(รายงาน) "ไอเอ็มเอฟ"ชี้น้ำมันราคาถูก ไม่เพียงพอดันเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เผยเชื่อมั่นผู้บริโภคในเอเชีย-แปซิฟิคลด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนราคาน้ำมันระดับต่ำ ไม่เพียงพอทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ซึ่งสวนทางกับนักวิเคราะห์ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันถูกลง นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่าการดิ่งลงของราคาน้ำมัน และเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของสหรัฐอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกสดใสขึ้นในปีนี้ นางลาการ์ดกล่าวว่า ขณะที่ราคาน้ำมันที่ถูกลงจะช่วยผู้บริโภคทั่วโลก แต่สหรัฐก็อาจจะเป็นเพียงประเทศชั้นนำแห่งเดียวที่สวนกระแสภาวะชะลอตัวของการลงทุนและการอุปโภคบริโภค นางลาการ์ดไม่แน่ใจว่า ราคาน้ำมันที่ดิ่งลง และเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะทำให้ไอเอ็มเอฟมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นหรือไม่ "คำตอบเป็นไปได้ที่สุดก็คือ 'ไม่'" นางลาการ์ดกล่าว ยูโรโซนและญี่ปุ่นเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมากเป็นเวลานาน โดยมีแนวโน้มว่าจะประสบกับวงจรราคาและค่าจ้างที่ดิ่งลง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นแล้วในยุโรป ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟก็คาดว่า เศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่จะชะลอตัวลงด้วย นำโดยภาวะชะลอตัวของจีน ข้อมูลที่ย่ำแย่ในเดือนธ.ค.ของสหรัฐทำให้นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะรอต่อไป โดยอาจจะรอจนถึงเดือนต.ค.เพื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การคุมเข้มนโยบายการเงินก็อาจจะทำให้ตลาดการเงินผันผวนรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยากจน ซึ่งธนาคารและภาคเอกชนได้กู้เงินสกุลดอลลาร์มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ร่วงลง "สร้างแรงกดดันมหาศาลด้านค่าเงิน" ต่อไนจีเรีย,รัสเซีย และเวเนซุเอลา "ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ ราคาน้ำมันก็จะไม่ช่วย" นางลาการ์ดกล่าว นอกจากปัจจัยบวกต่อผู้บริโภคแล้ว นางลาการ์ดระบุว่า ราคาน้ำมันที่ร่วงลงเป็นยิ่งกว่า"โอกาสทอง" สำหรับประเทศต่างๆ ที่จะลดนโยบายเงินอุดหนุนพลังงาน และทุ่มงบรายจ่ายของรัฐบาลมากขึ้นกับการบรรเทาภาวะยากจน โอเปคคาดน้ำมันล้นตลาดแม้สหรัฐฯชะลอผลิต กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ระบุว่า การดิ่งลงของราคาน้ำมันเริ่มที่จะทำให้การผลิตน้ำมันในสหรัฐชะลอตัวลง แต่ภาวะชะลอตัวดังกล่าวจะไม่กระทบภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดโลกมากขึ้นในปีนี้ และความต้องการน้ำมันของโอเปคจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ทศวรรษ โอเปคเปิดเผยรายงานประจำเดือน โดยคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันของโอเปคจะลดลงสู่ระดับ 28.78 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ ลดลง 140,000 บาร์เรลต่อวันจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้และต่ำกว่ากำลังการผลิตในขณะนี้อยู่ที่ระดับมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ราคาน้ำมันดิ่งลงเกือบ 60% นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว เนื่องจากโอเปคตัดสินใจไม่ลดการผลิตในการประชุมเดือนพ.ย.เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง และการดิ่งลงดังกล่าวทำให้ตลาดจับตาการขยายตัวของการผลิตน้ำมันในสหรัฐ โอเปคเชื่อสงครามราคาได้ผล โอเปคระบุในรายงานว่า "การร่วงลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันโลกอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตจากแหล่งอื่นๆ" ในการประชุมของโอเปคนั้น ซาอุดีอาระเบียได้เรียกร้องให้สมาชิกโอเปครับมือกับการขยายตัวของปริมาณน้ำมันจากคู่แข่ง รวมถึงหินน้ำมันของสหรัฐ ซึ่งทำให้ส่วนแบ่งตลาดของโอเปคลดลง รายงานของโอเปคคาดว่า ปริมาณน้ำมันทั้งหมดของสหรัฐจะอยู่ที่ปริมาณเฉลี่ย 13.81 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ เพิ่มขึ้น 950,000 บาร์เรลต่อวันจากปี 2557 อัตราการขยายตัวชะลอลงกว่า 1.05 ล้านบาร์เรลต่อวันที่คาดไว้ในเดือนที่แล้ว แต่สหรัฐยังคงมีสัดส่วนสูงสุดต่อการขยายตัวของปริมาณน้ำมันที่ไม่ใช่จากกลุ่มโอเปค โอเปคไม่ใช่ผู้คาดการณ์ด้านน้ำมันรายเดียวที่คาดว่าปริมาณน้ำมันของสหรัฐจะชะลอตัว โดยรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า การผลิตน้ำมันภายในประเทศจะขยายตัวเพียง 2.2%ในปี 2559 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบหลายปี สำหรับอุปสงค์โดยเฉลี่ยของปีนี้สำหรับน้ำมันดิบของโอเปคคาดว่าจะอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่อยู่ที่ 28.15 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2547 การคาดการณ์อุปสงค์ที่ลดลงของโอเปคในปีนี้ และการผลิตของโอเปคที่เพิ่มขึ้นในเดือนธ.ค. ซึ่งนำโดยอิรักนั้น บ่งชี้ว่า ปริมาณน้ำมันส่วนเกินทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยไม่มีการปรับลดการผลิตทั้งจากโอเปคหรือผู้ผลิตอื่นๆ ขณะที่โอเปคผลิตน้ำมัน 30.20 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนธ.ค.นั้นได้บ่งชี้ว่า จะมีปริมาณน้ำมันส่วนเกิน 1.42 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ และ 2.41 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งปีแรก ราคาน้ำมันดิบวานนี้ (16 ม.ค.) ปรับตัวลดลง หลังกลุ่มโอเปคมีการรายงานผลการคาดการณ์ความต้องการณ์น้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคในปี 2558 ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 28.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าผลการคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้าราว 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2547 คาดเบรนท์ไตรมาสแรกแตะ31ดอลลาร์ นอกจากนั้น ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดัน หลัง Bank of America Merrill Lynch คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาแตะที่ระดับ 31 ดอลลาร์/ต่อบาร์เรล ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 เนื่องจากปริมาณอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์โดยเฉลี่ยในปี 2558 มีแนวโน้มยืนอยู่ที่ระดับ 52 ดอลลาร์/บาร์เรล ปรับลดลงจากผลการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 77 ดอลลาร์/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสมีแนวโน้มยืนอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล จากระดับการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 72 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ในปี 2559 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ ณ ระดับเฉลี่ย 58 ดอลลาร์/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอยู่ที่เฉลี่ย 57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ........................ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเอเชีย-แปซิฟิคลดลง ผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคและความเป็นอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ น้อยกว่าเมื่อ 6 เดือนก่อน ซึ่งความเชื่อมั่นสูงสุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุดของมาสเตอร์การ์ดพบว่า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นน้อยที่สุดในญี่ปุ่น, ไต้หวัน และฮ่องกง ทั้งนี้ ผู้บริโภคมากกว่า 8,000 คนใน 16 ประเทศถูกซักถามเกี่ยวกับมุมมองของพวกเขาต่อภาวะเศรษฐกิจ, การจ้างงาน, รายได้, ตลาดหุ้น และคุณภาพชีวิต และความเชื่อมั่นลดลงจากในช่วง 6 เดือนก่อน ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของธนาคารโลกที่ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วง "หัวเลี้ยวหัวต่อที่น่าวิตก" ความเชื่อมั่นในญี่ปุ่นร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการที่ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น นายปิแอร์ เบอร์เรต์ จากมาสเตอร์การ์ด แอดไวเซอร์ประจำยุโรป, เอเชีย-แปซิฟิค, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กล่าวว่า การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายอาเบะโนมิคส์ และเยนที่อ่อนค่าลง ส่วนความเชื่อมั่นในไต้หวัน และฮ่องกงลดลง เนื่องจากความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นกับจีน ขณะที่ความเชื่อมั่นในจีนมีเสถียรภาพจากเมื่อ 6 เดือนก่อน แม้คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงก็ตาม โดยธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในเดือนนี้ Tags : คริสติน ลาการ์ด • ไอเอ็มเอฟ • น้ำมัน • ราคาถูก • เศรษฐกิจโลก • ยูโรโซน • ญี่ปุ่น • ธนาคารกลางสหรัฐ