ห่วงปัจจัยภายนอกฉุดศก.'ไอเอ็มเอฟ'หั่นคาดการณ์จีดีพีโลก

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 21 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ครม.-คสช." เกาะติดเศรษฐกิจ ประเมินทิศทางดีขึ้น แต่ห่วงบาทแข็ง-ทุนไหลเข้า กระทบส่งออก

    ด้าน "มีชัย" ชี้นโยบายรัฐยังไม่เอื้อเกษตรกร-คนมีรายได้น้อย นายกฯลั่นพร้อมใช้อำนาจทุกอย่างที่มีช่วยเหลือเกษตรกรยกระดับรายได้ ขณะไอเอ็มเอฟหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลก เตือนรับภาวะผันผวนในตลาดเงิน

    การประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธานวานนี้ (20 ม.ค.) ซึ่งเป็นนัดแรกในปีนี้ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น แต่กังวลปัจจัยภายนอก ส่งผลกระทบต่อค่าเงินและส่งออก

    พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจ

    พล.ต.สรรเสริญ ระบุว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษา คสช. เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)กำลังจะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) โดยจะมีการประชุมวันที่ 22 ม.ค.นี้ ซึ่งอาจจะทำให้เงินทุนไหลเข้าไทยมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทไทยในขณะนี้ก็มีการแข็งค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆ เช่น เงินยูโรและเงินเยนซึ่งอาจจะกระทบกับการส่งออก ดังนั้นรัฐบาลจึงควรหามาตรการดูแล

    อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ระบุว่าหน่วยงานเศรษฐกิจต้องเตรียมพร้อมอยู่แล้ว

    สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ผลมากเพียงใด นายสมคิดระบุว่าให้ดูจากการจัดเก็บรายได้โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยหากรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ลดลงก็แสดงว่ากำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือเกษตรกรเพราะมองว่ามาตรการต่างๆในการช่วยเหลือเกษตรกรยังล่าช้าทำให้คนกลุ่มนี้เดือดร้อนจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำลง

    พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อไปว่าในส่วนของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช.กล่าวในที่ประชุมว่าการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผู้ที่จะได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีฐานะปานกลางขึ้นไปถึงระดับสูงโดยประชากรวัยแรงงานที่มีอยู่กว่า 40 ล้านคนมีผู้ที่จะได้ประโยชน์ประมาณ 25 ล้านคน ขณะที่อีก 15 ล้านคนที่เป็นเกษตรกรยังไม่ได้ประโยชน์ชัดเจน

    "ประยุทธ์"พร้อมใช้อำนาจช่วยเกษตรกร

    ยกตัวอย่างเช่นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆคนที่จะได้ประโยชน์ก็ไม่ใช่เกษตรกร จึงอยากให้เร่งรัดการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรด้วย ทั้งนี้หลังจากที่นายกรัฐมนตรีรับฟังข้อเสนอแนะจากที่ปรึกษา คสช.และ ครม.บางคนที่ร่วมแสดงความคิดเห็นแล้วก็ได้สรุปว่าการแก้ปัญหาเกษตรกรเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยพร้อมที่จะใช้อำนาจที่มีอยู่ทั้งหมดในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรและช่วยเหลือให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

    ด้านร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้รายงานแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2558 ให้กับที่ประชุมร่วม ครม. - คสช.รับทราบ โดยสาระสำคัญระบุว่าปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย มี 4 ส่วนสำคัญคือ 1.การใช้จ่ายภาครัฐ 2.การลงทุนภาคเอกชน 3.การบริโภคภาคเอกชน และ 4.การส่งออก

    ไอเอ็มเอฟลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก

    ด้าน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือ 3.5% จากคาดการณ์เดิมเมื่อ 6 เดือนที่แล้วที่ 3.8% และปีหน้าลงเหลือ 3.7% จาก 4% ผลจากแนวโน้มที่แย่ลงในจีน รัสเซีย ยูโรโซน และญี่ปุ่น ประกอบกับกระแสการลงทุนที่ซบเซา การค้าที่ชะลอตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง

    สหรัฐจะยังเป็นจุดสดใสเพียงจุดเดียวในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว และคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 0.5% ด้านยุโรปจะต้องหาทางรับมือปัญหาเงินฝืด เพราะแม้ราคาน้ำมันที่ลดลงและการอ่อนค่าของเงินยูโรช่วยหนุนการเติบโตได้ แต่ยังมีปัญหาที่การลงทุนอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งตลาดเกิดใหม่ยังต้องการสินค้าส่งออกจากยุโรปลดลง ทำให้คาดว่าปีนี้ยูโรโซนจะขยายตัว 1.2% ก่อนขยับเป็น 1.4% ปีหน้า

    ญี่ปุ่นอยู่ในสถานภาพใกล้เคียงยูโรโซนที่ต้องอาศัยการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องรวมถึงมาตรการอื่นเพื่อตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ เพราะมาตรการกระตุ้นของญี่ปุ่นยังไม่ได้ผลมากเท่าที่คิดไว้ ทำให้คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 0.6% และขยับเป็น 0.8% ปีหน้า

    ส่วนการเติบโตของจีนก็จะลดลงไปอีก คาดว่าจะอยู่ที่ 6.8% ปีนี้ หรือลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.3% สำหรับปีหน้าคาดว่าจะขยายตัว 6.3% ผลจากการส่งออกที่ขยายตัวได้น้อยลงและความซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ นายโอลิเวียร์ บลอนชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อบรรดาคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศต่างๆ ในเอเชีย

    ด้านรัสเซียที่เผชิญการคว่ำบาตรกรณีวิกฤติยูเครน ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาน้ำมันที่ดิ่งลง ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัว 3% ปีนี้ ก่อนกลับมาขยายตัว 1% ปีหน้า

    สำหรับสมาชิก 5 ประเทศในอาเซียน อันได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คาดว่าจะขยายตัว 5.2% ปีนี้ และ 5.3% ปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.2%

    เตือนรับความผันผวนจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย

    ไอเอ็มเอฟเตือนว่าความผันผวนอย่างต่อเนื่องในตลาด ส่วนหนึ่งผลจากการที่สหรัฐจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยอันดับให้ดอลลาร์แข็งค่า จะเป็นประเด็นท้าทายรัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ไประยะหนึ่ง แม้ราคาน้ำมันที่ลดลงถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก แต่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ทำให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันที่ใช้เงินสกุลอ่อนกว่า ไม่ได้ประโยชน์มากนัก นอกจากนั้น การค้าที่ชะลอตัวในโลก ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระดับต่ำ และความปั่นป่วนในตลาด จะบดบังผลดีจากราคาน้ำมันดิ่งลง

    "ปัจจัยใหม่ๆ ที่สนับสนุนการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันที่ถูกลง การอ่อนค่าของเงินยูโรกับเงินเยน ล้วนถูกบดบังจากกระแสแง่ลบ รวมถึงผลพวงจากวิกฤติและศักยภาพในการเติบโตระดับต่ำของหลายประเทศ สิ่งเหล่านี้หมายถึงข่าวดีสำหรับผู้นำเข้าน้ำมัน ข่าวร้ายสำหรับผู้ส่งออกน้ำมัน ข่าวดีสำหรับผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ ข่าวร้ายสำหรับผู้ส่งออก ข่าวดีสำหรับประเทศที่เชื่อมโยงกับเงินยูโรและเยน ข่าวร้ายสำหรับประเทศที่เชื่อมโยงกับเงินดอลลาร์" นายบลอนชาร์ด ระบุ

    ไอเอ็มเอฟย้ำว่าประเทศต่างๆ ต้องเดินหน้าปรับโครงสร้าง ปฏิรูป และลงทุน แม้เงื่อนไขต่างๆ ไม่เอื้อ อีกทั้งประเทศต่างๆ ต้องฉวยโอกาสจากราคาน้ำมันที่ดิ่งลง ลดเงินอุดหนุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งแก่งบประมาณในระยะยาว

    นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟยังแนะนำให้ประเทศอุตสาหกรรมคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น สำหรับในกรณีที่ไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้อีกนั้น ไอเอ็มเอฟแนะนำให้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายผ่านแนวทางอื่น

    จีนขยายตัวช้าสุดรอบ24ปี

    วันเดียวกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่าเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว 7.4% เมื่อปีที่แล้ว อันนับว่าต่ำที่สุดในรอบ 24 ปีและต่ำกว่าการคาดหมายของทางการที่ 7.5% แต่สูงกว่าคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 7.3% นายหม่า เจียนตัง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติ กล่าวว่าเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมีคุณภาพมากขึ้น ภายใต้ปรากฏการณ์ใหม่ที่จะถือเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศยังสับสน อีกทั้งพัฒนาการทางเศรษฐกิจยังเผชิญอุปสรรคและการท้าทาย

    การเติบโตทางเศรษฐกิจของปีที่แล้ว นับว่าต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2533 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 3.8% และมีขึ้นในช่วงที่จีนกำลังเผชิญความอ่อนแอในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการค้า รวมถึงราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลง

    แม้การเติบโตลดลง แต่ทางการจีนยึดมั่นกับแนวทางแปลงโฉมเศรษฐกิจไปเน้นให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต แทนที่การลงทุนขนาดใหญ่ ขณะที่ดัชนีหุ้นในตลาดเซี่ยงไฮ้ปิดตลาดพุ่งขึ้น 1.82% วานนี้ (20 ม.ค.) เช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ยินดีกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยนายหลิว หลี่กัง นักเศรษฐศาสตร์ของเอเอ็นแซต กล่าวว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีที่แล้ว ดีกว่าการคาดหมายของตลาดและแทบไม่พลาดเป้า

    ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ คาดว่าแนวโน้มจีดีพีจะลดลง เพราะปลายปีที่แล้วมีการควบคุมหนี้สินรัฐบาลท้องถิ่น และการปรับฐานของตลาดอสังหาริมทรัพย์

    Tags : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • คสช. • พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด • สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ • เศรษฐกิจโลก • ไอเอ็มเอฟ • เฟด • จีน • เศรษฐศาสตร์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้