การออกแบบอินเทอร์เฟซเพื่อให้มนุษย์ทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้โดยไม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะเป็นหัวข้อวิจัยที่วงการคอมพิวเตอร์พยายามพัฒนาอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จุดสำคัญที่สุดคงเป็นการที่คอมพิวเตอร์เปลี่ยนจากระบบอินพุตหลักเป็นคีย์บอร์ดและเมาส์มาเป็นจอสัมผัส ในงาน NAIAS นอกจากฟอร์ดจะเปิดตัวรถหลายรุ่น (รุ่นสำคัญที่สุดที่สื่อสหรัฐฯ ให้ความสนใจคือ GT ที่เป็นรถแข่งที่ยังใช้วิ่งบนถนนจริงได้) หัวข้อนำเสนอหนึ่งคือกระบวนการพัฒนาอินเทอร์เฟซของ SYNC 3 ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ใช้ต้องเข้าถึงฟีเจอร์สำคัญๆ ของรถได้โดยที่ไม่เสียสมาธิต่อการขับขี่ หัวข้อนี้นำเสนอโดย Parrish Hanna ผู้อำนวยการฝ่าย Human Machine Interface คำถามสำคัญของการออกแบบ SYNC 3 คือการถามว่าผู้ใช้ทั่วไปเข้าใจและใช้งานฟีเจอร์ที่รถให้มาหรือไม่ โดยทุกวันนี้รถยนต์มีฟีเจอร์เพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อร้อยปีก่อนอย่างมาก แต่อินเทอร์เฟซของรถกลับพัฒนาอย่างสะเปะสะปะ ผู้ใช้เข้าใจได้ยากว่าสุดท้ายแล้วจะต้องการใช้ฟีเจอร์เหล่านั้นอย่างไร เป้าหมายหนึ่งของการออกแบบทของฟอร์ดคือเปิดให้รถยนต์ทำงานร่วมกับโทรศัพท์ได้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถตอบโต้กับโทรศัพท์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย Parrish ระบุว่าผู้ใช้จำนวนมากวางโทรศัพท์ไว้บนหน้าตักตลอดเวลา บางคนวางไว้ในที่วางแก้วแล้วหันไปมองตลอดเวลาซึ่งอันตรายมาก ทางฟอร์ดพิจารณาแนวทางที่จะวางอินเทอร์เฟซใหม่นี้ลงไปหลายจุด แล้วตัดสินใจว่าจะวางลงไปแทนวิทยุในรถยนต์ กระบวนการออกแบบอินเทอร์เฟซจะวนเป็นรอบๆ ออกแบบและทดสอบกับกลุ่มทดสอบไปเรื่อยๆ โดยบางครั้งผู้ทดสอบจะต้องอยู่ในรถจำลอง บางครั้งอยู่ในคอนโซลจำลองเพื่อถามว่าสามารถเปิดปิดฟังก์ชั่นที่กำหนดได้ถูกต้องหรือไม่ ในการทดสอบหนึ่งผู้ทดสอบจะได้รับมอบหมายให้ขับรถจำลองต่อเนื่อง 8 ชั่วโมงเพื่อสังเกตว่าเขายังตอบสนองได้ดีหรือไม่หากขับรถยาวจนเหนื่อยล้า จากนั้นจึงนำผลที่ได้มาปรับปรุงเป็นเวอร์ชั่นต่อไป หน้าจออินเทอร์เฟซของ SYNC 3 ถูกเลือกมาหลายหลายว่าจะออกแบบในธีมแบบไหน และได้ข้อสรุปว่าจะอาศัยความเคยชินกับโทรศัพท์อยู่แล้วโดยปรับเป็นการออกแบบแบบ flat จากนั้นจึงออกแบบอินเทอร์เฟซะพื้นฐานว่าควรจะมีหน้าจออะไรบ้าง อินเทอร์เฟซถูกปรับมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รูปแบบที่ทีมงานพอใจเมื่อช่วงกลางปี 2013 แล้วจึงเริ่มกระบวนการทดสอบครั้งแรกในเดือนกันยายน ทีมงานได้รับเสียงตอบรับว่าอินเทอร์เฟซมีปัญหาอะไรบ้าง การทดสอบหนึ่งแสดงให้เห็นว่าการ "เลื่อน" บนหน้าจอสัมผัสไม่เหมาะกับการใช้งานในรถนักเพราะผู้ใช้ไม่สามารถปรับค่าได้ตามต้องการ การทดสอบแต่ละรอบผู้ใช้จะมีโจทย์ให้สั่งงานรถในฟังก์ชั่นพื้นฐานที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น เล่นเพลงจาก USB, สั่งโทรศัพท์ด้วยเสียง, หาเส้นทางในแผนที่, ปรับอุณหถูมิในห้องโดยสาร ฯลฯ ผลการทดสอบได้คำตอบอย่างหนึ่งคือผู้ใช้ส่วนมากไม่ต้องการปุ่ม "Home" บนโทรศัพท์ ต่างจากการใช้งานแท็บเล็ตและโทรศัพท์ เมื่อมาถึงขั้นสุดท้ายก่อนอินเทอร์เฟซจะได้รับอนุมัติ ทีมงานจึงทดสอบกับ "ANN" หญิงคนหนึ่งที่ขับรถจำลองแล้วขอให้ทำตามคำสั่งที่กำหนดขณะที่ขับรถไปด้วย ทางฟอร์ดยอมรับว่าปัญหาอินเทอร์เฟซนั้นไม่ได้จบแค่การทดสอบภายใน แต่เมื่อรถยนต์ที่ใช้ SYNC 3 ออกสู่ตลาดจริงๆ แล้วน่าจะมีปัญหาอื่นๆ เข้ามายังฟอร์ดจากการซัพพอร์ต ทางฟอร์ดเตรียมเก็บข้อมูลที่ได้รับรายงานจากซัพพอร์ดเพื่อมาอัพเดตซอฟต์แวร์ให้สมบูรณ์ขึ้นไปภายหลัก เพราะ SYNC 3 นั้นรองรับการอัพเดต OTA ผ่าน Wi-Fi ได้ด้วย ความสำเร็จของ SYNC 3 คงไม่ได้ขึ้นกับกระบวนการออกแบบเพียงอย่างเดียว ยังมีความท้าทายอื่นๆ ทั้งการหาแนวร่วมและการแข่งขันจากคู่แข่ง แต่บทเรียนการออกแบบส่วนอินเทอร์เฟซระหว่างรถและผู้ใช้ของฟอร์ดก็น่าจะเป็นบทเรียนให้กับกระบวนการออกแบบแอพพลิเคชั่นได้ อัลบั้มภาพทั้งหมดของการบรรยายนี้อยู่ใน Google+ ครับ Ford, GUI, Usability