ผู้นำธุรกิจทั่วโลก37% คาดเศรษฐกิจโลกดีขึ้นช่วง12เดือนหน้า มองสหรัฐฯหนุนนำเศรษฐกิจโลกได้มากกว่าจีน บริษัทที่ปรึกษา ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ (พีดับบลิวซี) เผยผลการสำรวจผู้นำภาคธุรกิจ 1,300 คนและนำมาเปิดเผยในการประชุมวันแรกของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปรากฏว่าผู้นำภาคธุรกิจเพียง 37% คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นในช่วง 12 เดือนหน้า ลดลงจากปีที่แล้วที่มีผู้บริหาร 44% มองว่าเศรษฐกิจช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น ขณะที่ผู้นำภาคธุรกิจ 17% มองว่าเศรษฐกิจจะเลวร้ายลงในปีนี้ ซึ่งจำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากเมื่อปีที่แล้วที่ผู้นำภาคธุรกิจเพียง 7% คาดว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงในช่วง 12 เดือนหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อถามเกี่ยวกับมุมมองด้านธุรกิจของตัวเอง บรรดาหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร 39% กล่าวว่ามั่นใจมากว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนหน้า อันเป็นตัวเลขที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว เพราะได้แรงหนุนจากการที่บรรดาผู้บริหารมองเห็นโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนบริษัทเข้าสู่ภาคธุรกิจใหม่ๆ ทั้งนี้ แม้วิกฤติการเงินโลกผ่านพ้นมา 7 ปีแล้ว แต่ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ๆ ยังเป็นสิ่งที่สร้างความวิตก ตั้งแต่ความวุ่นวายในตะวันออกกลางไปจนถึงการสู้รบในยูเครน เพราะการเผชิญหน้าเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ และยิ่งสร้างความวิตกกังวลแก่หลายฝ่ายเพิ่มเติมจากความผันผวนในตลาด รวมถึงการทะยานขึ้นของเงินฟรังก์สวิส นายเดนนิส นัลลี ประธานพีดับบลิวซีอินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่ามีความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจอยู่พอสมควร และปีนี้อาจมีปัจจัยแง่ลบมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ต่อเนื่องมาจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามยังมองว่าสหรัฐจะสามารถหนุนนำเศรษฐกิจโลกในช่วง 12 เดือนหน้า ได้มากกว่าจีน อันนั้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่สหรัฐนำหน้าจีนในเรื่องนี้ ทั้งยังถูกมองว่าเป็นตลาดต่างแดนที่สำคัญที่สุดในแง่การเติบโต เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น 7% จากช่วงก่อนวิกฤติการเงิน อีกทั้งยังมีการสร้างงานมากกว่าการลดตำแหน่งงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้บรรดาผู้บริหารมองเห็นลู่ทางในการลงทุนในสหรัฐ ที่ยังเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยี ในประเด็นของอุปสรรคขวางกั้นการเติบโตนั้น กฎระเบียบที่มากเกินในภาครัฐ ถูกระบุว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างไม่มีการควบคุม และการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณสมบัติครบถ้วน สำหรับการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมนั้น จะมีประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์แห่งฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนี นายกรัฐมนตรีชาร์ลส์ มิเชลแห่งเบลเยียม นายกรัฐมนตรีไฮดาร์ อัลอาดีแห่งอิรัก และนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ รวมอยู่ในบรรดาผู้นำภาครัฐ ภาคธุรกิจ เจ้าของรางวัลโนเบล และนักการธนาคารชั้นนำ 2,500 คนที่เข้าร่วมการประชุมปีนี้ ในส่วนของจีนนั้น นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง จะเข้าร่วมการประชุม ถือเป็นนายกฯจีนคนแรกตั้งแต่ปี 2552 ที่ร่วมการประชุมนี้ โดยนายหลี่จะพยายามฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อเศรษฐกิจจีนและบรรดาความวิตกเกี่ยวกับการเติบโตของจีนที่ชะลอตัวลง จับตาอีซีบีออกมาตรการคิวอี การประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมมีขึ้นท่ามกลางเมฆหมอกที่ปกคลุมเศรษฐกิจโลก ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพิ่งปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ขณะที่หลายฝ่ายกำลังจับตาไปที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ว่าจะจัดทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) หรือไม่ ล่าสุดนายเอเซิล เวเบอร์ อดีตประธานธนาคารกลางเยอรมนี เตือนอีซีบีไม่ให้เคลื่อนไหวมากเกินไป เพราะรัฐบาลของประเทศต่างๆ ควรมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ "อีซีบีเป็นได้เพียงส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหายุโรป ผมเห็นว่าอีซีบีไม่ควรทำมากเกินไป เพราะยิ่งทำมาก ก็มีแรงจูงใจให้รัฐบาลต่างๆ ทำน้อยลง และปัญหาคือหากเดินหน้าซื้อเวลาไปเรื่อยๆ และไม่มีการใช้เวลาไปกับการปฏิรูปก็ต้องถามตัวเองว่ากำลังหาทางออกอย่างถูกต้องหรืออย่างดีที่สุดหรือไม่" นายเวเบอร์ กล่าว กรรมการอีซีบีแนะโฟกัสระยะยาว นายอีวาลด์ โนวอทนี กรรมการสภาบริหารของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่าตลาดและผู้กำหนดนโยบายไม่ควรให้ความสำคัญมากเกินไปกับผลการประชุมนโยบายของอีซีบีในวันนี้ (22 ม.ค.) นายโนวอทนี ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมอีซีบี โดยกล่าวต่อที่ประชุมยูโรมันนีในเวียนนา ว่า "เจ้าหน้าที่ธนาคารและผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญกับมุมมองในระยะยาวมากกว่าที่จะตื่นเต้นมากเกินไปกับข่าวเพียงวันเดียว" เขากล่าวเสริมว่า ธนาคารกลางที่แข็งแกร่งสามารถยุติภาวะเงินเฟ้อ แต่เป็นการยากลำบากมากกว่าที่จะต่อสู้กับภาวะเงินฝืดเหมือนกับที่เกิดในญี่ปุ่น ผลผลิตน้ำมันรัสเซียลดล้านบาร์เรล/วัน นายอาร์คาดี วอร์โควิช รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซียเปิดเผยในวันนี้ว่า ผลผลิตน้ำมันของรัสเซียอาจลดลงสูงสุดถึงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่รัสเซียไม่มีแผนที่จะปรับลดการผลิตร่วมกับโอเปก นายวอร์โควิชปฏิเสธที่จะปรับลดการผลิตน้ำมันร่วมกับกลุ่มโอเปก แม้ราคาน้ำมันดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีก็ตาม ซึ่งรัสเซียสามารถปรับสมดุลงบประมาณที่ระดับราคาน้ำมันใดๆ ซึ่งเขาคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน ...................... บีโอเจเดินหน้ากระตุ้นศก. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) แถลงว่ายังคงดำเนินนโยบายกระตุ้นทางการเงินครั้งใหญ่ต่อไป และขยายโครงการเงินกู้ที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ภาคธนาคารเพิ่มการปล่อยกู้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% บีโอเจตัดสินใจที่จะยังคงเพิ่มฐานเงินหรือเงินสด/เงินฝากในบีโอเจในอัตราต่อปีที่ 80 ล้านล้านเยน (6.76 แสนล้านดอลลาร์) ผ่านทางการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์เสี่ยง บีโอเจได้ขยายเวลาสำหรับโครงการเงินกู้ 2 โครงการออกไปอีก 1 ปี ขณะที่โครงการ ดังกล่าวจะหมดอายุในเดือนมี.ค.นี้ โดยโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ ปล่อยกู้มากขึ้น นอกจากนี้ บีโอเจยังเพิ่มวงเงินของหนึ่งในโครงการเงินกู้ดังกล่าวอีก 3 ล้านล้านเยนเป็น 10 ล้านล้านเยนด้วย ในรายงานทบทวนรายไตรมาสสำหรับการคาดการณ์ในระยะยาวนั้น บีโอเจได้ปรับเพิ่ม คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับปีงบประมาณหน้าที่จะเริ่มขึ้นในเดือนเม.ย. แต่ได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงสู่ 1.0% จาก 1.7% ที่คาดไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนซึ่งส่วน ใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงในตลาดโลก บีโอเจ ยังปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณ 2558 และประกาศขยายขนาดโครงการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ เพื่อที่บีโอเจจะได้หลีกเลี่ยงคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า บีโอเจอยู่นิ่งเฉย ในขณะที่การดิ่งลงของราคาน้ำมันส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นร่วงลงออกห่างจากเป้าหมายมากยิ่งขึ้น นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุมบีโอเจว่า "อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคจะชะลอตัวลงในช่วงนี้ โดยเป็นผลจากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน ทั้งนี้ มีการตั้งสมมุติฐานว่า ราคาน้ำมันจะทรงตัวที่ระดับปัจจุบัน และจะปรับขึ้นปานกลางในอนาคต ซึ่งนั่นหมายความว่าผลกระทบจากการดิ่งลงของราคาน้ำมันจะบรรเทาลงในอนาคต และถ้าหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง เราก็คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคจะพุ่งขึ้นแตะ 2% ในช่วงเวลาที่อยู่ในปีงบประมาณ 2558" "อย่างไรก็ดี สมาชิกคณะกรรมการบีโอเจบางคนคาดการณ์แนวโน้มราคาในเชิงระมัดระวังมากกว่านี้" บีโอเจ ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณ 2558 ที่เริ่มขึ้นในเดือนเม.ย.นี้ลงสู่ 1.0% จาก 1.7% ที่คาดไว้เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว แต่บีโอเจได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณ 2559 สู่ 2.2% จาก 2.1% ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายบีโอเจยังคงเชื่อว่าญี่ปุ่นจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% Tags : เศรษฐกิจโลก • ผู้นำธุรกิจ • สงคราม • ตลาดเงิน • สหรัฐฯ • อีซีบี • คิวอี • น้ำมัน • รัสเซีย • บีโอเจ