"แบงก์ชาติ"เผยเป้าสินเชื่อแบงก์ปีนี้โต7% สอดรับภาวะเศรษฐกิจ ยอมรับเอ็นพีแอลพุ่งจากหนี้ครัวเรือน ย้ำไม่น่าห่วง เหตุให้แบงก์เร่งกันสำรองเพิ่ม ล่าสุด "บีไอเอส" แตะ 17% ลุ้นเศรษฐกิจฟื้นดึงเอ็นพีแอลชะลอ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังพุ่งแตะ 88.0-89.0% ปีนี้ จากการเดินสายพูดคุยกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ช่วงที่ผ่านมา เพื่อสำรวจแผนการดำเนินธุรกิจปีนี้ พบว่า ธนาคารพาณิชย์โดยเฉลี่ยตั้งเป้าการขยายตัวของสินเชื่อปีนี้ที่ 7% โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ตั้งเป้าการเติบโตเฉลี่ยที่ 5-9% ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก มีเป้าหมายเฉลี่ย 10% นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับเป้าการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์นั้น ถือว่าสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ ธปท. ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 4% ส่วนสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนพ.ย.2557 มีทั้งสิ้น 16.6 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นยอดคงค้างของสินเชื่อ 11 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อภาคธุรกิจ 7.6 ล้านล้านบาท และสินเชื่อครัวเรือน 3.4 ล้านล้านบาท "ถ้าดูตัวเลขการเติบโตของสินเชื่อล่าสุดเดือนพ.ย.2557 ที่มีอัตราการเติบโต 4.3% เทียบกับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีดังกล่าวที่แบงก์ชาติประเมินไว้ 0.8% ถือว่าไม่ได้โอเวอร์ฮีท และไม่ได้น่ากังวลอะไร" นางทองอุไร กล่าว เอ็นพีแอลแบงก์ทั้งระบบเพิ่มขึ้น สำหรับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยอมรับว่า ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2557 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีเอ็นพีแอล 2.34% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 2.15% โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ มาจากเอ็นพีแอลส่วนของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มจาก 2.2% ณ สิ้นปี 2556 มาอยู่ที่ 2.65% ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2557 "เอ็นพีแอลที่เร่งขึ้นมาจากหนี้ครัวเรือน ซึ่งไม่ได้ผิดปกติอะไร เพราะเป็นธรรมดาช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว เอ็นพีแอลก็อาจเพิ่มขึ้นได้บ้าง เรื่องนี้แบงก์ชาติจับตาดูอยู่ แต่ไม่ได้กังวลใจใดๆ เพราะฐานะการเงินของแบงก์ที่ดีขึ้น จึงขอให้แบงก์ตั้งสำรองเพิ่ม จนทำให้ระดับของเงินสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญสูงกว่า 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับระดับของเงินสำรองพึงกระทำ" ถ้าดูระดับของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ล่าสุดเดือนพ.ย.2557 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 17% เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1(เทียร์1) 13.8% และเงินกองทุนขั้นที่ 2 (เทียร์2) 3.2% เทียบกับ ณ สิ้นปี 2556 ซึ่งมีระดับบีไอเอสที่ 15.7% เป็นเทียร์1 ที่ 12.6% และ เทียร์2 ที่ 3.1% ชี้ศก.ฟื้นเอ็นพีแอลอาจทรงตัว นางทองอุไร กล่าวด้วยว่า ปีนี้หากเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างที่ ธปท. ได้ประเมินไว้ เชื่อว่า ระดับเอ็นพีแอลน่าจะทรงตัวด้วย เพียงแต่ช่วงแรกที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ระดับของเอ็นพีแอลก็อาจจะเพิ่มขึ้นได้บ้าง จึงคาดไตรมาสแรกปีนี้ เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอาจปรับขึ้นบ้างเล็กน้อย สำหรับแผนงานด้านสถาบันการเงินของ ธปท. ในปี 2558-2559 ทาง ธปท. ยังดำเนินการผ่านใน 2 ด้านพร้อมกัน คือ การดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยทำควบคู่กับการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในส่วนการดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ยังคงเน้นเรื่องตรวจสอบผ่านการทำบททดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) รวมทั้งการตรวจสอบความเสี่ยงด้านระบบไอที และ ระบบชำระเงิน ขณะเดียวกันยังนำระบบบาเซิล 3 มาพัฒนาใช้อย่างต่อเนื่อง เกาะติดกำกับดูแลแบงก์รัฐ นอกจากนี้ ธปท. ยังมีงานที่ต้องดูแลเพิ่มเติมอีก 2 เรื่อง คือ การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (เอสเอฟไอ) หลังจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด มีมติให้โอนการกำกับดูแลเอสเอฟไอมาไว้ที่ ธปท. ขณะนี้ ธปท. กำลังทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อออกแนวทางการปฏิบัติและควบคุมการทำงานของเอสเอฟไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ "ต้องสำรวจความเห็น จากเอสเอฟไอที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง เพื่อแนวทางกำกับดูแลจะไม่เข้มงวดเกินไป ส่วนตัวคิดว่า การกำกับคงจะนำเกณฑ์บาเซิล 2 มาใช้ก่อน" สำหรับเรื่องการดูแลเอสเอฟไอเพื่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั้น ล่าสุดกระทรวงการคลังเสนอให้เก็บค่าธรรมเนียมบนฐานเงินฝากของเอสเอฟไอที่ 0.47% โดยเรื่องนี้จะเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เร็วๆ นี้ ถ้าได้รับการอนุมัติ น่าจะทำให้บรรยากาศการแข่งขันโดยรวมดีขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์ถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเดียวกันอยู่ เพิ่มบทบาทดูแลนาโนไฟแนนซ์ นางทองอุไร กล่าวว่า อีกเรื่องที่ ธปท. ต้องดำเนินการเพิ่มเติม คือ การกำกับดูแลธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการก่อน หลังจากนั้น ธปท. จะออกประกาศ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาขอใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ "ผู้สนใจใบอนุญาตดังกล่าว เบื้องต้นต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ส่วนธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจได้เลย แต่ถ้าเป็นนอนแบงก์ต้องมาขอใบอนุญาตก่อน และห้ามคิดดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมเกิน 36% วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1 แสนบาท และต้องกู้ไปเพื่อประกอบธุรกิจ" นางทองอุไร กล่าว สิ่งที่ ธปท. จะดูแลเพิ่มเติม คือ พยายามดูแลให้ธุรกิจเหล่านี้ไม่กู้ยืมเงินเพื่อมาทำธุรกิจเกินตัว โดยดูแลให้ธุรกิจนี้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(ดี/อี) ไม่เกิน 7 เท่า หนี้ครัวเรือนยังกดดันสินเชื่อรายย่อย นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2557 ที่ผ่านมา คาดสินเชื่อธนาคารขยายตัว 2-3% ใกล้เคียงกับระบบ ส่วนปีนี้สินเชื่อทั้งระบบอยู่ที่ 5% ดังนั้นเป้าขยายสินเชื่อของธนาคารจึงอยู่ที่ 5-6% เพราะปีนี้ธนาคารจะบุกตลาดมากขึ้น หลังเพิ่มความระมัดระวัง "ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสินเชื่อรายย่อยเติบโตด้วยเลข 2 หลักตลอด แต่ปี 2557 เหลือโตแค่หลักเดียว และปีหน้ายังเหลือหลักเดียวเช่นกัน เริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้วว่า เอ็นพีแอลต้องมาแน่ และเห็นการเพิ่มขึ้นจริง จึงเพิ่มความระมัดระวังในการขยายธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยโตต่อเนื่อง แต่โตช้าลง เพราะโครงการรถคันแรกทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ยังไม่ดี" กสิกรคาดหนี้ครัวเรือนพุ่ง88-89.0% ต่อจีดีพี ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีปี 2557 จะจบสิ้นปีที่ 85.5% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้น 3.2% ต่อจีดีพีจากปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนหน้า ส่วนปีนี้คาดแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทย ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ระดับ 88.0-89.0% ต่อจีดีพี ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้ว่าทุกครัวเรือนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สะสมรุนแรง โดยครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่มีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ค่อนข้างสูง คงเผชิญข้อจำกัดการก่อหนี้ใหม่ ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง ถึงสูงจะเป็นแรงขับเคลื่อนตัวเลขหนี้ครัวเรือนของทั้งระบบการเงิน เพราะมีกำลังซื้อและมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งระบบ "ปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสม ที่กดดันระดับการออมของภาคครัวเรือนระยะกลางถึงยาว จะทำให้ฐานะทางการเงินของครัวเรือนมีความอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น และสร้างความเปราะบางให้กับระบบเศรษฐกิจและการเงินไทยในระยะยาว" Tags : ธนาคารพาณิชย์ • ทองอุไร ลิ้มปิติ • ธปท. • สินเชื่อ • เอ็นพีแอล • นาโนไฟแนนซ์ • หนี้ครัวเรือน • กสิกร