรัฐวิสาหกิจที่ตัวเองกำกับ ถือเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสม เพราะถือเป็นการดูแลผลประโยชน์ของรัฐ ไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อเข้ากระเป๋าตัวเอง และ การนั่งเป็นประธานหรือกรรมการ เราก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินใจเพียงคนเดียว แต่จะมีกรรมการจากส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยตัดสินใจด้วย" นายรังสรรค์ กล่าว นายรังสรรค์ ยังได้ยกตัวอย่างว่าตำแหน่งประธานรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ควรมีประธานที่มาจากกระทรวงต้นสังกัด โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐนั้น ควรที่จะมีคนจากกระทรวงการคลังเข้าไปนั่งในตำแหน่งประธาน เพราะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถตรงกับหน้าที่มากที่สุด สำหรับกรณีการลาออกของผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องการลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวแต่อย่างใด เท่าที่ตรวจรายชื่อคณะกรรมการสลากกินแบ่งฯ พบว่า มีบางส่วนน่าจะต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะเป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากพรรคการเมืองรัฐบาลก่อน "ไพรินทร์"แจงเปลี่ยนบอร์ด ต้องประชุมผู้ถือหุ้น นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่ คสช. ต้องการที่จะให้มีการปรับเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ว่ากรณีของปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ยึดหลักการในการกำกับดูแลกิจการที่ดี การเปลี่ยนแปลงบอร์ดจะเป็นไปตามวาระและมีการประชุมผู้ถือหุ้นในการสรรหากรรมการเข้ามาแทน ยกเว้นกรรมการในบอร์ดจะลาออก และให้คณะกรรมการที่เหลืออยู่สรรหาบุคคลใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน "ในภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ คสช. ถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ที่มีอำนาจเต็มในการปกครอง สามารถที่จะดำเนินการปรับเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ตามที่เห็นเหมาะสมได้อยู่แล้ว การปรับเปลี่ยนบอร์ดขึ้นอยู่กับทางคสช.ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร "นายไพรินทร์ กล่าว รองโฆษกคสช.ชี้บอร์ดรสก.ต้องทำงาน พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษก คสช.กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งในการโยกย้ายคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ แต่หัวหน้า คสช.จะพูดเสมอว่ากรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ควรจะเป็นคนที่มีความสามารถอย่างแท้จริง สามารถทำประโยชน์ให้กับองค์กรและประเทศได้ เป็นคนที่สังคมสามารถยอมรับได้ "ไม่ใช่เอาคนที่ทำงานสบายๆ คอยมาเกาะกินเอาเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม" ขอประชุมผู้ถือหุ้นก่อนเปลี่ยนบอร์ด แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน มีอยู่ 2 ประเภท คือรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ในส่วนของ กฟผ. ทาง คสช. สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้เลย เนื่องจากแต่งตั้งโดยมติครม. แต่สำหรับ ปตท.และ ปตท.สผ. ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการได้ หากการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามขั้นตอนปกติ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะทั้งปตท.และปตท.สผ.ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่นักลงทุนให้ความสนใจ และจับตามอง เป็นพิเศษ ปตท.จ่ายผลตอบแทนบอร์ดปีละ 51 ล้านบาท สำหรับกรรมการปตท. ที่มีอยู่ 15 คน กรรมการหลายคนถูกส่งมาจากฝ่ายการเมือง ดังนั้น หากต้องมีการปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ บุคคลที่ส่งมาจากฝ่ายการเมืองก็น่าจะถูกปรับออกก่อน รวมทั้งกรรมการในส่วนที่เป็นบริษัทลูกของปตท.ด้วย ทั้งนี้ในส่วนของปตท.กรรมการยังได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 30,000 บาท และเบี้ยประชุมเฉพาะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมครั้งละ 50,000 บาท โดยจำกัดค่าประชุมไม่เกินปีละ 15 ครั้ง ส่วนประธานกรรมการจะได้รับสูงกว่ากรรมการ 25% โดยในปี 2556 บอร์ด ปตท.ทั้ง 15 คน ได้รับเบี้ยเลี้ยงและค่าตอบแทนรวมประมาณ 51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีจำนวน 41ราย โดยเฉลี่ยได้รับคนละประมาณ 2-4 ล้านบาท สำหรับเบี้ยประชุมในส่วนของบริษัทลูกบางบริษัทก็ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยเฉพาะบริษัทที่มีผลประกอบการและรายได้ดี เช่นเดียวกับโบนัสซึ่งจะได้รับก็ต่อเมื่อบริษัทมีกำไร อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในบอร์ดรัฐวิสาหกิจปัจจุบันผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการ มาจากทุกภาคส่วนไม่เฉพาะแต่คนทางการเมือง ยังมีผู้คนที่เข้ามาเป็นบอร์ดที่มาจากหน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ กรรมการบางส่วนก็ต้องยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ แต่บางส่วนก็เป็นผู้ที่ฝ่ายการเมืองส่งเข้ามา เป็นการตอบแทนบุญคุณ ดังนั้นหากจะมีการเปลี่ยนกรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจจากนี้ไป ก็ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เข้ามาด้วย Tags : รัฐวิสาหกิจ • คสช. • รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ • ปลัดกระทรวงการคลัง • อธิบดี • บอร์ด • ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ • พลังงาน • ไพรินทร์ ชูโชติถาวร • ปตท.