บลจ.เมย์แบงก์ เร่งศึกษาการออกกองทุนขายในกลุ่มอาเซียน รับยังติดประเด็นเรื่องภาษีของไทย ลั่นหากจะออกนักลงทุนต้องได้ประโยชน์ พร้อมเปิดกองทุนเพิ่มไตรมาสแรกปีนี้ ลุยลงทุนสินทรัพย์หลายประเภท ชูผลตอบแทนสม่ำเสมอ-ชนะเงินเฟ้อ มอง “หุ้นตลาดเกิดใหม่” น่าสนใจสุดปีนี้ ส่วนไทยต้องลุ้นรัฐเบิกจ่ายงบลงทุนได้ทันตามเป้าหรือไม่ นายตรีพล ภูมิวสนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อเสนอขายข้ามประเทศในกลุ่มอาเซียน(CIS) ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่วมกับ บลจ.เมย์แบงก์ ในต่างประเทศทั้งมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยในส่วนของประเทศไทยยังติดปัญหาด้านภาษีซึ่งไม่ถือเป็นรายได้จากกองทุนรวมและจะถูกหักภาษีเงินได้เหมือนกับดอกเบี้ยจากการฝากเงินซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องดูด้วย โดยบริษัทจะคำนึงถึงประโยชน์ของนักลงทุนเป็นหลัก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการลงทุนในกองต่างประเทศแล้วกองทุนดังกล่าวมีต้นทุนทางภาษีน้อยกว่าการเสียค่าธรรมเนียมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน บริษัทก็จะดำเนินการจัดตั้งเพื่อเปิดขายต่อไปในอนาคต “ปัจจุบันมาเลเซียเสียภาษีจากการลงทุนส่วนนี้อยู่แล้ว แต่ของไทยเองคงต้องมาดูก่อนเพราะปัจจุบันการลงทุนผ่านกองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) ส่วนใหญ่จะเสียค่าธรรมเนียม 2 ต่อ คือในส่วนของ บลจ.ไทย และบลจ.ต่างประเทศที่เอาเงินเข้าไปลงทุน ตรงนี้คงต้องเทียบกันว่าภาษีที่เสียกับค่าธรรมเนียมมันคุ้มกันหรือเปล่า” นายตรีพล ยังกล่าวอีกว่า บริษัทยังเตรียมออกกองทุนใหม่อีก 2 กอง คือ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศและกองทุนหุ้นไทย โดยในส่วนของกองทุนต่างประเทศคาดว่าจะเปิดขายได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2558 นี้ โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทที่แตกต่างกันในกองทุนเดียว ซึ่งได้รับความนิยมมากในต่างประเทศซึ่งเครือเมย์แบงก์ได้เริ่มเปิดขายแล้วในมาเลเซีย โดยสินทรัพย์เหล่านี้ถึงจะผันผวนแต่เมื่อรวมอยู่ในพอร์ตเดียวกันแล้วจะช่วยลดความผันผวนได้ เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทมักจะขึ้นลงไม่เหมือนกัน แต่จะมีจุดตัดค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนที่เราตั้งไว้ตัดกันพอดี ดังนั้นกองทุนประเภทนี้จะสามารถลดความผันผวนของนักลงทุน แต่จะเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอและต้องชนะอัตราเงินเฟ้อ โดยที่ความเสี่ยงจะคุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนกองทุนหุ้นไทยนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดขายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ “นอกจากกองทุนใหม่แล้ว บริษัทอยากแนะนำให้นักลงทุนหันมาให้ความสำคัญกับกองทุนอีทีเอฟ เนื่องจากกองทุนอีทีเอฟนั้นจะสามารถช่วยนักลงทุนกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนจากการลงทุนได้เช่นกัน เพราะแต่ละตลาดจะมีปัจจัยต่างกัน ซึ่งถ้านักลงทุนใช้กองทุนประเภทนี้เป็นก็จะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของตน” นายตรีพล กล่าวเสริมว่า ปีนี้บริษัทมองหุ้นตลาดเกิดใหม่และญี่ปุ่นจะมีความน่าสนใจมากสุด ส่วนหุ้นไทยเองยังคงน่าสนใจที่จะลงทุนแต่จะต้องจับตาดูเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบการลงทุนได้ทันหรือไม่ ขณะที่การลงทุนในยุโรป และสหรัฐยังคงต้องจับตาดูเพราะสหรัฐหลังจากหยุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี) ก็ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในยุโรปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามสำหรับหุ้นไทยนั้นอาจมีการปรับลดน้ำหนักการลงทุนลงเล็กน้อย เนื่องจากมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐอาจล่าช้าออกไปเหมือนในอดีตที่มักจะมีปัญหาและไม่สามารถเบิกจ่ายงบได้ทัน Tags : นายตรีพล ภูมิวสนะ • เมย์แบงก์ • อาเซียน