ค่าเงินบาทแข็งค่ารอบกว่า 2 เดือน จากเงินไหลเข้าเอเชีย หลังสวิสลอยค่าเงิน ส่งผลนักลงทุนเทขายค่าเงินยูโร ลงทุนประเทศที่เศรษฐกิจดีขึ้น รวมถึงเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและเงินดอลลาร์ ค่าเงินบาทปิดตลาดวานนี้ (19 ม.ค.) ที่ 32.58-32.60 บาทต่อดอลล์ โดยแข็งค่ามากสุดของวันที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังนักลงทุนสนใจค่าเงินภูมิภาคเอเชียมากขึ้นจากวิกฤติยูโร บรรยากาศตลาดเงินวานนี้ (19 ม.ค.) เปิดตลาดที่ 32.54-32.56 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และโดยระหว่างวันค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ที่ 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ และวันนี้ (20 ม.ค.) คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.65 บาทต่อดอลล์ นักค้าเงินจากธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวานนี้ ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนมองว่าตลาดเอเชีย ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะอัตราดอกเบี้ยยังให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ในสวิตเซอร์แลนด์ ส่งผลให้มีเงินไหลเข้าในตลาดเอเชียเพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทรวมไปถึงค่าเงินอื่น ๆในภูมิภาคเป็นที่สนใจของนักลงทุน ซึ่งคงต้องติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้คาดอยู่ที่ 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ คาดบาทแข็งค่าแตะ 32 ขณะที่ นักค้าเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า นักลงทุนกำลังติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ในวันที่ 22 ม.ค. นี้ การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในรอบสัปดาห์หน้า รวมไปถึงการเลือกตั้งของประเทศกรีซ ในวันที่ 25 ม.ค. นี้ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท อยู่ที่ 32.50 -32.60-32.65 บาทต่อดอลลาร์ นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้เปิดตลาดที่ระดับ 32.54-32.55 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะปรับตัวแข็งค่าไปถึงระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน ก่อนจะปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 32.58-32.59 บาทต่อดอลลาร์จากช่วงสิ้นเดือนต.ค. 2557 เนื่องจากมีแรงซื้อกลับเข้ามาในค่าเงินสกุลปลอดภัย ทั้งเยนและสิงคโปร์ รวมถึงประเทศในตลาดเกิดใหม่ โดยระยะปานกลาง มีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าไปได้ถึง 32 บาทต่อดอลลาร์แต่ในระยะสั้นคาดเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.40-32.70 บาทต่อดอลลาร์ "เงินบาทควรอ่อนค่า เพราะว่าเฟดกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย แต่พอสวิสลอยค่าเงิน ทำให้นักลงทุนเทขายค่าเงินยูโร และมีเงินไหลเข้าซื้อฟรังก์สวิส และประเทศที่เศรษฐกิจคาดจะดีขึ้น รวมถึงทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ที่แข็งค่าส่วนหนึ่งเพราะทองด้วย นักลงทุนขายดอลลาร์มาซื้อบาท หากทองยังขึ้นเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่า" ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากกว่าประเทศไทย ดันทุนไหลเข้าเอเชีย-ไทยมากขึ้น ด้าน นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ กล่าวคือ ยุโรปจะยังคงต้องมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพราะเศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัวตามคาด ดังนั้นอาจจะมีผลต่อเงินทุนไหลเข้ามายังเอเชีย รวมถึงไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องติดตามการไหลออกของเงินทุนกลับไปยังสหรัฐด้วย เนื่องจากสหรัฐมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ส่วนแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ คาดว่า จีดีพีจะเติบโตได้ 4% ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึง ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงจะช่วยส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชนในประเทศด้วย สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงประเทศไทยจะสามารถหาประโยชน์จากปัจจัยบวกดังกล่าวได้หรือไม่ และเห็นว่า ราคาน้ำมันในประเทศควรปรับลดลงอีก เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐที่จะเดินหน้าในระยะต่อไปที่จะเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อยุโรปออกมาตรการอัดฉีดเงิน ขณะที่ นายสุชาติ ธนฐิติพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (THAIBMA) เปิดเผยว่า การซื้อขายตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยยังถือว่าอยู่ในภาวะปกติ โดยเงินที่ซื้อขายตราสารหนี้ระยะสั้นเฉลี่ยอยู่วันละ 1,000-2,000 ล้านบาท เท่านั้น ขณะที่เงินลงทุนระยะยาว ยังไหลเข้ามาต่อเนื่องตามปกติ เขากล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยในเรื่องอื่นมากกว่า โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา น่าจะเป็นการที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เลิกผูกค่าเงินกับยูโร จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นโดยรวม และน่าจะทำให้มีการเข้ามาเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนของกลุ่มนักค้าเงินขึ้น ที่ส่งผลต่อค่าเงินมากกว่า "การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวของต่างชาติเองยังมีมาต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าได้ การแข็งค่าขึ้นน่าจะมาจากการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินมากกว่า" นายสุชาติ กล่าว คาดอีซีบีทำคิวอีวงเงิน6แสนล้านยูโร ลอยด์แบงก์แห่งอังกฤษ คาดว่าในการประชุมสัปดาห์นี้ นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะไม่เจาะจงลงไปถึงปริมาณการจัดทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในรูปของการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และคงไม่ให้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับกรอบการทำคิวอี แต่นายดรากีน่าจะย้ำเจตนารมณ์ในการเพิ่มงบดุลของอีซีบีให้ไปอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อปี 2555 อันอาจหมายความว่าถึงเม็ดเงิน 600,000 ล้านยูโรในการทำคิวอี นอกจากนั้น นายดรากียังน่าจะพยายามไม่สร้างความผิดหวังแก่ตลาด ด้วยการระบุว่าอาจเพิ่มงบดุลได้อีกในอนาคตในกรณีที่จำเป็น ด้านธนาคารโซซิเอเต เจอเนอราล ไม่ค่อยแน่ใจว่าหากอีซีบีทำคิวอีแล้วจะประสบความสำเร็จ พร้อมระบุว่าคิวอีของอีซีบีน่าจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าคิวอีของสหรัฐ 5 เท่า ดังนั้นภารกิจหลักจะยังอยู่ที่การปฏิรูปนโยบายการคลังและการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หวังยากอีกเช่นกัน ชี้หากไม่มากพออาจบั่นทอนยูโรโซน ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าแหล่งข่าวเผยว่าอีซีบีกำลังพิจารณาแนวทางแบบลูกผสมในการเข้าซื้อพันธบัตร ด้วยการผสานทั้งการที่อีซีบีเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีการกระจายความเสี่ยงไปทั่วยูโรโซน เข้ากับการที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อบรรเทาความวิตกของเยอรมนี นักลงทุนในตลาดและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าหากมาตรการคิวอีที่ประกาศออกมานั้น ไม่ยิ่งใหญ่ถึงขนาดพิมพ์เงินออกมาอย่างไม่จำกัด ก็ไม่น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซนได้ ทั้งยังอาจบั่นทอนเอกภาพของยูโรโซน แหล่งข่าวเผยว่าสภากำหนดนโยบายของอีซีบีได้หารือสถานการณ์ในปัจจุบันในการรับประทานอาหารเย็นกลางสัปดาห์ที่แล้ว โดยสภากำหนดนโยบายมีความเห็นเป็นเอกฉันท์มากขึ้นว่าอาจจำเป็นต้องทำคิวอี ประเด็นที่ยังเห็นต่างกันคือปริมาณการทำ ทำเป็นแบบปลายเปิดหรือทำไปเรื่อยๆ หรือกำหนดเวลายุติชัดเจน และต้องมีการกระจายความเสี่ยงหรือไม่ แหล่งข่าวอีกคนเผยว่าผู้เชี่ยวชาญอีซีบีกล่าวทำนองว่าน่าจะทำคิวอี 500,000 ล้านยูโร แหล่งข่าวอีกคนเผยว่าทางเลือกหนึ่งคืออีซีบีจะเข้าซื้อพันธบัตรจำนวนหนึ่งและในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะกระจายความเสี่ยงไปในหมู่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ พิจารณาจากสัดส่วนทุน ส่วนการเข้าซื้อพันธบัตรอีกจำนวนหนึ่งจะเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางแต่ละประเทศและต้องแบกรับความเสี่ยงกันไปเอง ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางอังกฤษ ใช้คิวอีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจของยูโรโซนพึ่งพาธนาคารต่างๆ มากกว่าอีกทั้งยังไม่มีระบบการคลังเดียวกัน ทำให้ยากในการใช้คิวอี ธนาคารกลางเยอรมนีคัดค้านอย่างหนักในการทำคิวอี เพราะวิตกว่าเยอรมนีที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป อาจต้องรับภาระความเสี่ยงของประเทศอื่น ทั้งยังวิตกว่าการทำคิวอีจะทำให้ประเทศต่างๆ ไม่ยอมปฏิรูปเศรษฐกิจและพิมพ์เงินออกมาเพื่อแก้ปัญหาแทน Tags : ค่าเงินบาท • ซีไอเอ็มบีไทย • บัณฑิต นิจถาวร • คิวอี • รอยเตอร์ • แหล่งข่าว • ธนาคารกลางสหรัฐ