(รายงาน) สศช.คาดน้ำมันปีนี้เหลือ60-70ดอลล์ แนะรัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างราคา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจไทย จากการปรับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ใน "รายงานเศรษฐกิจปี 2558" ที่จะแถลงในวันที่ 16 ก.พ.นี้ และเตรียมเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อรัฐบาล มีประเด็นดังนี้ สศช.ทบทวนตัวเลขประมาณการราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยเมื่อเดือน พ.ย.2557 สศช.ได้ประมาณการราคาน้ำมันดิบในปี 2558 ไว้ที่ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล ปรับตัวลดลงจาก 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2557 แต่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 จนถึงช่วงต้นปี 2558 ราคาน้ำมันยังปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและมีบางช่วงที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 50 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และประเทศนอกกลุ่มโอเปก (OPEC) การใช้มาตรการคงการผลิตน้ำมันราคาต่ำของซาอุดิอาระเบียและประเทศในกลุ่มโอเปกเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดน้ำมันโดยไม่ลดปริมาณการผลิตน้ำมัน ความต้องการใช้น้ำมันที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงช้าๆ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัว ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในฤดูหนาวต่ำกว่าในปีที่ผ่านมา การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่จะกดดันให้ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป “แนวโน้มราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับต่ำจนถึงกลางปีนี้เป็นอย่างน้อย ซึ่งตัวเลขที่เคยประมาณการไว้อยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็ต้องมาปรับกันอีกครั้งเพราะซัพพลายสูงกว่าดีมานด์ กรอบการคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้อาจจะอยู่ที่ 60 - 70 ดอลลาร์/บาร์เรลโดยจะต้องจับตาดูตัวแปรต่างๆในครึ่งปีหลังต่อไปว่าราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่” สำหรับประเด็นที่ สศช.ให้ความสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ดังนี้ 1.การดูแลต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้ปรับลดลงสอดคล้องกับราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันโดยเฉพาะราคาปุ๋ย เคมีภัณฑ์และเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ส่วนสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาลดลงตามราคาน้ำมัน เช่น ยางพารา รัฐบาลควรเร่งรัดส่งเสริมอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรแปรรูป ควบคู่กับส่งเสริมการใช้ระบบประกันภัยสินค้าเกษตร และการใช้กลไกตลาดในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนในราคาสินค้าเกษตร 2.รัฐบาลควรมีมาตรการในการดูแลการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่จะมีการปรับลดราคาลงและเผชิญกับราคาที่ผันผวนตามสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก 3.การควบคุมราคาสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงเพื่อให้การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคสินค้าของประชาชนคึกคักมากขึ้น เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจในปี 2558 จะได้ผลดีจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนที่จะขยายตัวดีขึ้นการควบคุมราคาสินค้าให้เหมาะสมจะช่วยให้การบริโภคภายในดีขึ้นและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ สศช.ยังได้เสนอแนะให้รัฐบาลใช้ช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำในการเร่งรัดการปรับโครงสร้างพลังงาน โดยอยู่บนหลักการให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเป็นไปตามกลไกตลาด ตลอดจนปรับปรุงกลไกที่ใช้ในการแทรกแซงราคาพลังงานให้มีประสิทธิภาพ เน้นไปที่การสะท้อนต้นทุนที่เป็นธรรมโดยหารือกับทุกภาคส่วน เร่งรัดการดำเนินการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความโปร่งใส เช่น ภาษีสรรพสามิต อัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมและกำหนดความเป็นไปได้ในการใช้อัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ที่สอดคล้องกับต้นทุนในการจัดหาพลังงานในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่สะท้อนต้นทุนการผลิตและการส่งไฟฟ้ามากที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการสนับสนุนการพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตนเอง “การเร่งรัดปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในการเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน ลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยควรเร่งพิจารณาทบทวนราคาแอลพีจีควบคู่ไปกับราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น รวมทั้งดูแลและทบทวนราคาพลังงานทางเลือกให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตเพื่อมิให้การพัฒนาพลังงานทางเลือกก่อให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ และพิจารณาการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย” ................. ยางพารากระทบหนัก ยางพาราได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมากที่สุด แม้จะส่งผลดีต่อภาคเกษตร ทำให้ต้นทุนลดลง เนื่องจากยางสังเคราะห์ออกสู่ตลาดมากขึ้น นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวว่าราคาน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง มีผลให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าทางการเกษตรหลายประเภทลดลง คาดว่าต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรปรับตัวลดลง 8% ต้นทุนภาคเกษตรลดลง แบ่งเป็น ต้นทุนสาขาบริการทางการเกษตร ปรับลดลงมากที่สุด เนื่องจากใช้น้ำมันเป็นต้นทุนสูงถึง 67 % สาขาการประมง มีต้นทุนจากน้ำมันมากถึง 37 % พืชไร่มีต้นทุนจากน้ำมัน 10 % ในขณะที่ปาล์มน้ำมันและผลไม้ มีต้นทุนจากราคาน้ำมัน ที่ 8% นายภูมิศักดิ์ กล่าวว่าสมมติฐานแนวโน้มระดับราคาน้ำมันลดลงจากระดับราคาน้ำมัน 60 ดอลลาร์/บาเรล สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 55 ดอลลาร์/ต่อบาเรล สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ย 0.43% โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนด้นสูงสุดได้ถึง 1.04% การทำสวนปาล์ม0.842% การทำสวนผลไม้ (เงาะ) 0.677%การทำไร่อ้อย 0.653 %การทำนา (ข้าวนาปี) 0.601%การทำไร่ข้าวโพด 0.278%การเลี้ยงสุกร 0.098%การทำไร่มันสำปะหลัง0.075%การทำสวนยางพารา0.065% และการทำสวนมะพร้าว0.042% ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ย 0.88% โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึง 2.96% การทำสวนปาล์ม1.695 %การทำสวนผลไม้ (เงาะ) 1.361 %การทำไร่อ้อย1.314 %การทำนา (ข้าวนาปี) 1.209 %การทำไร่ข้าวโพด0.559 %การเลี้ยงสุกร0.197 %การทำไร่มันสำปะหลัง 0.150 %การทำสวนยางพารา0.130 % และการทำสวนมะพร้าว 0.085% กรณีที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 45 ดอลลาร์/บาเรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ย 1.31% โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึง 3.13% การทำสวนปาล์ม 2.537 %การทำสวนผลไม้ (เงาะ) 2.038 %การทำไร่อ้อย 1.967 %การทำนา (ข้าวนาปี) 1.810 %การทำไร่ข้าวโพด 0.837 %การเลี้ยงสุกร 0.294 %การทำไร่มันสำปะหลัง 0.225 % การทำสวนยางพารา 0.195 % และการทำสวนมะพร้าว 0.128 % จากการประเมินผลเบื้องต้นพบว่า หากต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่เกิดจากน้ำมันลดลง 1% จะส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 0.012% ทั้งนี้ราคาน้ำมันที่เริ่มมีแนวโน้มลดลงจะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต หรือรายได้เพิ่มขึ้นจาก 61,280 บาท/ครัวเรือน เป็น 62,250 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 970บาท หรือ 1.58% ดังนั้นราคาน้ำมันที่ปรับลดลงนี้จะส่งผลให้แนวโน้มรายได้สูงขึ้น สำหรับยางพารา ที่ได้ประโยชน์จากการปรับลดลงของราคาน้ำมันทางด้านต้นทุนการผลิต แต่หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าการที่ราคาน้ำมันดิบลดลงนี้จะส่งผลให้ยางสังเคราะห์ออกสู่ตลาดมากขึ้น ดังนั้นราคายางพาราในตลาดมีแนวโน้มปรับลดลงตามไปด้วย Tags : สศช. • น้ำมัน • เศรษฐกิจ • ตลาดโลก • ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน