ไทยพาณิชย์เล็งโอกาสจีน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 19 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ไทยพาณิชย์" มั่นใจเศรษฐกิจจีนไม่ฮาร์ดแลนดิ้ง เชื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหนุนโอกาสให้ธุรกิจไทยเติบโต

    นายมาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจจีน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน จากเดิมที่เน้นการลงทุนมาเป็นการบริโภคและบริการ ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่เกิดภาวะปักหัวลง หรือฮาร์ดแลนดิ้งแต่อย่างใด และยังถือเป็นโอกาสของไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในภาคบริการ อาหารและภาคเกษตรที่จะสนับสนุนให้เกิดการค้าระหว่างไทย และจีนมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นโอกาสที่จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากกว่าไทยไปจีน เนื่องจากประเทศจีนมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนต่างประเทศ

    “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนก็เป็นโอกาสของไทย มากขึ้นเพราะจีนต้องออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อลดความกดดันต้นทุนที่ไม่ได้อยู่ในระดับต่ำอีกแล้ว และการทุ่มตลาด ทำให้โอกาสที่เงินลงทุนโดยตรงหรือเอฟดีไอจะเข้ามาไทยมากกว่าที่ไทยจะออกไป โดยมองว่าเอฟดีไอของจีนในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มกว่าเท่าตัวจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของเอฟดีไอจากต่างประเทศ ซึ่งอาเซียนเป็นเป้าหมายของจีน ขณะที่เชิงภูมิศาสตร์แล้วไทยเป็นจุดที่รัฐบาลจีนสนใจ เรามองหาโอกาสธุรกิจจีนเข้ามามากขึ้น”

    นอกจากนี้ความร่วมมือระหว่างไทยจีนที่มีมากขึ้นเช่นโครงการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ที่จะเพิ่มเม็ดเงินลงทุนจากจีนมาไทย รวมถึงสิทธิภาษีของไทยและทักษะด้านแรงงานไทยยังน่าสนใจสำหรับนักลงทุนจีนที่จะเข้ามาเพื่อหาฐานผลิตเป็นหลัก ส่วนการมาเป็นห่วงโซ่ธุรกิจนั้นจะมาในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

    ในส่วนของบทบาทธนาคารนั้น หลังจากที่ได้ตั้งสายงานธุรกิจจีนแล้ว เราจะเน้นการบริการทางการเงินให้ลูกค้าจีนตั้งแต่ต้นน้ำ ไปถึงปลายน้ำ ทั้งการค้าระหว่างประเทศ การทำธุรกรรมการเงิน การเป็นที่ปรึกษา และหาพันธมิตรให้ธุรกิจจีน โดยจะร่วมกับสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารและที่ไม่ใช่ธนาคารรวมถึงวาณิชธนกิจของจีนในการดึงนักลงทุนจีนเข้ามา

    “แม้ตอนนี้สินเชื่อจากธุรกิจจีนยังเล็กมาก แต่เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน รวมถึงการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า จะทำให้การขยายสินเชื่อของฝั่งธุรกิจจีนจะดีขึ้นในอนาคต”

    กรณีที่ทางการจีนแต่งตั้งให้ธนาคารไอซีบีซีประเทศไทย เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวน (Clearing Bank) เพื่อทำหน้าที่ชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทยนั้นถือเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน และยังเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยให้มีสภาพคล่องหยวนมากขึ้น จากเดิมที่ใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลัก อาจจะเห็นการกู้เงินโอนเงิน ชำระเงินด้วยสกุลเงินหยวนมากขึ้น ขณะเดียวกันทางการจีนได้ผ่อนคลายให้ธนาคารต่างชาติในจีนมีบทบาทมากขึ้นเช่นให้สำนักงานตัวแทนสามารถทำธุรกรรมเงินหยวนได้ เมื่อครบ 1 ปี จากเดิมที่ ต้องใช้เวลา 3-5 ปี จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี ในส่วนของธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาความจำเป็นจะดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกรรมเงินหยวนหรือไม่

    “เราคงต้องศึกษาก่อนว่าจะทำธุรกรรมเงินหยวนหรือไม่ ลูกค้ามีความต้องการหรือไม่”

    ทั้งนี้ธนาคารได้ ร่วมกับ บริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล คอร์ป หรือ CICC จัดสัมมนาพิเศษให้ความรู้แก่ลูกค้าของธนาคาร ภายใต้หัวข้อ “China Outlook for 2015 and Beyond” วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศจีน รวมถึงแนวโน้มการลงทุน สภาวะตลาดหุ้น และค่าเงินหยวนในปี 2558 โดย นางเหลียง หง ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล คอร์ป ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2558 คาดว่าจะคงมีอัตราเติบโตของ GDP ที่คงที่เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ที่เริ่มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3-4 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 51.0 จาก 50.3 ในไตรมาสแรก

    นอกจากนี้ประมาณการยอดค้าปลีกและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยเป็นจาก 19.6% ในปี 2556 เป็น 15.6% และ 14.0% ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ

    “เศรษฐกิจจีนในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้คือ 7.3% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การส่งออกที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง การส่งออกจะขยายตัวได้สูงกว่าครึ่งปีแรก รวมถึงมาตรการกระตุ้นทางการเงินของธนาคารกลางจีน (PBOC) โดยเฉพาะการลดอัตราเงินสำรองทางกฎหมาย ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ที่ผ่านมา PBOC ได้ลด RRR ลง 0.5% ให้แก่ 2 ใน 3 ของธนาคารพาณิชย์ในเขตเมือง และประมาณ 80% ของธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตร และธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ในระดับท้องถิ่น”

    ทั้งนี้ PBOC ยังอาจลด RRR เพิ่มเติมให้แก่ธนาคารของรัฐอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ และรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมทั้งลดความเสี่ยงด้านการเงิน หลังจากที่ต้องการควบคุมการปล่อยสินเชื่อนอกระบบ หรือ shadow banking นอกจากนี้ PBOC ยังยืนยันว่าจะดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของสินเชื่อ 3) มาตรการกระตุ้นทางการคลังของรัฐบาลจีน ซึ่งรัฐบาลยังมีช่องทางที่จะใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังได้หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเป็นการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างบ้านราคาถูกให้แก่ครัวเรือนรายได้ต่ำและระบบขนส่งทางรางในเขตชนบท เป็นต้น

    ความเสี่ยงที่สำคัญคือภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงิน ความมุ่งหมายในการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ทั้งการลดความร้อนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา และความพยายามลดบทบาท shadow Banking ก่อให้เกิดความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงิน แม้ว่าธนาคารกลางจีนจะผ่อนคลายมาตรการการปล่อยเงินกู้เพื่อการซื้อบ้าน รวมถึงเรียกร้องให้บรรดาธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านให้กับผู้ที่ซื้อบ้านเป็นหลังแรกมากขึ้นแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ความพยายามลดบทบาทของ shadow banking อาจยังก่อให้เกิดกระแสการผิดนัดชำระหนี้และการปล่อยบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ให้ล้มละลายได้ต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และเป็นความเสี่ยงให้เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 7.5% ได้

    Tags : มาณพ เสงี่ยมบุตร • ไทยพาณิชย์ • ธุรกิจจีน • เศรษฐกิจ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้