สมาคมนักวิเคราะห์ชี้เงินทุนจ่อไหลเข้า

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 16 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สมาคมนักวิเคราะห์ประเมิน เงินทุนไหลเข้าครั้งแรกในรอบ 3 ปี ผลจากราคาน้ำมันลดลง เศรษฐกิจโลกชัดเจนขึ้น

    นางภรณี ทองเย็น อุปนายก สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยว่า แนวโน้มความเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างชาติในปี 2558 น่าจะไหลเข้ามาประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังจากที่ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นการขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย สาเหตุที่มองว่าเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดี และได้รับประโยชน์จากการปรับลดลงของราคาน้ำมัน

    "ในปีนี้เรามองว่านักลงทุนต่างชาติน่าจะเข้ามาซื้อสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทยน้อยมาก มีสัดส่วนในมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกัน 34 % โดยมีการถือครองในรูปของโฮลดิ้งประมาณ 26.4 % และถือครองผ่านเอ็มวีดีอาร์ 6.5 % ต่ำกว่าก่อนหน้าที่ 36 % ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ต่ำที่สุด"

    สิ่งที่จะดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาคือการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน ส่งผลดีต่อภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 หลังจากประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2557 และความชัดเจนของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐมีความชัดเจนขึ้น จะเริ่มเห็นเม็ดเงินต่างชาติเข้ามามากขึ้น

    ส่วนข้อกังวลในเรื่องการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 4 ถึงต้นปี 2559 เรื่องดังกล่าวนักลงทุนให้ความระมัดระวังและสะท้อนกับดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกไปแล้ว โดยส่งผลลบต่อการคาดการณ์ดังนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเหลือ 1,670 จุด ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 1,698 จุด หรือ ลดลง 2% โดยมองจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 1,728 จุด และจุดต่ำสุดที่ 1,390 จุด กำไรต่อหุ้นลดลงเหลือ 107.0 บาท ลดลง 3.8% ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 15% ปรับตัวดีขึ้นจากครั้งก่อนที่ 14.1% แต่ไม่ได้สะท้อนการเติบโตที่แท้จริง เพราะเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำของปีก่อน

    ปัจจัยที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะมีผลต่อความเคลื่อนไหวของดัชนีในปีนี้ ปัจจัยบวก ได้แก่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทย 91% การขยายตัวของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน 84 % และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรป 76 % ส่วนปัจจัยลบที่ต้องติดตามคือการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

    นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ 89% เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าคาด 78 % และภาพการส่งออกที่ไม่ฟื้นตัว 68 % ทั้งนี้นักวิเคราะห์ยังเสนอให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาคการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่ การดำเนิน นโยบายการเงินอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และการส่งเสริมการวิจัยการพัฒนาทางเทคโนโลยี และการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น

    สำหรับตัวเลขประมาณการที่สำคัญในส่วนอื่นๆ สมาคมนักวิเคราะห์มองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 3.8 % ปรับตัวลดลงจากเดิน 4.3 % ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.4 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าเพิ่มขึ้นจากเดินที่ 33.2 บาทต่อดอลลาร์ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปรับลดประมาณการลงเหลือ 2 % จากเดิมที่ 2.2 % และราคาทองคำอยู่ที่ 18,884 บาทต่อบาททองคำ ปรับลดลงจากเดิมที่ 19,575 บาทต่อบาททองคำ

    นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับเงินทุนที่เคลื่อนย้ายเร็วกว่าปกติ โดยปีที่ผ่านมาประเทศไทย ต้องเผชิญกับการผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็วถึง 3 ครั้ง ภาวะดังกล่าวจะคงอยู่ต่อเนื่องในปีนี้

    ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีจุดเริ่มต้นที่ฐานต่ำ ในระดับดัชนี 1,200 จุด ปรับตัวขึ้นมากกว่า 300 จุดหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 % ทำให้ในช่วงปลายปีเกิดแรงเทขายออกมาบ้าง ซึ่งในปีนี้ต้องยอมรับว่าจะคาดหวังให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 20 % เหมือนปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ยาก เพราะในปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีจุดเริ่มต้นในระดับที่สูง

    นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความเคลื่อนของดัชนีตลาดหุ้นในเดือนธ.ค.ปิดที่ 1,497.67 จุด ลดลงจากเดือนก่อน 6.04 % ซึ่งเมื่อเทียบกับภูมิภาคพบว่า ประเทศไทยปรับตัวลดลงมากที่สุด และปรับตัวลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นเกิดใหม่ที่ ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 6.04 % ซึ่งสาเหตุการปรับตัวลดลงนั้นมีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ

    ด้านนายสุชาติ ธนฐิติพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ช่วง 1 - 9 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา มีเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้สุทธิ 200 ล้านบาท โดยเป็นการไหลเข้าในตราสารหนี้ระยะยาว 8,200 ล้านบาท ในขณะที่ไหลออกจากตราสารหนี้ระยะสั้น 8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น 1,800 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ครบอายุไป 9,800 ล้านบาท ทำให้ล่าสุดนักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยอยู่ 683,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนของตราสารหนี้ระยะสั้น 8% และตราสารหนี้ระยะยาว 92%

    "ปัจจัยที่ทำให้มีการเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวอย่างต่อเนื่องน่าจะมาจาก การคาดการณ์ดอกเบี้ยในประเทศอาจปรับลดลงหลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยต่ำมากในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าตอนนี้ตลาดส่วนใหญ่จะมองว่าดอกเบี้ยยังน่าจะทรงตัวมากกว่า และยังมีการคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ภายในปีนี้ ทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวได้เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับตอนที่สหรัฐใช้มาตรการคิวอี นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประมูลพันธบัตร 2 - 3 รุ่น ซึ่งมีคนสนใจประมูลสูงทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นกดดันให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง" นายสุชาติ กล่าว

    Tags : ภรณี ทองเย็น • สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน • เงินไหลเข้า • ตลาดหุ้น • เศรษฐกิจโลก

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้