แบงก์ชาติรับค่าบาทแข็งค่าเร็ว จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินโลก เตือนผู้ประกอบการทำป้องกันเสี่ยงค่าเงิน ย้ำเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด ดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ ด้านสแตนชาร์ดฯ ฟันธง"อีซีบี"ทำคิวอี หลังได้ไฟเขียวไม่ผิดกฎหมาย หวังพยุงเศรษฐกิจยุโรปฟื้น ตลาดเงิน-ตลาดทุนจับการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันนี้ (22 ม.ค.) หลังจากก่อนหน้านี้ตลาดค่อนข้างผันผวนจากการคาดการณ์ว่าอีซีบีจะออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดเงิน ถือว่าเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเกิดจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยราวกลางปีนี้ แต่จากปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้ธนาคารกลางตั้งเดินหน้ามาตรการผ่อนคลายต่อไป ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ ปิดตลาดวานนี้ แข็งค่าขึ้นมากสุดที่ระดับ 32.57 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดคาดหวังการประกาศคิวอีของ อีซีบี เช่นเดียวกับ สกุลเงินตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ในเอเชียแข็งค่าขึ้น นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี เคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ แต่ 3-4 วันหลังนี้ เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว สาเหตุหลักจากปัจจัยภายนอก โดยค่าเงินภูมิภาคและเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นตามเงินเยน ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่อ่อนลง มีส่วนทำให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นด้วย เพราะนักวิเคราะห์มองว่า ไทยในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ น่าจะได้ประโยชน์จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่น่าจะเกินดุลมากขึ้น และปริมาณการซื้อดอลลาร์ของบริษัทน้ำมันก็น่าจะชะลอลง "หลังธนาคารกลางสวิส ประกาศยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนขอบล่างที่ผูกค่าเงินฟรังก์สวิสกับยูโร ทำให้เยนแข็งขึ้น จากเงินทุนที่ไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยช่วงที่ตลาดมีความผันผวน และอีกส่วนเป็นผลจากราคาน้ำมันที่โน้มต่ำลงต่อเนื่อง" นางจันทวรรณ กล่าว น้ำมันหนุน"ดุลบัญชี"บวกดันบาทแข็ง แม้ช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ แต่นักวิเคราะห์บางกลุ่ม มองเศรษฐกิจไทย จะฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล จากการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ปัจจัยดังกล่าว จะเป็นปัจจัยบวกสำหรับค่าเงิน ซึ่งสอดคล้องไปกับสกุลเงินภูมิภาคอื่นๆ ที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ปัจจัยบวกเหล่านี้คงต้องติดตามต่อไปว่า จะมีความต่อเนื่องหรือไม่ เมื่อมีข่าวมากระทบ เช่นเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลง และเศรษฐกิจจีนก็ชะลอตัวมาก ส่งผลให้ค่าเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าลง ส่วนคำถามที่ว่า ท่ามกลางประเทศใหญ่ที่กำลังเล่นสงครามค่าเงินโดยการทำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) เพื่อกดให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่าลง สถานการณ์นี้จะกระทบต่อไทยอย่างไรนั้น นางจันทวรรณ กล่าวว่า ความผันผวนของตลาดการเงินในขณะนี้ เกิดจากความแตกต่างของทิศทางนโยบายการเงิน (Policy Divergence) นโยบายการเงินสหรัฐ กำลังปรับเข้าสู่ภาวะปกติหลังดำเนินมาตรการคิวอี มานาน ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปและญี่ปุ่นกลับใช้ นโยบายการเงินที่กระตุ้นมากขึ้น คาด"คิวอี"ยุโรปกระทบบาททางอ้อม นางจันทวรรณ กล่าวว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมของทางยุโรป เป็นความพยายามที่จะดึงให้เศรษฐกิจยูโรโซนหลุดพ้นจากภาวะถดถอย ท่ามกลางภาวะที่เครื่องมือปกติใช้ไม่ได้ผล ซึ่งคงไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนอย่างจงใจ เพราะโดยรวมแล้วยุโรปค้าขายระหว่างกันเองมากกว่าค้าขายกับภายนอกกลุ่ม และประเทศที่น่าจะได้ประโยชน์จากค่าเงินยูโรที่อ่อน คือ เยอรมัน ในฐานะผู้ส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก ก็คัดค้านการทำมาตรการคิวอีมาโดยตลอด แต่แน่นอน ที่การทำคิวอีของยุโรปย่อมมีผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับค่าเงินบ้าง "ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับไทย คือ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะมีผลกระทบมากหรือน้อยคงขึ้นอยู่กับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลักดังกล่าว ในเบื้องต้น คาดว่าผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายจาก คิวอี ของยุโรปหรือญี่ปุ่นในครั้งนี้ อาจไม่เหมือนกับ คิวอี ของสหรัฐ ซึ่งทำในช่วงที่ทุกประเทศในโลกต่างดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ทำให้เกิดภาวะที่เงินทุนวิ่งหาแหล่งลงทุนที่จะให้ผลตอบแทน (Search for Yield) แต่ครั้งนี้นักลงทุนจะเลือกลงทุนแบบระมัดระวังมากขึ้น และให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน" นางจันทวรรณกล่าว จี้สร้างภูมิคุ้มกันสงครามค่าเงิน สำหรับคำถามที่ว่าไทยควรวางตัวอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว นางจันทวรรณ กล่าวว่า เราควรมุ่งเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง พร้อมปรับตัวรับกับความผันผวน ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทุกๆ ประเทศประสบเหมือนกัน ที่ผ่านมาไทยมีภูมิคุ้มกันจากการที่โครงสร้างเศรษฐกิจมีความสมดุล ไม่ได้พึ่งพาภาคเศรษฐกิจใดภาคหนึ่งจนเกินไป และไม่ได้ใช้จ่ายเกินตัว การเดินหน้าเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน โดยปรับปรุงกระบวนการผลิต ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน R&D ล้วนต้องอาศัยการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งเวลานี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะลงทุนจากที่ว่างเว้นมานาน ส่วนบทบาทของ ธปท. คงจะทำหน้าที่เป็นหน้าด่านที่คอยติดตามภาวะตลาดใกล้ชิด โดยจะดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพและสอดคล้องไปกับปัจจัยเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น ขณะที่ภาคเอกชน ควรบริหารจัดการความเสี่ยง เพราะความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ (Hedging) ชี้ไอเอ็มเอฟหั่นศก.โลกตามคาด ด้าน นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท. กล่าวว่า การปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจโลกของไอเอ็มเอฟ เป็นการปรับประมาณการตามช่วงเวลาปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท. ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว มีข้อสังเกตว่าการปรับประมาณการของไอเอ็มเอฟ ยังคงแสดงให้เห็นการเติบโตที่แตกต่างกันของประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว (Multi Speed Growth) โดยการปรับลดประมาณการดังกล่าวมาจากประเทศกลุ่มยูโร ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย ขณะเดียวกันมีการปรับเพิ่มประมาณการของสหรัฐ เงินบาทมีเสถียรภาพแกว่ง2ทิศทาง สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไปจากการประเมินของไอเอ็มเอฟ คือ การได้รับแรงสนับสนุนการฟื้นตัวของราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและแนวโน้มนโยบายการเงินที่มีความผ่อนคลายมากขึ้นของยุโรปและญี่ปุ่น การให้น้ำหนักกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการเติบโตของจีน การได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงและความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitical Tensions) ที่ปรับเพิ่มขึ้นของรัสเซีย ส่วนสหรัฐต้องติดตามแรงสนับสนุนของอุปสงค์ในประเทศจากนโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนคลาย ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แรงฉุดจากภาคการคลังที่น้อยลงต่อไป ส่วนนางอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไทย กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทยช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีเสถียรภาพค่อนข้างดี โดยมีการเคลื่อนไหวในทั้ง 2 ทิศทาง เช่น ในช่วงที่ผ่านมา แม้มีเงินไหลออกจากนักลงทุนในตลาดหุ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร แนวโน้มบาทแข็งจากราคาน้ำมันร่วง สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะถัดไป มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทำให้ประเทศกลุ่มที่นำเข้าน้ำมันเป็นหลัก เช่น ไทย ได้ประโยชน์ตรงนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อดุลการค้าที่เกิดดุล ทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นได้ ขณะเดียวกันยังมีแนวโน้มว่าจะมีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศไทยจำนวนมาก "หากเศรษฐกิจไทยดีขึ้นตามลำดับ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเห็นการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่เป็นเอฟดีไอ(การลงทุนโดยตรง) จากญี่ปุ่น ซึ่งเวลานี้ค่อนข้างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นเลือกเราเป็นฐานการลงทุนในกลุ่มอาเซียน เพื่อกระจายต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ตรงนี้จึงมีโอกาสที่จะเห็นค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นได้ด้วย" นางอุสรา กล่าว นอกจากนี้ยังมีความเห็นไปได้ที่จะมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านักลงทุนต่างชาติมียอดการลงทุนสุทธิในตลาดหุ้นไทยลดลงต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นมา เชื่อว่าเงินทุนเหล่านี้มีโอกาสไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยได้อีกครั้ง สแตนชาร์ดคาดศก.โต6% ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ เชื่อว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 6% หากการลงทุนของภาครัฐมีความชัดเจน ช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนตามได้ และมีการลงทุนแบบเอฟดีไอเข้ามาจริงตามที่คาดการณ์เอาไว้ ทั้งหมดนี้ก็จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตขึ้นชัดเจน นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ลดลง ยังช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย เพราะถ้าจำได้ในปี 2529 ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันปรับลดลงกว่า 67% และยืนในระดับต่ำต่อเนื่องทั้งปี ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีถัดมา คือ ปี 2530 สามารถเติบโตได้ถึง 9.5% ทั้งที่ปีก่อนหน้าเติบโตเพียง 5.5% โดยที่ปัจจัยต่างๆ ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นราคาน้ำมัน จึงเชื่อว่า ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงรอบนี้เศรษฐกิจไทยก็น่าจะได้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน มั่นใจประชุมรอบนี้"อีซีบี"ทำคิวอี ด้าน นางซาร่าห์ เฮวิน หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ทวีปยุโรป ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยของธนาคารมีความเชื่อ 100% ว่า อีซีบี จะตัดสินใจทำมาตรการคิวอีในการประชุมวันที่ 22 ม.ค.นี้ หลังจากที่ศาลยุติธรรมได้พิจารณาแล้วว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวสามารถทำได้ ทำให้มีแนวโน้มว่า อีซีบี อาจใช้มาตรการเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศในกลุ่มสมาชิก ซึ่งจะช่วยให้ความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศสมาชิกที่มีความเสี่ยงลดลง ฝ่ายวิจัยของธนาคารฯ ยังเชื่อด้วยว่า อีซีบี อาจใช้วงเงินในการดำเนินมาตรการดังกล่าวราว 5 แสนล้านยูโร ซึ่งถ้าเงินส่วนนี้สามารถใช้ได้หมดภายใน 1 ปี ก็เชื่อว่า จะทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรพ้นจากภาวะต่ำสุดได้โดยเร็ว และจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย นางอุสรา กล่าวต่อว่า หากอีซีบีทำมาตรการคิวอีจริง และมีผลทำให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปปรับตัวดีขึ้น เชื่อว่าเงินที่ไหลออกจากยุโรปมาลงทุนในประเทศแถบเอเชีย รวมถึงไทย น่าจะลดน้อยลงด้วย เพราะเงินเหล่านี้ อาจไหลกลับไปลงทุนในกลุ่มประเทศยุโรปได้ แต่ต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อไป Tags : อีซีบี • ตลาดเงิน • ตลาดทุน • คิวอี • ผันผวน • ธปท. • บาทแข็ง • น้ำมันร่วง