(รายงาน) เฟดชี้บ่อน้ำมัน-ก๊าซสหรัฐฯ ส่ออาการแย่หลังราคาร่วงหนัก ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานกิจกรรมทางธุรกิจรายเดือน ชี้ว่าผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซในสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาเรื่องรายได้ หลังจากราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างหนัก ซึ่งเป็นไปตามที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินกันว่าผู้ผลิตในสหรัฐจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มโอเปค ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เผยรายงานกิจกรรมทางธุรกิจรายเดือน "เบจบุค" ที่ระบุว่าราคาพลังงานที่ลดลง ส่งผลเสียต่อผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซในอเมริกา ทำให้บางบริษัทต้องลอยแพคนงาน บางแห่งก็ต้องขอกู้เงิน รายงานระบุว่าการสำรวจน้ำมันและก๊าซลดลงในรัฐนอร์ธดาโกตา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการพลิกโฉมอุตสาหกรรมพลังงานในอเมริกาหลังจากมีค้นพบน้ำมันจากหินดินดาน ส่วนในเขตแคนซัสซิตีซึ่งมีแหล่งผลิตพลังงานขนาดใหญ่อย่างในโอกลาโฮมา ปรากฏว่าบริษัทต่างๆ คาดว่ากิจกรรมการขุดเจาะจะลดลงอย่างมาก รวมถึงการจ้างงาน และการใช้จ่ายด้านเงินทุน นอกจากนั้นยังมีบางบริษัทที่รายงานว่ามีปัญหาในการขอกู้เงินผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง "ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากรายงานกิจกรรมการขุดเจาะที่ลดลง เช่นเดียวกับความต้องการบริการในบ่อน้ำมันที่ลดลง คาดว่ากิจกรรมขุดเจาะ จ้างงาน และการใช้จ่ายด้านทุน จะลดลงในอนาคต หลังจากราคาน้ำมันดิบดิ่งลง" เฟดสาขาแคนซัสซิตีระบุ เฟดสาขาซานฟรานซิสโกระบุว่าในภาพรวมแล้วความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวเนื่องกับพลังงาน กำลังซบเซา สำหรับในเขตดัลลัสที่ประกอบด้วยเทกซัส ทางเหนือของหลุยเซียนา และทางใต้ของนิวเมกซิโก การขยายตัวของกิจกรรมทางธุรกิจชะลอตัว ธุรกิจหลายแห่งแสดงความวิตกเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ลดลง บริษัทพลังงานบางแห่งรายงานว่าระงับการจ้างงานและมีการลดคนงาน อีกทั้งความต้องการบริการสำหรับบ่อน้ำมันยังลดลง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมน้ำมันอเมริกาขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านผลจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีขุดเจาะ จนทำให้ภาคน้ำมันและก๊าซกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สดใสของสหรัฐ ในแง่ดีนั้น ราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ครัวเรือนมีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้นสำหรับจับจ่ายและทำกิจกรรมอื่นๆ โดยบริษัทจำนวนมากในนครชิคาโกรายงานว่ายอดขายช่วงวันหยุดดีขึ้น ส่วนแถบแอตแลนตานั้นผู้คนหันไปซื้อรถยนต์คันใหญ่ขึ้น สำหรับภาพรวมทางเศรษฐกิจนั้น เบจบุคระบุว่าการเติบโตดำเนินไปในระดับปานกลางช่วงปลายปีที่แล้ว มีการเติบโตของการจ้างงานในระดับพอประมาณตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.ถึงปลายเดือนธ.ค. แต่ค่าแรงยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความวิตกแก่เจ้าหน้าที่เฟดในช่วงที่กำลังหารือกันเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ค่าแรงในสหรัฐปรับขึ้นไม่มากนัก แม้เมื่อปีที่แล้วมีการสร้างงานมากที่สุดตั้งแต่ปี 2542 หรือเกือบ 3 ล้านตำแหน่งและอัตราว่างงานอยู่ที่ 5.6% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 6 ปีครึ่ง ฟิทช์เล็งหั่นเครดิตผู้ผลิตน้ำมันหากราคาไม่ฟื้นตัว บริษัทฟิทช์ เรทติงส์ระบุว่า อาจจะมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ถ้าราคาน้ำมันดิบไม่ฟื้นตัวขึ้น "ถ้าราคาน้ำมันไม่ฟื้นตัวจากระดับปัจจุบัน ก็อาจจะมีการลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศผู้ผลิตน้ำมัน" นายเอ็ด ปาร์คเกอร์ นักวิเคราะห์ของฟิทช์กล่าว "อะไรคือสิ่งที่จะทำให้เราลดอันดับความน่าเชื่อถือรัสเซีย ก็คือเรื่องเดียวกัน ถ้าราคาน้ำมันไม่ฟื้นตัวจากระดับปัจจุบัน ถ้าเราเห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงและนานกว่านี้ เราก็จะเห็นภาวะปั่นป่วนมากขึ้นของภาคการเงิน" ไทยออยล์ชี้อุปทานยังล้นตลาด บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รายงานว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น หลังแตะระดับเกือบต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อเพื่อปิดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ล้นตลาด หลังผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในกลุ่มโอเปกออกมายืนยันว่าจะไม่ลดกำลังการผลิต เพื่อที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2015 จะเติบโตราว 3% ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ในเดือน มิ.ย. 57 ก่อนหน้านี้ ที่ 3.4% อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตมากขึ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯแข็งแกร่งมากขึ้น ในทางกลับกัน ประเทศในแถบยุโรปและญี่ปุ่นได้มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างช้า เนื่องจากผลของภาวะวิกฤติทางการเงินที่ยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง แต่ยังคงเติบโตอย่างในระดับสูงที่ 7.1 % ต่อปี (จาก 7.4 % ในปี 2557) ด้านสำนักงานข้อมูลสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ณ วันที่ 9 ม.ค. 58 สวนทางกลับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 417,000 บาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.5 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันมันดีเซลคงคลัง ปรับเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.1 ล้านบาร์เรล ด้านประธานาธิบดีของอิหร่านออกมาให้ความเห็นว่า การทรุดตัวลงของน้ำมันดิบจะทำให้เศรษฐกิจของผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างซาอุดีอาระเบีย และคูเวตได้รับผลกระทบมากกว่าอิหร่าน เนื่องจากอิหร่านพึ่งพาการส่งออกน้ำมันดิบน้อยกว่าซาอุดีอาระเบีย และคูเวต แต่อิหร่านได้รับผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตรโดยกลุ่มประเทศตะวันตก หลังประเทศมีโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ และยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์จนกว่าจะถึงเดือน มิ.ย. 58 โดยในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา อิหร่านสามารถผลิตน้ำมันได้เพียง 2.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงมากจากกำลังการผลิตในปี 54 ที่ระดับ 3.58 ล้านบาร์เรล ปัจจัยที่น่าจับตามอง ติดตามภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด หลังจากผู้ผลิตทั้งฝั่งโอเปกและนอกโอเปกยังไม่มีทีท่าที่จะลดกำลังการผลิตลง อย่างไรก็ดี ซาอุดีอาระเบียยืนยันว่าประเทศยังสามารถรับมือกับราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำได้ ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงจะส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียขาดดุลงบประมาณปี 2558 กว่า 3.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่มีงบประมาณเกินดุลอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ต้องติดตามวิกฤติเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก หลังเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หลังเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศตะวันตก ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ Tags : ธนาคารกลางสหรัฐ • เฟด • บ่อน้ำมัน • อาการ • ไทยออยล์ • อุปทาน