นักลงทุน ผวามาตรการตลาดหลักทรัพย์ สั่งเบรกหุ้นร้อน โดยแขวน "เอสพี" ยาว รอชี้แจงข้อมูล ยอมรับแรงเกินคาด แหล่งข่าวนักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า มาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใช้ควบคุมหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวผิดปกตินั้นมองว่าแรงกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ และน่าจะได้ผลอย่างชัดเจน ทำให้การเก็งกำไรช่วงหลังจากนี้จะมีลดน้อยลงแน่นอน แต่ในมุมกลับกันมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการลงทุนในตลาดหุ้น "จากการติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้ควบคุมหุ้นร้อนแรงนั้น มองว่าตลาดหลักทรัพย์ใช้ไม้แข็งกว่าที่ตลาดคาดคิด ซึ่งมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์แจ้งเตือนมาตลอดคือลำดับการใช้มาตรการตามปกติ 3 ขั้นตอน แต่ตลาดหลักทรัพย์กลับใช้วิธีการหยุดการซื้อขายชั่วคราวในหุ้นที่มีความผิดปกติ" สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ชี้แจงมาตลอดคือจะใช้มาตรการ 3 ระยะ 1. หากหลักทรัพย์ใดมีการซื้อขายผิดปกติ และถูกให้ชี้แจงพัฒนาการของบริษัทที่อาจส่งผลกระทบกับราคาหุ้น จะถูกให้ซื้อขายด้วยเงินสด หรือ บัญชีแคชบาลานซ์ 3 สัปดาห์ ระยะที่ 2 หากครบกำหนดแล้วยังมีความร้อนแรงต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์จะสั่งห้ามนำหุ้นดังกล่าวค้ำประกันบัญชีหลักทรัพย์ และถูกให้ซื้อขายด้วยเงินสดอีก 3 สัปดาห์ ระยะที่ 3 หากไม่หยุดความร้อนแรงอีกจะใช้มาตรการแรงสุด ห้ามการหักลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน หรือ Net settlement และให้ซื้อขายด้วยบัญชีซื้อขายด้วยเงินสดอีก 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติตลาดหลักทรัพย์ใช้วิธีขึ้นเครื่องหมาย หยุดการซื้อขายชั่วคราว หรือ SP ในหุ้นที่เคลื่อนไหวผิดปกติมากๆ ซึ่งมาตรการนี้ถือว่ามีความรุนแรงที่สุด และส่งผลกระทบโดยตรงกับนักลงทุนรายบุคคล เพราะราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นมามากกว่าปกติ ในระดับราคาปัจจุบันจะเป็นต้นทุนของนักลงทุนรายบุคคล คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากการขึ้นเครื่องหมายดังกล่าวไม่มีกำหนดชัดเจนว่าตลาดหลักทรัพย์จะปลดเครื่องหมายเมื่อใด ทำให้นักลงทุนไม่สามารถขายหุ้นออกมาได้ และหากปลดเครื่องหมายออก ราคาหุ้นน่าจะปรับตัวลดลงในระดับ ฟลอร์ หรือ ลดลง 30 % แน่นอน ส่วนผู้ที่เข้าทำราคาหุ้นนั้นเขามีต้นทุนที่ต่ำมาก และจะไม่ได้รับผลกระทบกับการขึ้นเครื่องหมาย แม้ราคาร่วงลงมาติดฟลอร์คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ขาดทุน สิ่งที่น่าติดตามต่อไปคือหลังจากการแขวนหุ้นในครั้งนี้ มีการตั้งคำถามและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากถึงตลาดหลักทรัพย์กับความเหมาะสมในการทำมาตรการดังกล่าว ต้องติดตามว่าหลังจากนี้หากมีการทำหุ้นรูปแบบดังกล่าวอีกตลาดหลักทรัพย์จะแขวนหุ้นเหมือนกับกรณีก่อนหน้านี้หรือไม่ หากยังยึดแนวทางเดิม จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น เพราะเดิมในปีนี้นักลงทุนมองว่าหุ้นขนาดใหญ่จะเคลื่อนไหวไม่ดี จึงหนีมาหุ้นขนาดเล็ก แต่หุ้นขนาดเล็กยังโดนมาตรการคุมหุ้นร้อนจะทำให้ความเชื่อมั่นเสียไปแน่นอน ส่วนการทำราคาหุ้นน่าจะมีรูปแบบเปลี่ยนไป นักปั่นหุ้นจะหันไปหาหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงๆ เพราะจะทำให้ติดเทิร์นโอเวอร์ลิสต์ได้ยากขึ้น ซึ่งในทุกการทำหุ้นเจ้าของบริษัทจะต้องรับทราบด้วยแน่นอน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นที่เคลื่อนไหวหวือหวาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา หรือตลาดเกิดใหม่ จากการติดตามไม่เคยพบว่ามีประเทศไหนที่มีมาตรการดูแลนักลงทุนที่รุนแรงเท่ากับของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยอย่างในกลุ่มทิป (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีการดูแลที่เข้มงวดที่สุด ซึ่งในหลายประเทศอย่างในสหรัฐ ใช้วิธีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวผิดปกติโดยเฉพาะ เมื่อมีข้อมูลจะนำข้อมูลมาแจ้งเตือนนักลงทุน แต่ในไทยไม่มีรูปแบบดังกล่าว แม้จะมีเทรดดิ้งอะเลิร์ท (Trading Alert) แต่เป็นลักษณะที่จะให้บริษัทจดทะเบียนเป็นผู้ชี้แจงข้อมูล อาจจะไม่เพียงพอในการดูแลนักลงทุน นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า มาตรการคุมหุ้นร้อนแรงที่เริ่มใช้ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าได้ผลเป็นอย่างดี สิ่งที่อยากทำความเข้าใจ คือ มาตรการนี้ตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ห้ามไม่ให้หุ้นปรับตัวขึ้น แต่หุ้นปรับตัวขึ้นได้ต้องมีพื้นฐานรองรับด้วย และการขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวในหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวร้อนแรงนั้น ก็เพื่อให้นักลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนจากการเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นที่เกิดขึ้น "หลายคนมองว่าการที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้ยาแรงด้วยการสั่งหยุดการซื้อขายในหุ้นบางตัวที่ ราคาเคลื่อนไหวผิดปกติ ส่วนตัวมองว่าราคาหุ้นดังกล่าวปรับตัวขึ้นแรงจริง บางหุ้นชนซิลลิ่ง 4 วันติด และต่อมามีประกาศว่ามีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ต้องมีการชี้แจงกับนักลงทุนถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจนักลงทุน" หลายคนมองว่าสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ทำ จะทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าตลาดหุ้นสิงคโปร์เคยมีปัญหาแบบนี้มาก่อน โดยนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรจำนวนมาก และเมื่อเกิดปัญหากับนักลงทุนรายบุคคล ก็จะส่งผลกระทบกลับมายังบริษัทจดทะเบียนด้วย ดังนั้นส่วนตัวมองว่า ต้องยอมเจ็บในตอนนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งยอมรับว่า ตลาดหุ้นในปี 2558 เป็นตลาดที่เล่นยาก หุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จำกัด ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ไม่สนับสนุน เศรษฐกิจโลกมีปัญหา ทำให้นักลงทุนหันมาหาหุ้นขนาดเล็กเพื่อเก็งกำไร ดังนั้นนักลงทุนจึงควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย Tags : ตลาดหุ้น • นักลงทุน • มาตรการคุมหุ้นร้อน • ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ