iLaw เตือน การแชท Facebook และอีเมลในประเทศไทย อาจไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 17 กุมภาพันธ์ 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]
    เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2558 ในงานประชุม "เวทีประชาสังคมไทยว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต" ที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น อานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้กล่าวในหัวข้อเรื่อง ผลกระทบทางการเมืองต่อบรรยากาศโลกออนไลน์

    ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 จนถึงวันที่ทำข้อมูล (13 ก.พ. 58) พบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 แบบไม่รวมคดีแอบอ้างเบื้องสูงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จำนวน 32 คน แบ่งเป็นคดีที่เกิดในโลกออนไลน์ 26 คน ออฟไลน์ 6 คน โดยกรณีออนไลน์นั้นเกิดบนเว็บ Facebook, Youtube, 4shared รวมถึงอีเมล ซึ่งกรณีอีเมลนั้นน่าสนใจ เพราะเป็นการส่งลิงก์เว็บไซต์ให้ชาวต่างชาติ มีคำถามว่ารัฐเข้าถึงอีเมลซึ่งเป็นการสื่อสารของคนสองคนได้อย่างไร ในอนาคต ถ้ามีกฎหมายให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงอีเมลได้ง่าย คนอาจถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เยอะขึ้น

    หลังรัฐประหาร คสช.ออกประกาศให้คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 27 พ.ค. 57 ถูกพิจารณาโดยศาลทหาร ซึ่งมีโทษสูงกว่าศาลพลเรือน มีการพิจารณาลับ ไม่มีสิทธิอุทธรณ์-ฎีกา และไม่มีการสืบเสาะซึ่งอาจช่วยลดโทษ ทางอานนท์ ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ความผิดออนไลน์แม้จะโพสต์ก่อนมีประกาศดังกล่าวแต่หากสาธารณะยังเข้าถึงได้ ก็ถือเป็นความผิดต่อเนื่องทำให้ต้องขึ้นศาลทหาร อาทิ กรณี ทอม ดันดี ซึ่งถูกดำเนินคดี 112 จากการปราศรัยก่อนรัฐประหารนั้นเดิมคดีอยู่ศาลพลเรือน แต่ต่อมาในเดือน มิ.ย. 57 พบคลิปปราศรัยดังกล่าวในอินเทอร์เน็ต ก็ถูกย้ายไปศาลทหาร

    อีกเรื่องที่น่ากังวลคือเรื่องการจับกุมและดำเนินคดีทั้งที่หลักฐานอ่อน อย่างกรณีจารุวรรณ สาวโรงงาน ซึ่งถูกฟ้อง 112 จากข้อความใน Facebook โดยเธอได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจเพื่อชี้แจงว่า Facebook ถูกแฮก แต่กลับถูกส่งตัวจากราชบุรีมาฝากขังที่กรุงเทพฯ พร้อมชายอีกสองคน พวกเขาถูกฝากขังอยู่ 80 กว่าวัน ก่อนอัยการจะไม่สั่งฟ้อง โดยในวันจับกุมนั้นสื่อหลายฉบับลงข่าวทั้งชื่อ-ที่อยู่ของเธอ แต่พอได้รับการปล่อยตัวและไม่มีการดำเนินคดีกลับไม่เป็นข่าว

    นอกจากนี้ อานนท์ยกตัวอย่างคดี 112 ที่จังหวัดอุบลราชธานี กรณีมีชายคนหนึ่งถูกดำเนินคดี 112 จำนวน 9 ข้อความ จำคุก 30 ปี แต่สารภาพลดโทษเหลือ 15 ปี โดยทนายเปิดเผยว่า วิธีที่หน่วยงานความมั่นคงใช้คือ ใช้โปรไฟล์ Facebook เป็นสาวสวย เข้ามาขอเป็นเพื่อน (add friend) เริ่มต้นก็คุยเรื่องสัพเพเหระก่อนจะชวนคุยการเมือง ซึ่งนี่ตรงกับที่ก่อนหน้านี้ตำรวจเคยออกข่าวว่า "เราจะไปเป็นเพื่อนกับท่าน" จึงอยากเตือนผู้ใช้ให้ระมัดระวังเวลาจะพูดอะไร แม้แต่ข้อความแชทใน Facebook หรืออีเมลก็ไม่ปลอดภัยแล้ว

    ที่มา - ประชาไท

    Chat, E-mail, Facebook, iLaw, Law, Privacy, Thailand
     

แบ่งปันหน้านี้