"ประยุทธ์"รับข้อเสนอโดยตรงภาคธุรกิจ บอกอย่ากังวลปัญหาการเมือง เผยสมคิดจัดเวทีพบภาคเอกชนในนามคสช. หลังมีเสียงบ่นเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว หวังให้นายกฯรับรู้ปัญหาโดยตรง ขณะภาคธุรกิจพอใจผลการหารือ พร้อมร่วมมือรัฐบาลแก้ปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ เข้าร่วมหารือกับองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อหารือประเด็นนโยบายด้านเศรษฐกิจและข้อเสนอจากภาคเอกชน โดยใช้เวลาหารือนานเกือบ 5 ชั่วโมง ที่บ้านเกษะโกมล ทั้งนี้ บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างเรียบง่าย เพราะไม่ได้จัดห้องเหมือนการประชุมปกติ แต่จัดเก้าอี้นั่งเป็นวงกลม นอกจากพล.อ.ประยุทธ์ ยังมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนภาคเอกชน คือ ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมธนาคารไทย และ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการหารือของนายกรัฐมนตรีครั้ง ในนามหัวหน้าคสช. โดยผู้ที่จัดเวทีการหารือครั้งนี้ คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาและสมาชิกคสช. ได้ติดต่อภาคเอกชน เพื่อมาสะท้อนภาพรวมทางเศรษฐกิจ หลังจากในช่วงปลายปี เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวตามคาดการณ์ แม้รัฐบาลแก้ไขปัญหาไปมาก ดังนั้นจึงไม่มีรัฐมนตรีในรัฐบาลเข้าร่วมด้วย นอกจากรัฐมนตรีที่เป็นคสช. หลังการหารือร่วม พล.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้ตัวแทนภาคธุรกิจเป็นผู้ชี้แจงทั้งหมด พล.ต.สรรเสริญ แก้วกําเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่นายกฯไม่ได้มาชี้แจงเองเป็นเพราะต้องการให้สื่อมวลชนเข้าใจจากภาคธุรกิจ ซึ่งอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าสิ่งที่พูดมานั้นจริงหรือไม่ หลายเรื่องเป็นเรื่องมโนไปเอง จึงให้ภาคธุรกิจพูดถึงข้อเสนอและสิ่งที่รับฟังจากนายกฯ "ภาคธุรกิจได้เสนอหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนแล้ว มีเพียงบางอย่างที่ต้องปรับเพิ่ม เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ แม้เงินจะลงไปทั้งหมดแล้วแต่อาจติดค้างในระดับจังหวัด หรือหน่วยภาคปฏิบัติ เพราะมีบางส่วนวิตกในเรื่องการทุจริต ทั้งนี้นายกฯได้ขอให้ภาคธุรกิจช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นกับภาคธุรกิจด้วยกันเอง เพราะดีกว่าจะให้รัฐบาลเป็นผู้พูด" พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่าทุกคนเป็นห่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลก็ทำดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ในขณะนี้ "นายกฯยังได้ฝากกับภาคธุรกิจด้วยว่าอย่าคิดหรือกังวลในเรื่องของการเมือง อยากให้มองในเรื่องอื่นๆด้วย เพราะเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญ เพียงแต่ไม่อยากให้มองแต่กรณีการถอดถอน การสร้างความปรองดอง ต้องการให้ไปดูในเนื้อหาสาระว่าแต่ละส่วนมีการเสนอ ข้อมูลอย่างไร" ยันปฏิรูปตามโรดแมพ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ภาคธุรกิจมั่นใจว่าหลังจากภาคการดูแลความสงบเรียบร้อย มีทิศทางที่ชัดเจนว่ามีความสงบ ก็ทำให้เกิดความมั่นใจไปได้มากพอสมควร ส่วนการปฏิรูปการเมือง นายกฯได้เน้นย้ำว่าทุกอย่างได้เดินไปตามโรดแมพ ซึ่งนายกฯยืนยันว่าไม่ได้ต้องการที่จะเอนเอียงไปด้านหนึ่งด้านใด แต่ต้องการทำความจริงให้เป็นความจริง ขอให้มีความมั่นใจ “สิ่งที่นายกฯเป็นห่วงมากที่สุดคือการสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยผ่านทางกลุ่มนักธุรกิจว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ตรงกับสิ่งที่รัฐบาลทำหรือไม่ ซึ่งมุมมองในภาพรวมทุกฝ่ายมีความมั่นใจ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ส่วนทิศทางทางการเมืองจากนี้ไปจะดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกๆฝ่าย การมีเสถียรภาพต้องร่วมมือกันทั้งรัฐบาล ภาคธุรกิจและประชาชน" ค้าปลีกเสนอดัน"ดูไบออฟอิสต์" นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป ร่วมกับตัวแทนภาคธุรกิจแถลงว่านายกรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาหารือร่วมกันถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคเอกชนจะมานำเสนอปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาต่างๆเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ประเทศมีอยู่ในปัจจุบันทั้งในเรื่องของแรงงาน การบริโภคและการค้าปลีกที่กำลังซื้อในประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาต่างๆอยู่แล้วแต่การเข้ามาแลกเปลี่ยนของเอกชนจะทำให้การแก้ปัญหาต่างๆมีทิศทางที่ตรงกันมากขึ้น ซึ่งเราก็ได้มีการนำเสนอว่าอยากให้มีการเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลต่อธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญและมีการสอบถามหน่วยงานต่างๆเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการขนาดใหญ่ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 การก่อสร้างท่าเรือสำราญ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างภูเก็ต ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น และส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น “นายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหาว่าการค้าปลีก หากกำลังซื้อในประเทศไม่เพียงพอก็ต้องเสริมด้วยนโยบายการท่องเที่ยวซึ่งต้องมีการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ทำให้ประเทศไทยเป็น "ดูไบออฟอีสต์" ซึ่งถือมองไปข้างหน้า นายกฯโรดแมพ ทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว 5 ปี” นางสาวศุภลักษณ์ กล่าว สำหรับกรณีที่ คสช.ยังไม่ยกเลิกเรื่องการประกาศกฎอัยการศึก นางสาวศุภลักษณ์ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยมากกว่าการคงกฎอัยการศึกซึ่งเห็นได้จากยอดขายของห้างฯสยามพารากอนที่เติบโตถึง 25%.ในไตรมาสก่อน ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างภูเก็ตและเกาะสมุย นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเป็นจำนวนมากสะท้อนว่ามีความมั่นใจในความปลอดภัยในประเทศไทยมากขึ้น รัฐบาลรับฟังปัญหาเอกชน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเอกชนยอมรับว่าขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวแต่รัฐบาลไม่ต้องเป็นกังวล เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเดินหน้าไปได้หากรัฐบาลและเอกชนร่วมมือกันขับเคลื่อน ซึ่งในการหารือนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการขอให้เอกชนลดราคาสินค้าแต่อย่างใดแต่เป็นการหารือเพื่อรับฟังปัญหาที่เอกชนเห็นว่ายังมีข้อติดขัด ทั้งนี้สิ่งที่เอกชนได้ขอรัฐบาลในการหารือครั้งนี้ คือการเร่งรัดเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่บางส่วนยังล่าช้า โดยกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนานั้นได้จ่ายไปแล้ว แต่ส่วนที่ล่าช้าอยู่คือการจ่ายเงินชาวสวนยาง ส่วนของ ส่วนนโยบายการจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกนั้น อยากให้ทำควบคู่กับการสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกร เพราะขณะนี้พบว่ามีเกษตรกรที่ยากจนอยู่กว่า 17 ล้านคน ซึ่งหากมีการขึ้นทะเบียนและบริหารจัดการให้สามารถมีอาชีพเสริมได้จะสามารถช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้ “การหารือรอบนี้ ไม่ได้มีการประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเท่าไร แต่วันนี้เป็นการการดูว่าปัญหาของเอกชนติดขัดตรงไหน หลังจากได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีแล้ว เอกชนหลายท่านก็มีความมั่นใจและเห็นว่าขณะนี้เราอยู่ในช่วงของการขับเคลื่อนประเทศเมื่อรัฐบาลได้รับไปดำเนินการต่อแล้ว หลังจากนี้เอกชนก็จะไปดูว่าจะขับเคลื่อนตรงไหนบ้าง” นายอิสระกล่าว ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ได้เสนอต่อรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน โดยขณะนี้ ฐานะธนาคารมีความมั่นคงและมีความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อยากให้มีการแก้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส.อ.ท.พอใจผลการหารือ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอมรับว่าเอกชนเองก็กังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแต่หลักๆ มาจากปัญหาเศรษฐกิจภายนอกประเทศ แต่ก็เห็นว่าหลายเรื่องรัฐบาลพยายามผลักดันอยู่และจะทยอยออกมาเป็นรูปธรรมในเวลาอีกไม่นานนี้ “นายกฯ ได้ขอให้เอกชนอดทนรอเพราะรัฐบาลก็เร่งรัดนโยบายต่างๆ อยู่ ซึ่งเราก็เชื่อว่านายกฯ มีความตั้งใจ แต่ที่มีความล่าช้าอยู่ก็ไม่ได้มาจากนายกฯ แต่อาจจะติดอยู่ที่กระบวนการทางราชการซึ่งเราได้สะท้อนปัญหาไปนายกฯ ก็รับไปที่จะไปแก้ไขให้” นายสุพันธุ์ กล่าว ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เอกชนรู้สึกพึงพอใจมากที่ได้มีโอกาสในการเสนอข้อปัญหาต่างๆ ต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัญหาที่เอกชนเห็นขณะนี้คือความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณนายกรัฐมนตรีก็ได้มีการชี้แจงได้ทำการเร่งรัด มีการสั่งการลงไปให้มีการผลักดันในทุกส่วนอย่างจริงจัง พร้อมหนุนวางรากฐานระยะยาว นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด ในฐานะประธาน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า การเข้าพบกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครั้งนี้ สภาตลาดทุนไทย ไม่ได้เสนออะไรในส่วนของตลาดทุนเอง เพราะเชื่อว่าถ้าภาคธุรกิจจริงเติบโตไปได้ จะส่งผลดีมาถึงตลาดทุนไทยด้วยเช่นกัน แต่เสนอในภาพรวมมากกว่า เช่น ประเทศไทย ควรใช้งบเพื่อวิจัย และพัฒนาให้มากขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขันในระยะยาว ตัวอย่าง เวียดนาม ใช้งบ 600 ล้านบาทต่อปี เพื่อวิจัยข้าวอย่างเดียว ขณะที่ของไทยน้อยกว่าและใช้รวมหมด เป็นต้น ทาง คสช. ไม่ต้องการให้ภาคธุรกิจไปยึดติดในเรื่องตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้มากนัก เพราะประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการสร้างรากฐานให้กับประเทศในระยะยาว จึงต้องการให้ทุกคนเข้าใจและร่วมสร้างไปพร้อมๆ กันในลักษณะนั้น จะดีกว่าที่จะไปสนใจกับเรื่องตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะเป็นเท่าไร "ทางภาคธุรกิจจริงแต่ละภาคส่วน ได้เสนอกับทาง คสช. ไปหลายเรื่อง ได้แก่ แรงงาน การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่ง คสช. ก็ชี้แจงแล้วว่า ได้ทำไปหลายเรื่องแล้ว เรื่องงบค้างท่อก็อนุมัติไปหมดแล้ว ไม่ได้ติดที่กรมกอง แต่ไปติดอยู่ที่ อบจ. อบต. ต่างๆ หลายเรื่องทำไปแล้ว ซึ่งหลายเรื่องอาจทำไม่ได้ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งนี่ถือเป็นโอกาสที่ดี และภาคธุรกิจเองเห็นด้วย และไม่มีปัญหาถ้าจะใช้จังหวะนี้เพื่อที่จะทำให้เสร็จ หรือวางรากฐานเอาไว้ เพื่อให้รัฐบาลอื่นมาทำต่อไป" Tags : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • คสช. • เศรษฐกิจ • เอกชน • อิสระ ว่องกุศลกิจ • สุพันธุ์ มงคลสุธี • ส.อ.ท. • วรวรรณ ธาราภูมิ • หอการค้า