จากร่างกฎหมายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลชุดใหม่ 10 ฉบับ ที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปเมื่อเร็วๆ นี้ ถ้าอ่านร่างกฎหมายอย่างละเอียด (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ Thai Netizen)จะพบว่าหน่วยงานด้านไอซีทีของประเทศไทยจะถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงมีมากพอสมควร ผมขอสรุปเป็นแผนผังและข้อมูลคร่าวๆ ตามนี้ครับ (หมายเหตุ: ผมอ่านกฎหมายแล้วมีความเห็นต่างจาก แผนผังของ Thai Netizen อยู่บ้างบางจุด แต่หลักๆ แล้วเหมือนกัน) โครงสร้างของกระทรวงไอซีทีในปัจจุบัน ตอนนี้ (ก่อนร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีผลบังคับใช้) ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านไอซีที 2 หน่วยงานคือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีสถานะเป็นส่วนราชการ (ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พศ. 2545) กสทช. มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ได้เป็นส่วนราชการ (ตั้งขึ้นตาม พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553) โครงสร้างของกระทรวงไอซีทีในปัจจุบัน สามารถดูได้จาก เว็บไซต์กระทรวงไอซีที กระทรวงไอซีทีมีส่วนราชการ 4 ส่วนคือ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ รัฐวิสาหกิจในกำกับดูแล 3 หน่วย บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด องค์การมหาชนในกำกับดูแล 3 หน่วย สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) - SIPA สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) - สรอ. หรือ EGA สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) - สพธอ. หรือ ETDA โครงสร้างหน่วยงานด้านไอซีทีแบบใหม่ ภาพอาจเล็กไปหน่อย คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่ จะเห็นว่ามีรายละเอียดเพิ่มเข้ามามากมาย จะค่อยๆ อธิบายไปทีละส่วนครับ 1) คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลชุดใหม่จะตั้ง "คณะกรรมการระดับชาติ" ชื่อข้างต้น มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหัวหน้าส่วนราชการระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และภาคเอกชนเป็นกรรมการ (เดี๋ยวจะเขียนเรื่องนี้แยกเป็นอีกบทความหนึ่ง) หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือเป็นหน่วยงานสูงสุดที่กำหนดนโยบายด้าน "ดิจิทัล" ของประเทศ โดยต้องออก "นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" เป็นนโยบายด้านดิจิทัลระดับสูงสุดของประเทศ เพื่อบังคับใช้กับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ถ้าไม่ทำ ปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าหน่วยงานจะมีความผิดทางวินัยด้วย รายละเอียดเรื่องนี้อยู่ใน ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลจะมาแทนที่กระทรวงไอซีทีเดิม จุดต่างไปคือมีส่วนราชการเพิ่มเข้ามา 1 ส่วนคือ "สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" สำนักงานดิจิทัลฯ มีหน้าที่ใหญ่ๆ 2 ประการคือ ทำหน้าที่เป็นกองเลขาให้กับ "คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" เพื่อร่างแผนและนโยบายระดับชาติให้คณะกรรมการอนุมัติ บริหารงาน "กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" ที่โอนมาจากกองทุน กสทช. เดิม (จะกล่าวต่อไป) รายละเอียดอยู่ใน ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) 3) หน่วยงานด้านดิจิทัลชุดใหม่ นอกจากตัวกระทรวงดิจิทัลแล้ว หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลจะถูกตั้งใหม่และแปรรูปเพิ่มเติมดังนี้ หน่วยงานตั้งใหม่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โอน "สำนักความมั่นคงปลอดภัย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์" มาอยู่ใต้สังกัด และรับอำนาจมาจากกฎหมาย 3 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กำหนดให้มี "คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ" และมีสำนักงานแห่งนี้เป็นกองเลขา ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กำหนดให้มี "คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" แต่กำหนดให้สำนักงานความมั่นคงไซเบอร์เป็นเลขาด้วย (รับงาน 2 คณะกรรมการ) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ทำงานด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ การลงทุน รับอำนาจมาจาก ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะโอนย้าย SIPA มาเป็นสำนักงานแห่งนี้ และดึงส่วนงาน "บางส่วน" ของสำนักงานปลัดกระทรวงไอซีทีเดิม และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์มาด้วย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เป็นการปรับปรุง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอกนิกส์ (องค์การมหาชน) เดิม โดยเพิ่มคำว่า "แห่งชาติ" ไปท้ายชื่อ และยกเลิกสถานะความเป็นองค์การมหาชน หน่วยงานทั้ง 3 หน่วยนี้มีสถานะเป็น "หน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น" อธิบายง่ายๆ คือมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่องค์การมหาชน (น่าจะมีสถานะเหมือน กสทช. หรือ สวทช.) กล่าวโดยสรุปคือเราจะมีหน่วยงานใหม่ 3 แห่ง กำกับดูแลโดย 4 บอร์ด และโอนย้ายหน่วยงานบางส่วนของกระทรวงไอซีทีเดิมมาอยู่กับหน่วยงานเหล่านี้ สังเกตว่าหน่วยงานใต้กำกับดูแลของกระทรวงไอซีทีเดิมที่ไม่ถูกแก้ไขเลยคือ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ส่วนรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 รายยังอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง 4) กสทช. โฉมใหม่ ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับใหม่) แก้โครงสร้างของ กสทช. ไปพอสมควร (ไว้จะเขียนเรื่องนี้โดยละเอียดอีกครั้ง) โดยสรุปคือ บอร์ด กสทช. มีจำนวนเท่าเดิม 11 คน แต่ไม่แยกเป็น 2 บอร์ดย่อยแล้ว กสทช. ยังปฏิบัติงานอิสระเหมือนเดิม ไม่อยู่ใต้กระทรวงดิจิทัล แต่การจัดทำ "แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่" จะต้องส่งให้ "คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" อนุมัติ กสทช. ไม่ได้บริหาร "กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ" (กองทุน กทปส.) อีกแล้ว โดยกองทุนนี้จะถูกเปลี่ยนชื่อแล้วย้ายไปอยู่กับกระทรวงดิจิทัลแทน กองทุน กทปส. ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบตาม ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยโอนทรัพย์สินเดิมไปให้ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ตั้งขึ้นใหม่ มี "คณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" มาบริหาร ส่วนงานสำนักงานจะมอบหมายให้ "สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" ของกระทรวงดิจิทัลมาทำหน้าที่แทน อย่างไรก็ตาม กสทช. ยังมีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนเหมือนเดิม โดย 50% จะเข้ากองทุนดิจิทัล และอีก 50% ส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน บทสรุปและข้อสังเกต จากโครงสร้างใหม่ข้างต้น จะเห็นว่า กระทรวงไอซีที/ดิจิทัล ไม่ใช่หน่วยงานหลักด้านดิจิทัลอีกต่อไป โดยอำนาจสูงสุดจะไปอยู่ที่ "คณะกรรมการดิจิทัลฯ" แทน ทุกอย่างถูกกำหนดด้วย "แผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลฯ" ที่เป็นแผนระดับชาติ สั่งงานได้ทุกหน่วยราชการ หน่วยงานที่กลายเป็นแกนหลักของโครงสร้างทั้งหมดคือ "สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" เพราะรับงานตรงจากคณะกรรมการดิจิทัลฯ รวมถึงคอยดูแลเงินหลักหมื่นล้านของกองทุนดิจิทัลด้วย หน่วยงานตั้งใหม่ 3 หน่วยงานที่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ จะมีบทบาทมากขึ้น แต่ละหน่วยงานมีกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ของตัวเอง มีคณะกรรมการของตัวเอง การพึ่งพิงกระทรวงดิจิทัลย่อมลดลง (จะมองว่ากระทรวงดิจิทัลถูกลดอำนาจก็ได้) กสทช. ถูกลดอำนาจลง ไม่ได้ดูแลกองทุนอีกแล้ว (แต่ยังต้องส่งเงินเข้ากองทุน) และต้องขอให้คณะกรรมการดิจิทัลฯ อนุมัติแผนแม่บทให้ด้วย จากแผนภาพจะเห็นว่าเรามี "คณะกรรมการ" เยอะมาก โดยมีคณะกรรมการระดับชาติ 1 ชุด และคณะกรรมการนโยบาย/หน่วยงานอีก 6 ชุด บทความตอนต่อๆ ไปจะเขียนถึงคณะกรรมการเหล่านี้ รวมถึงโครงสร้างที่เปลี่ยนไปของ กสทช. ด้วยครับ MICT, NBTC, Thailand, Telecom, Law