(รายงาน) เปิดสิทธิประโยชน์เขตศก.พิเศษ เร่งดัน3กิจการลงพื้นที่ปีนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2558 วานนี้ 19 ม.ค.) เร่งออกมาตรการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 มีรายละเอียดดังนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่ากนพ.มีมติเห็นชอบให้ขยายพื้นที่การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 จากเดิมที่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด 6 ด่านชายแดน เพิ่มเป็น 6 จังหวัด โดยให้เร่งรัดการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษในจ.หนองคาย ขึ้นมาอยู่ในการพัฒนาระยะที่ 1 ด้วยเพื่อรองรับโครงการการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟขนาดปานกลางระหว่างไทยกับจีนที่จะเริ่มมีการก่อสร้างในปีนี้ "เป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่าง จ.หนองคาย ไปยังเมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว และทางตอนใต้ของประเทศจีนซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งที่สำคัญของอาเซียน" เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของไทยใน 5 พื้นที่ชายแดน เพื่อให้สามารถก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ในปี 558 ตามมติเดิม คือ แม่สอด อรัญประเทศ ตราด มุกดาหาร และสะเดา สำหรับการพัฒนากิจการเป้าหมายที่จะมีการส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ สศช.ทำงานร่วมกันเพื่อให้การกำหนดกิจการพิเศษที่จะส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีนี้ โดยกิจการพิเศษที่จะมีการส่งเสริมจะให้ประโยชน์สูงสุดเทียบเท่าการลงทุนในพื้นที่จังหวัดที่ยากจนที่สุด 20 จังหวัด และเท่ากับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กิจการพิเศษที่จะมีการส่งเสริม 3 เรื่องในพื้นที่ คือ 1.อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปอาหารสัตว์ โดยในการบริหารสินค้าเกษตรได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปหารูปแบบการดำเนินการผ่านทางสหกรณ์ ที่อยู่ใกล้ชายแดนในการซื้อสินค้าเกษตรจากเพื่อนบ้านมาแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งวางแผนการควบคุมปริมาณนำเข้าไม่ให้กระทบกับสินค้าเกษตรที่ผลิตในประเทศไทย 2.ศูนย์กลางการค้า และศูนย์การกระจายสินค้า 3.ร้านค้าปลอดอากร (duty free) ที่จะมีความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากมีการเดินทางไปมาระหว่างประชาชนของประเทศต่างๆมากขึ้น ทั้ง 3 กิจการนี้ไม่ได้อยู่ในรายชื่อการส่งเสริมของบีโอไอแต่เป็นประเภทกิจการที่ได้มีการหารือกับภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย รวมทั้งบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทย เช่นเครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือสหพัฒนพิบูล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทอมตะ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าเป็นกิจการที่มีศักยภาพในการส่งเสริมส่วนกิจการที่จะทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดได้รวดเร็วคือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการค้าและการส่งเสริมการค้า ด้านแผนการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ประชุมกนพ.เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรในปี 2557 - 2559 แบ่งเป็นงบประมาณปี 2558 จำนวน 45 โครงการวงเงิน 2,562 ล้านบาทซึ่งได้มีการจัดสรรงบประมาณในปี 2558 ไว้แล้ว และในปี 2559 วงเงิน 7,924 ล้านบาทโดยมีโครงการทั้งหมดที่จะดำเนินการ 79 โครงการ ด้านการบริหารจัดการได้กำหนดไว้ใน 2 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการระดับนโยบาย โดยให้ กนพ.เป็นผู้บริหารนโยบายมีฐานะเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในการผลักดันนโยบายเรื่องต่างๆ ส่วนคณะกรรมการดำเนินการในระดับจังหวัดขณะนี้ได้ประสานกับศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งจะสนับสนุนให้สำนักงานพาณิชย์ระดับจังหวัดมีส่วนช่วยในการผลักดันนโยบายนี้ด้วยโดยเฉพาะการจัดทำศูนย์ one stop service ในแต่ละพื้นที่ โดยบีโอไอ สศช. กระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์ดำรงธรรมในการประสานงานในระดับจังหวัด นอกจากนี้ที่ประชุม กนพ.ยังมอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปเร่งรัดการวางกฎเกณฑ์การเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมายังประเทศไทยเพื่อรองรับการทำงานในอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ความสำคัญเรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในลักษณะแรงงานไป-กลับให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสาธารณสุขการศึกษาและความปลอดภัย “สิทธิประโยชน์ตามที่ บีโอไอ ที่ได้รับการพิจารณาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีทั้งหมด 8 ข้อแต่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะได้รับเพิ่มเติมคือจะให้การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 100% หมายความว่าสิทธิที่จะเอามาใช้ในการยกเว้นภาษีไม่เกิน 100% แต่บางกิจการอาจจะมีการให้ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 100% ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ ส่วนกิจการที่อยู่ในประเภทกิจการที่จะสนับสนุนก็จะลดลงมา" นอกจากนี้ในส่วนของการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 50%อีก 5 ปีจะเป็นส่วนที่ให้เพิ่มเติมจากบีโอไอ รวมทั้งการละเว้นภาษีในการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบบางรายการหรือผู้ประกอบการอาจจะไม่ไปขอสิทธิประโยชน์จาก บีโอไอ แต่ขอการสนับสนุนภาษีจากกระทรวงการคลังได้โดยกำหนดว่ากิจการที่ได้รับหย่อนาษีนิติบุคคลจาก 20% เหลือ 10% ใน 10รอบบัญชีนับตั้งแต่ปีภาษีซึ่งเป็นการใช้สิทธิได้ในส่วนของผู้ประกอบการที่ไม่ได้ขอบีโอไอ โดยมีเงื่อนไขว่าเป็นกิจการที่ตั้งใหม่ในพื้นที่ที่ กนพ.กำหนด และจะต้องดำเนินการได้ภายในปี 2560 Tags : เศรษฐกิจพิเศษ • อาคม เติมพิทยาไพสิฐ • สศช. • กนพ. • ด่านชายแดน