"กรุงไทย" ตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยโต 10% ปีนี้ หันขยายฐานลูกค้าเอกชน เล็งออกสินเชื่อบุคคลเอาใจมนุษย์เงินเดือน นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย รักษาการผู้บริหารสายงาน สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยไว้ที่ระดับสูงกว่า 10% จากพอร์ตสินเชื่อในเดือนก.ย.ที่มี 6.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร โดยจะเน้นการเติบโตจากสินเชื่อบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดย่อม(SSME) อย่างไรก็ตามหลังเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนต.ค.2557 ว่า หลังจากที่เข้ามาทำงานในธนาคารกรุงไทยแล้ว พบว่าจุดแข็งของกรุงไทยคือฐานลูกค้ากลุ่มข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจที่ถือว่าธนาคารกรุงไทยครองส่วนแบ่งทางการตลาดไว้อยู่ และอีกกลุ่มคือฐานลูกค้าต่างจังหวัดที่ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจรายย่อยกว่า 25-26% เป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรม ดังนั้นกลยุทธ์หลังจากนี้ธนาคารจะเน้นขยายฐานลูกค้าบริษัทเอกชนมากขึ้น "ฐานลูกค้าของธนาคารในปัจจุบันที่ใช้บริการต่อเนื่อง มีประมาณ 10 ล้านราย และเป็นลูกค้ากลุ่มข้าราชการอีก 3 ล้านรายทั่วประเทศ ดังนั้นหากกรุงไทยจะเติบโตไปมากกว่านี้ จำนวนข้าราชการไม่ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นเราก็ต้องไปโตจากภาคเอกชน ก็ต้องปรับพอร์ต" ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในช่วงเดือนก.ย.ปีที่ผ่านมาธนาคารได้ออกสินเชื่อกรุงไทย Super Easy ซึ่งเป็นสินเชื่อบุคคลแบบไม่มีหลักประกันมาทดลองตลาด จับกลุ่มลูกค้าพนักงานบริษัทเอกชนจากเดิมที่ธนาคารมีสินเชื่อกรุงไทยธนวัฎ สำหรับลูกค้ากลุ่มข้าราชการแล้ว โดยใช้ราคาเป็นตัวจูงใจลูกค้าด้วย อัตราดอกเบี้ยเพียง 18% ปีทุกวงเงิน ทุกกรณีทุกประเภทลูกค้า วงเงินโดนๆ 5 เท่าของรายได้สูงสุด 1,000,000 บาท ไม่ต้องมีคนค้ำ ไม่ต้องมีหลักประกัน ซึ่งภาพรวมตลาดสินเชื่อบุคคลในขณะนี้เสนออัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 25-28% "หลังจากทดลองตลาดในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดี และในสิ้นเดือนนี้โปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษอาจจะสิ้นสุดลง ซึ่งธนาคารอาจต้องทบทวนอีกครั้ง โดยธนาคารมองว่าในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดสินเชื่อบุคคลทำให้เราใช้ราคาเป็นตัวนำได้ ซึ่งธนาคารอื่นทำแบบเราไม่ได้เพราะจะกระทบกับพอร์ตที่มีอยู่เดิม" เขายังกล่าวอีกว่า ในแง่ของคุณภาพหนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้การรุกตลาดสินเชื่อบุคคลในภาวะที่หนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้าที่เข้ามามีทั้งลูกค้าที่ดีและไม่ดี แต่ธนาคารสามารถเลือกลูกหนี้ที่ดี "เราไม่ต้องเล่นทั้งกระดาน เราเลือกกลุ่มลูกค้าได้ เลือกกลุ่มที่มีความสามารถชำระหนี้ และมีการคัดกรองความเสี่ยงตามมาตรฐาน พิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ และประวัติชำระหนี้ที่ดี คุ้มค่าความเสี่ยง โดยปัจจุบันสินเชื่อบุคคลในตลาดมีประมาณ 1-2 แสนล้านบาท หากต้องการส่วนแบ่งตลาดที่ระดับ 15% ธนาคารก็ต้องมีพอร์ตประมาณ 2 แสนล้านบาท" นายธัญญพงศ์ กล่าว อย่างไรก็ตามกลุ่มลูกค้าดังกล่าวจะไม่ชนกับฐานลูกค้าของบริษัทบัตรกรุงไทยหรือเคทีซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคาร เนื่องจากเป็นฐานลูกค้าคนละกลุ่ม โดยธนาคารเน้นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานและมีรายได้ในระดับสูง หรือเริ่มต้นที่ 18,000 บาทต่อเดือน ขณะที่จับกลุ่มรายได้ระดับ 1 หมื่นบาท สำหรับการขยายสินเชื่อบ้านของธนาคารนั้นในอดีตเดิมการให้สินเชื่อบ้านของธนาคารจะกระจายลูกค้า แต่ในอนาคตธนาคารจะหันมาเน้นผู้ประกอบการระดับบนมากขึ้นใน 15 ผู้ประกอบการหลัก และให้ความสำคัญกับคุณภาพและความรวดเร็วในการให้บริการตั้งแต่กระบวนการรับคำขอสินเชื่อ การตรวจสอบข้อมูลและอนุมัติรวดเร็ว ลูกค้าในกรุงเทพส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียมราคา 2 ล้านบาท "เรามีจุดแข็งในแง่ของช่องทางสาขา จำนวนสาขาที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่แพ้ใคร หากสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีออกมาก็จะเป็นเรื่องง่าย"นายธัญญพงศ์ กล่าว ส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่ภาพรัฐพยายามผลักดันนั้น ในขณะนี้ธนาคารยังไม่สนใจที่จะเข้าไปทำตลาด เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยก่อนหน้านี้ธนาคารมีสินเชื่อตลาดสด แต่ก็ต้องชะลอการให้สินเชื่อไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อปรับกระบวนการภายในให้พร้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการเก็บหนี้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่ขายของ และต้องมีเครื่องมือในการเก็บหนี้ด้วย ซึ่งธนาคารมองว่ายังมีธุรกิจอื่นที่ธนาคารยังสามารถขยายได้อีกมาก Tags : ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ • ธนาคารกรุงไทย • สินเชื่อรายย่อย • สินเชื่อบุคคล