เคาะงบรถไฟไทย-จีน4แสนล้าน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 16 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ประจิน"เดินหน้ารถไฟทางคู่ไทย-จีน ตีกรอบงบ4แสนล้าน ใช้เวลาก่อสร้าง2ปีครึ่ง คาดเริ่มก่อเฟสแรกเดือนก.ย.58

    เปิดบริการได้ปลายปี 2560 ด้านบัวแก้วชี้เป็นการยืนยันไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งอาเซียน ขณะนักวิชาการชี้หวั่นงบบานปลาย หากเลี่ยงประมูล แนะเปิดรายละเอียดสัญญาลงทุน

    กระทรวงคมนาคมได้ข้อสรุปสำหรับฝ่ายไทย เตรียมเสนอในที่ประชุมร่วม ไทย-จีนในโครงการรถไฟทางคู่ กรุงเทพฯ-แก่งคอย และหนองคาย-มาบตาพุด ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร โดยใช้งบลงทุน 4 แสนล้านบาท เริ่มก่อสร้างปลายปีนี้และแล้วเสร็จภายในเวลา 2 ปีครึ่ง

    พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมเตรียมการฝ่ายไทยสำหรับการประชุมร่วม ไทย-จีน เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ครั้งที่ 1 ว่า โครงการรถไฟทางคู่ เป็นทางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และกรุงเทพ-แก่งคอย ที่เคยลงนามเซ็นเอ็มโอยูกับจีนเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา จะดำเนินการประชุมเพื่อศึกษารายละเอียดแผนงานและขั้นตอนการดำเนินโครงการเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนก.พ. 2558 พร้อมเริ่มดำเนินโครงการในการศึกษาและสำรวจออกแบบจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แผนและรูปแบบการลงทุนภายในวันที่ 1 มี.ค. 2558

    "คาดว่าจะสามารถสรุปผลการดำเนินงานทุกอย่างรวมถึงรูปแบบการลงทุนได้ในเดือน ก.ค. 2558"

    การประชุมคณะกรรมการบริหารงานโครงสร้างพื้นฐานรถไฟไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 21-22 ม.ค.นี้ เพื่อเสนอหัวข้อรายละเอียด หลังจากนั้น จะมีการจัดประชุมรอบสอง ในวันที่ 5-7 ก.พ.เพื่อสรุปข้อเสนอทั้งหมด และ ครั้งสุดท้ายในวันที่ 25-27 ก.พ.ก่อนจะเริ่มลงพื้นที่สำรวจศึกษาออกแบบก่อสร้างในวันที่ 1 มี.ค.

    ส่วนแผนการดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ระยะทางรวม 873 กม. คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย 355 กม.

    จากนั้นก็พร้อมดำเนินการก่อสร้างงานโยธาช่วงที่ 1-2 ได้ในวันที่ 1 ก.ย. 2558 งานก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการเดินรถในเดือนธ.ค. 2560 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาช่วงที่ 3-4 ในวันที่ 1 ธ.ค. 2558 ก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการเดินรถ มี.ค. 2561 โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2ปีครึ่ง เพราะมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยด้วย

    “การแบ่งย่อยโครงการออกเป็น 4 ช่วง เพื่อความสะดวกและความรวดเร็วในการสำรวจและออกแบบ มีการจัดทีมงาน 4 ชุดลงพื้นที่ทำงานคู่ขนานกันไป ส่วนสำนักงานบริหารโครงการตั้งอยู่ที่กระทรวงคมนาคม มีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าสำนักงาน เพื่อจะดำเนินการสำรวจออกแบบงานโยธา ระบบราง ระบบสัญญาณ การจัดหาพื้นที่ การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนการบริหารกิจการมวลชนสัมพันธ์และข่าวสารเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้การก่อสร้างและการดำเนินงานทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

    เปิดประมูลผู้รับเหมาทั้งไทย-จีน

    พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ในขณะที่การเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างต่างๆนั้น เนื่องจากโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ขณะนี้ได้มีการรวบรวมข้อมูลบริษัทไทยที่มีขีดความสามารถดำเนินโครงการในด้านต่างๆ ประมาณ 12 - 15 บริษัท เป็นทั้งบริษัทระดับใหญ่ ระดับกลางและผู้แทนของบริษัทต่างชาติ ส่วนฝ่ายจีนก็มีการสรุปรายชื่อบริษัทผู้รับเหมาเช่นกัน ซึ่งมาจาก 5 รัฐวิสาหกิจของจีน แต่มีจำนวนบริษัทมากกว่า

    "ฝ่ายไทยและจีนจะนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกันจับคู่คัดเลือกหาบริษัทที่มีความเหมาะสมที่จะเข้ามาดำเนินงานต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการสรุปและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมร่วมไทย-จีนครั้งที่ 3"

    พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่าค่าก่อสร้างงานโยธานั้นคณะทำงานได้เดิมประเมินค่าก่อสร้างไว้ที่ 1,000 กม. ประมาณ 4 แสนล้านบาท ส่วนโครงการนี้ 873 กม. ค่าก่อสร้างประมาณ 3.5 แสนล้านบาท แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจว่าแนวก่อสร้างเส้นทางกับการเวนคืนที่ดิน ซึ่งพยายามจะยึดตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม เพื่อจะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่หากต้องตัดแนวเส้นทางใหม่ก็อาจมีค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้นด้วย

    เผยใช้ตัวรถ-เทคโนโลยีจีน

    ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในการหารือครั้งแรกจะมีการตกลงเรื่องโครงสร้างและรูปแบบการทำงานร่วมกัน โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาทำงานร่วมกัน กรอบเวลาในการทำงาน ช่วงเวลาในการศึกษาออกแบบ ประมาณการค่าใช้จ่าย ส่วนการก่อสร้างจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง จากนั้นจะหารือในรายละเอียดเรื่องการศึกษาและสำรวจออกแบบ

    ส่วนระบบเทคโนโลยีและตัวรถจะใช้ระบบของประเทศจีน แต่จะให้มีการออกแบบให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศของไทย เพราะตามแนวเส้นทางบางผ่านภูเขาอาจต้องทำเป็นอุโมงค์ด้วย รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการก่อสร้างทางและการเดินรถ ซึ่งจะมีการจัดตั้งบริษัทหรือหน่วยงาน หรือบริษัทร่วมทุนหากเลือกรูปแบบการร่วมทุน เข้ามารับผิดชอบงานด้านการก่อสร้าง

    จีนเปิดกว้างเงื่อนไขลงทุนให้ไทยเลือก

    ในเรื่องแหล่งเงินและรูปแบบการลงทุนนั้น นายอาคม กล่าวว่า คณะอนุกรรมการคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน จะต้องไปศึกษาในรายละเอียดทั้งรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม เกิดประโยชน์กับประเทศไทยสูงสุด ก่อนจะนำเข้าหารือร่วมกันในการประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 -7 ก.พ. 2558 จากการหารือกับฝ่ายจีนนั้นไม่ได้ติดใจรูปแบบการลงทุน แต่มีข้อเสนอที่เปิดกว้างพร้อมจะลงทุนให้ก่อน หรือให้เงินกู้กับฝ่ายไทย หรือาจเป็นการร่วมทุน ส่วนฝ่ายไทยต้องไปพิจารณาหาแหล่งเงินทุน หากเป็นการร่วมทุนต้องมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายและสัดส่วนการร่วมทุน ส่วนที่จะใช้เงินงบประมาณ กับส่วนที่เป็นเงินกู้ หรือการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยใช้เครื่องมือการระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นต้น

    “จีนเปิดกว้างตั้งแต่ออกเงินทุนให้ 100 % ให้ใช้คืนทีหลัง หรืออาจใช้วิธีการกู้เงินจากจีน หรือจะเป็นการลงทุนร่วมกัน ทั้งในส่วนของการก่อสร้างและระบบอาณัติสัญญาณและตัวรถ ส่วนการเดินรถชัดเจนว่าไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเดินรถเอง ไทยจะลงทุน 100 % “ นายอาคมกล่าว

    ชี้ยอมรับไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคม

    ขณะที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมร่วมไทยจีนครั้งแรก จะย้ำถึงความสำคัญของโครงการร่วมมือความสัมพันธ์ไทยจีน เพราะถือว่าโครงการนี้เป็นการบุกเบิกโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟไทยที่เป็นความร่วมมือกับจีนเป็นครั้งแรก เป็นการส่งเสริมเชิงยุทธศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศ ถือว่าเป็นการพัฒนาพื้นที่ทางรถไฟเส้นทางการคมนาคมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นการยอมรับว่าไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน

    "เริ่มต้นจากเส้นทางรถไฟหนองคายมากรุงเทพและระยอง เพื่อที่จะต่อขยายไปในเส้นทางสายอื่นๆ กับประเทศอื่นๆ ในอนาคต เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศอาเซียน"

    ทีดีอาร์ไอหวั่นไม่ประมูลทำราคาสูง

    นายสุเมธ องกิตติกุลผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวการเดินหน้าโครงการดังกล่าวถือว่ามีความรวดเร็วเนื่องจากการกำหนดระยะเวลาในการสำรวจและออกแบบการก่อสร้างในระยะเวลา 6 เดือนถือว่าใช้เวลาน้อยกว่าโครงการขนาดใหญ่โครงการอื่นๆ ที่จะต้องใช้เวลาในการออกแบบ สำรวจเส้นทางเป็นเวลา 1-2 ปี เพราะโครงการมีรายละเอียดมากการออกแบบจึงจะต้องทำอย่างรอบคอบ

    ทั้งนี้ มองว่าการดำเนินโครงการในระยะเวลาที่จำกัดกระทรวงคมนาคมอาจจะไม่มีการเปิดประมูลโครงการ ซึ่งการไม่เปิดประมูลก็ทำให้ราคาโครงการอาจสูงกว่าความเป็นจริงเนื่องจากจะไม่มีการต่อรองราคากับผู้รับเหมาก่อสร้าง

    “การประเมินราคาก่อสร้างไว้ที่ 4 แสนล้านบาทเข้าใจว่าเป็นการประเมินราคากลางทั้งเส้นทาง แต่ในการดำเนินการจริงๆจะต้องมีการแบ่งสัญญาการก่อสร้างออกเป็นสัญญาย่อยๆ ถ้าไม่มีการประมูลแล้วถึงเวลาก่อสร้างจริงๆ หากงบประมาณบานปลายขึ้นมาจะทำอย่างไร จะมีมาตรการในการดูแลอย่างไร เรื่องนี้ต้องจับตามองเพราะความสำเร็จของการดำเนินโครงการขนาดใหญ่จะต้องมาพร้อมกับความถูกต้องของการดำเนินการในทุกโครงการด้วย” นายสุเมธกล่าว

    ชี้ควรเปิดเผยรายละเอียดลงทุน

    นายสุมเมธกล่าวต่อไปว่าสำหรับการลงทุนในโครงการนี้ที่กระทรวงคมนาคมระบุว่าประเทศจีนมีความพร้อมที่จะลงทุนในโครงการนี้ให้ทั้ง 100% ว่าการที่เข้ามาลงทุนในโครงการคมนาคมและโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยของต่างชาติเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแต่สิ่งที่กระทรวงคมนาคมควรจะมีการเปิดเผยก็คือเงื่อนไขของการลงทุนในโครงการนี้ของประเทศจีนมีอย่างไร หากเป็นลักษณะการให้ประเทศไทยกู้เงินและจีนคิดผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยจากเงินกู้ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีเงื่อนไขอื่นๆ ก็ต้องดูว่าเป็นเงื่อนไขที่เราเสียเปรียบหรือทำให้โครงการมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่

    “การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนถือว่าเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งในอดีตเป็นการกู้เงินมาลงทุนเช่นเงินกู้ของไจก้าของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการกู้เงินที่มีเงื่อนไขให้ดอกเบี้ยต่ำ ส่วนโครงการที่จะลงทุนใหม่ก็ต้องดูว่าเงื่อนไขแต่ละโครงการคืออะไรเป็นเรื่องที่เราต้องคุยกับผู้ลงทุนให้ชัดและเปิดเผยให้สังคมทราบ เพราะการที่รัฐบาลระบุว่าโครงการไหนให้ประเทศใดลงทุนก็มีความเสี่ยงที่โครงการจะมีราคาสูงกว่าการเปิดประมูลทั่วไปเพราะที่ผ่านมาก็มีการกำหนดเงื่อนไขว่าให้ใช้วัสดุก่อสร้างหรือเทคโนโลยีจากประเทศใดประเทศหนึ่งทำให้ไม่เกิดการต่อรองราคา” นายสุเมธกล่าว

    Tags : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง • คมนาคม • ไทย-จีน • รถไฟ • อาคม เติมพิทยาไพสิฐ • ลงทุน • ดอน ปรมัตถ์วินัย • ทีดีอาร์ไอ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้