ผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการ Mac OS X และ iOS จากค่ายแอปเปิล มักจะยืนยันถึงความปลอดภัยของระบบปฏิบัติการของตนที่เหนือชั้นกว่าระบบปฏิบัติการ Windows และ Android อยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่จากข้อมูลล่าสุดที่ปรากฎดูเหมือนจะทำให้ผู้ใช้กลุ่มนี้หน้าเสียกันไปไม่น้อย เว็บไซต์ GFI รายงาน จากฐานข้อมูลของ National Vulnerability Database (NVD) ของสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute of Standards and Technology - NIST) พบว่า ปี 2014 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ผู้ใช้ต่างต้องเผชิญกับปัญหาช่องโหว่ด้านความปลอดภัยอย่างหนัก คือพบช่องโหว่ด้านความปลอดภัยตลอดทั้งปี 7,038 จุด หรือเฉลี่ย 19 จุดต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปี 2013 และปีก่อนๆ เกือบเท่าตัว โดยในช่องโหว่ด้านความปลอดภัยทั้งหมดในปี 2014 นี้ พบว่ามีช่องโหว่ระดับร้ายแรงอยู่เป็นจำนวน 1,705 จุด หรือคิดเป็น 24% ของจำนวนช่องโหว่ทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าในปี 2013 เล็กน้อย ขณะที่เมื่อจำแนกว่าในบรรดาช่องโหว่ด้านความปลอดภัยทั้งหมดมีแหล่งที่มาจากไหน ก็พบว่า กว่า 83% มาจาก third-party app หรือบรรดาแอพจากนักพัฒนาภายนอก ขณะที่ในส่วนของระบบปฏิบัติการ มี 13% และส่วนของฮาร์ดแวร์เพียงแค่ 4% เท่านั้น สิ่งที่น่าแปลกใจคือเมื่อเจาะลึกเป็นรายระบบปฏิบัติการ กลับกลายเป็นว่าระบบปฏิบัติการของค่ายแอปเปิลอย่าง Mac OS X และ iOS มีจำนวนช่องโหว่ด้านความปลอดภัยสูงที่สุด อยู่ที่ 147 จุด และ 127 จุดตามลำดับ ตามมาด้วยที่ 3 ซึ่งน่าแปลกใจอยู่เช่นกัน อย่าง Linux ที่ 119 จุด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่องโหว่ที่สร้างความโกลาหลไปทั่วโลกอย่าง Heartbleed ทั้งนี้ผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows อาจจะเกทับกันไม่ได้เต็มปากนัก เพราะเมื่อมาดูในส่วนของแอพพลิเคชันแบบแยกย่อยตามรายชื่อแล้ว Internet Explorer หรือ IE เบราว์เซอร์ที่ขาดไม่ได้ของผู้ใช้ Windows (เพื่อใช้ในการดาวน์โหลดเบราว์เซอร์ตัวอื่นๆ มาติดตั้ง) กลายเป็นแชมป์แห่งปัญหาช่องโหว่ด้านความปลอดภัย มีจำนวนช่องโหว่ทั้งหมดอยู่ที่ 242 จุด แถมในจำนวนนี้ยังเป็นช่องโหว่ระดับ "ร้ายแรง" อยู่ถึง 220 จุด เห็นแบบนี้แล้วผู้ใช้ก็คงต้องระมัดระวังตัวกันมากขึ้น เพราะนอกจากปัญหาข่องโหว่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ระบบปฏิบัติการที่เคยคิดกันว่าปลอดภัยกว่าคนอื่นก็ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปครับ ที่มา - National Vulnerability Database via GFI Mac OS X, Internet Explorer, iOS, Linux,Operating System, Security, Windows