สมาคมบลจ.เผยปี 57 ธุรกิจกองทุนสินทรัพย์ทะยานแตะ 3.8 ล้านล้าน เพิ่มขึ้น 23.8% นายเอกชัย จงวิศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมในปี2557 มีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2556 ประมาณ 23.80% โดยการเติบโตส่วนใหญ่มาจากกลุ่มกองทุนตราสารหนี้และกองทุนหุ้นเป็นหลัก ในปีนี้ภาพการเติบโตอาจไม่ดีเท่าในปีที่ผ่านมาเพราะตลาดหุ้นก็คงไม่ได้ดีมากในปีนี้แต่เชื่อว่ากองทุนตราสารหนี้จะยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องเพราะผลตอบแทนที่ให้ก็ยังดีกว่าเงินฝาก ซึ่งเงินฝากในระบบก็ยังมีอยู่มากประมาณ 8 ล้านล้านบาท ซึ่งยังถือว่ามีโอกาสในการเติบโตของกองทุนรวมในปีนี้ได้เช่นกัน ในปีนี้ทางสมาคมบลจ.ได้มีการจัดกลุ่มกองทุนใหม่เป็น 31 กลุ่มใหญ่ กับกลุ่มที่จัดประเภทไม่ได้อีก 1 กลุ่ม โดยจะมีการจัดแสดงผลตอบแทนของแต่ละกลุ่มรวมทั้งความเสี่ยงเอาไว้ โดยจะโชว์ผลตอบแทนและความเสี่ยงของอันดับที่ 5 ,25 ,50 ,75 และ 95 เอาไว้ให้นักลงทุนใช้เปรียบเทียบกองทุนที่ตัวเองจะซื้อว่าอยู่ในช่วงไหนของผลตอบแทนและความเสี่ยงเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ซึ่งทุกจุดขายจากนี้ไปต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ผู้ลงทุนได้รับรู้ด้วยเช่นกัน “ข้อมูลดังกล่าวจะมีการอัพเดททุกเดือน และการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้กองทุนที่มีผลงานไม่ดีได้พยายามปรับตัวเองให้ขึ้นมามีผลงานที่ดีขึ้น รวมถึงนักลงทุนเองก็สามารถจะถามจุดขายว่ากองทุนที่ตัวเองจะซื้อเปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันแล้วเป็นอย่างไร ช่วยประกอบการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของนักลงทุนเอง” นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปี2557 ที่ผ่านมานั้นกองทุนที่ได้รับความนิยมได้แก่กองทุนไฮยีลด์บอนด์ (High Yield Bond) ซึ่งเน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเรตติ้งในระดับต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้และขายให้เฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนที่ไม่ใช่นักลงทุนรายย่อยประเภท Accredited Investor เท่านั้นซึ่งในเฉพาะครึ่งปีแรกนี้มีการเปิดกองทุนกันเกือบ 300 กองทุน หรือคิดเป็นมากกว่า 34% ของจำนวนกองทุนที่ออกมาในปี 2557 นี้ มียอดคงค้างประมาณ 500,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกองต่างประเทศที่มีอายุ 3 เดือน 6 เดือน เป็นหลัก กองทุนหุ้นที่ไปลงทุนในต่างประเทศก็เติบโตมากมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 79,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 126% โดยกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ หุ้นยุโรปมีเงินไหลเข้าประมาณ 13,023 ล้านบาท (คิดเป็น 33%) ตามมาด้วย กองหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีเงินเข้ากว่า 8,433 ล้านบาท (21%) ส่วนญี่ปุ่น และสหรัฐมีเงินไหลเข้าประมาณ 5,000 ล้านบาท เท่าๆ กัน “สำหรับกองทุนหุ้นไทยปกติ (ไม่รวมกองประหยัดภาษีและกองทริกเกอร์ฟันด์) เองก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยในปีนี้มีเงินไหลเข้าอีก 28,000 ล้านบาท ทำให้มียอดเงินไหลเข้าติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 11 รวมเป็นเงินกว่า 80,000 ล้านบาท แล้ว และมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมนั้นสูงกว่า 176,000 ล้านบาท โตขึ้นจากปี2550 กว่า 300% สะท้อนว่านักลงทุนเริ่มเห็นประโยชน์จากการลงทุนระยะยาวในหุ้นและเริ่มแบ่งเงินมาลงทุนในหุ้นเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา” นายกิตติคุณ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในปี2557 มีเงินไหลเข้ามากสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 34,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นการไหลเข้ามาในไตรมาสโดยเฉพาะในเดือนสุดท้ายเป็นหลัก เช่นเดียวกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นก็มีส่วนแบ่งแซงขึ้นเป็นอันดับ1 เป็นปีแรกในกลุ่มกองทุน RMF โดยมีส่วนแบ่ง 40.47% ตามมาด้วยกอง RMF-ตราสารหนี้ 33.94% กอง RMF-ผสม 20.76% และกอง RMF-ทองคำ 4.83% ในปีนี้เงินที่จะไหลเข้ากอง LTF ยังยากที่จะประเมินได้ แต่ยอดเงินที่พร้อมขายในปี2558 นี้มีประมาณ 148,280 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการขายออกมาเฉลี่ยประมาณ 10% จากสถิติในอดีตที่ผ่านมา Tags : เอกชัย จงวิศาล • สมาคมบลจ. • กองทุน