บีโอไอส่งชื่อบอร์ด4มิ.ย. เร่งอนุมัติ7แสนล้านใน2เดือน คสช.เร่งบีโอไอส่งรายชื่อบอร์ดในวันพุธนี้ คาดใช้เวลาอนุมัติโครงการขอส่งเสริมกว่า 7 แสนล้านบาท ภายใน 2 เดือน พร้อมลดเวลาออกใบ ร.ง.4 เหลือ 30 วัน เดินหน้าโซลาร์รูฟท็อป ขนาดต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ ไม่ต้องขอ ร.ง.4 แย้มปรับบอร์ดรัฐวิสาหกิจในเดือนนี้ วานนี้ (2 มิ.ย.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเป้าหมายอยู่ที่การพิจารณาโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนที่ยังค้างคาจากรัฐบาลก่อน เนื่องจากยังไม่มีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การเร่งอนุมัติการลงทุน เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลให้ทุกอย่างล่าช้าและต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2 ปีนี้ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า การเสนอตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ถือเป็นงานเร่งด่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เสนอตั้งคณะกรรมการบีโอไอ โดยจะต้องส่งรายชื่อให้กับหัวหน้าคสช.พิจารณาภายในวันพุธที่ 4 มิ.ย.นี้ "คาดว่าจะพิจารณาโครงการขอส่งเสริมการลงทุนที่ค้างอยู่กว่า 7 แสนล้านบาทได้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 2 เดือน" สำหรับการแก้ไขปัญหาการขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ ร.ง.4 นั้น จะปรับปรุงลดเวลาการดำเนินงานจากเดิม 90 ลดเหลือ 30 วัน โดยจะตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการภายในสัปดาห์นี้ ศูนย์แห่งนี้จะมีหน้าที่ให้ข้อมูลผู้ที่จะขอตั้งโรงงานว่าจะต้องมีการตรวจสอบอะไรบ้าง เช่น เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม แบบแปลนโรงงาน วิธีกำจัดมลภาวะ เมื่อมีความพร้อมทุกด้านแล้วค่อยมานำเสนอกับกรมโรงงาน และจะมีบุคคลที่สามเข้ามาตรวจสอบให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดเวลาการอนุมัติได้ไม่เกิน 30 วัน ส่วนยอดการขอใบร.ง.4 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานไม่เกินเวลา 90 วัน มีจำนวนประมาณ 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก ด้าน โครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ยังมีข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้ข้อสรุปว่าโครงการโซลาร์รูฟท็อป และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ไม่ถือว่าเป็นโรงงานไม่ต้องขอใบอนุญาต ร.ง.4 ส่วนโครงการที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรงงานจะต้องขอใบอนุญาต ร.ง.4 ตามปกติ ส่วนในเรื่องของการช่วยเหลือเอสเอ็มอีและโอท็อปนั้น จะเร่งหาแหล่งเงินทุน และการช่วยเหลือด้านการตลาด และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น สำหรับเรื่องอ้อยพูดในหลักการส่งเสริมในเรื่องการผลิต และการส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มเติม ส่วนรายละเอียดด้านต่างๆ จะขอให้ทีมเศรษฐกิจดูรายละเอียดก่อน คสช.กำหนดกรอบยุทธศาสตร์5ด้าน นอกจากนี้ คสช. ยังได้เสนอกรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้านให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินงาน ได้แก่ 1.ปรับโครงสร้างการผลิต 2.การส่งเสริมการลงทุน 3.การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ 4.การดำเนินด้านอุตสาหกรรมสีเขียว และ 5.การปรับปรุงองค์กร ทั้งนี้ จะมีงานเร่งด่วนภายในปี 2557 - 2558 มี 10 งานสำคัญ 1.พัฒนาเอสเอ็มอี 2.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 3.การส่งเสริมการลงทุน 4.การเตรียมรองรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่เออีซี 5.การพัฒนาเกษตรแปรรูป 6.อุตสาหกรรมสีเขียว 7.อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 8.ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ 9.การสำรวจพัฒนาแหล่งแร่ และ10.การเพิ่มอุตสาหกรรมรองรับในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน สำหรับงานในภาพรวม จะมีการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ นำเข้าเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่ามาตรฐานสินค้า และมีผลประกอบการสูงขึ้น เพิ่มการส่งออกลดการนำเข้า สนับสนุนงานวิจัยและผลิตพลังงานทดแทน ดูแลสิ่งแวดล้อมการบริการจัดการขยะลดสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี และเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งผลักดันให้มีการจัดการขยะ เพิ่มประสิทธิภาพโรงงานรีไซเคิล รวมทั้งการนำกากที่เหลือมาทำปุ๋ย และพลังงานชีวมวล ส่วนที่เหลือจะกำจัดอย่างถูกต้อง คาดเดือนนี้ปรับบอร์ดรัฐวิสาหกิจ พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (บอร์ด)นั้น ได้มีนโยบายชัดเจนให้บอร์ดทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน โดยเงื่อนไขผู้ที่จะเข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจกำหนดไว้ 3 ประการ 1.จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องงานความมั่นคงและงานเศรษฐกิจ 2.มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละสาขาของกิจการนั้นๆ และ 3.ต้องมีความรู้ความสามารถในแง่การบริหารงานด้านต่างๆขึ้นอยู่กับความจำเป็นของงานแต่ละสาขา "คงจะทราบผลได้ภายในเดือนนี้" Tags : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง • คสช. • บีโอไอ • อุตสาหกรรม • คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน • กระทรวงพลังงาน • รัฐวิสาหกิจ