"ประยุทธ์" ถกเอกชน รับข้อเสนอแก้ปัญหาเศรษฐกิจวันนี้ ด้าน "ปรีดิยาธร" เตรียมหารือหน่วยงานเศรษฐกิจ ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจโลก-ราคาน้ำมันลด เล็งออกมาตรการช่วยรายอุตสาหกรรม ขณะไออาร์พีซี ประเมินมีโอกาสน้ำมันดิบร่วงแตะ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล ชี้รับผลกระทบแค่ทางบัญชี ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (12 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ จะประชุมร่วมอย่างไม่เป็นทางการในกรอบของคสช. ที่บ้านเกษะโกมล กับตัวแทนภาคเอกชน ประมาณ 25 ราย ตัวแทนเอกชนมาจากองค์กรภาคธุรกิจ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุน สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เป็นต้น "เป็นการประชุมในกรอบของคสช. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสอบถามถึงปัญหาในประเด็นด้านเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ" แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เข้ามาหารือร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่มีต่อประเทศไทย "โดยเฉพาะผลกระทบจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังลดลงและคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องโดยให้หน่วยงานต่างๆวิเคราะห์ถึงผลทั้งในแง่ดีและผลเสียที่เกิดขึ้นจากการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก" แหล่งข่าวกล่าวว่า ในเบื้องต้น ประเมินว่าราคาน้ำมันลดลง ส่งผลดีต่อต้นทุนราคาสินค้า "ในสัปดาห์นี้จะหารืออีกครั้ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายงานผลกระทบโดยละเอียดลงไปในแต่ละรายอุตสาหกรรมมาเสนอเป็นข้อมูลด้วย" เตรียมหามาตรการช่วยรายอุตฯ ด้านนายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าในการหารือของกระทรวงและหน่วยงานต่างๆกับรองนายกรัฐมนตรีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจได้รายงานภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และได้มีการประเมินเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าจะดีขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สำคัญคือราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลง ขณะเดียวกัน การปรับเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ได้มีความชัดเจนขึ้น รวมถึงได้มีการเร่งการอำนวยความสะดวกให้การทำงานของภาคอุตสาหกรรมมีมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการออกใบอนุญาตต่างๆ ได้รับการปรับปรุงจะเอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชนให้มากขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรในกลุ่มที่เป็นอาหารมีจะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจที่ค่อยๆฟื้นตัวขึ้นอย่างไรก็ตามส่วนราคายางพารานั้นยังต้องแก้ปัญหาต่อไป "การประชุมรอบนี้มีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่ได้ตัวเลขที่ชัดเจน มีการพูดถึงเรื่องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย นอกจากดูในภาพรวมแล้วยังต้องมีการดูลงเป็นรายเซ็คเตอร์ของเศรษฐกิจด้วยว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้นัดหารืออีกครั้งภายในสัปดาห์นี้เพื่อให้ได้ข้อสรุป” นายปิติพงศ์ กล่าว "ไออาร์พีซี"คงแผนลงทุนปีนี้หมื่นล. สำหรับธุรกิจน้ำมันยังได้รับผลกระทบจากราคาขาลง โดยนายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่าราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในส่วนของการขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ซึ่งกระทบหนักในช่วงไตรมาส 4 ปี 2557 และยังมีผลกระทบต่อเนื่องมายังไตรมาส 1 ปีนี้ แต่น้อยลง อย่างไรก็ตาม การขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบในเชิงบัญชีเท่านั้น ในด้านการทำธุรกิจ หรือกำไรจากการดำเนินงาน ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะกำไรของธุรกิจโรงกลั่นหลักๆมาจากส่วนต่างของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบ กับราคาผลิตภัณฑ์ หรือราคาน้ำมันสำเร็จรูป ปัจจุบันส่วนต่างดังกล่าว หรือมาร์จิ้นไม่ได้ปรับลดลง และยังอยู่ในระดับที่ดี เพราะราคาผลิตภัณฑ์ปรับลดลงช้ากว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก นอกจากนี้การที่ราคาน้ำมันปรับลดลงมาก ยังส่งดีทำให้บริษัทใช้เงินในการทำธุรกิจน้อยลง โดยเฉพาะการใช้เงินสำหรับการสั่งซื้อน้ำมัน ทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจมากขึ้น "ราคาน้ำมันขาลงในรอบนี้ มาร์จิ้นไม่ได้ลดลงไปด้วย หรือลดลงช้ากว่า ทำให้กำไรจากการทำธุรกิจ หรือค่าการกลั่นปรับตัวดีขึ้น เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันมาร์จิ้นก็ยังอยู่ในระดับที่ดี" นายสุกฤตย์ กล่าวว่า ยันไม่ปรับแผนแม้ราคาน้ำมันดิ่งแรง นายสุกฤตย์ กล่าวว่า แม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลงแรง แต่บริษัทไม่จำเป็นต้องปรับแผนการดำเนินงานอะไร ทั้งแผนการลงทุน และการบริหารสต็อกน้ำมัน เพราะตามนโยบายการบริหารงานของบริษัทในกลุ่มปตท. จะมีการเก็บสต็อกน้ำมันให้อยู่ในระดับที่ต่ำสุดอยู่แล้ว นอกเหนือจากการเก็บสำรองตามกฎหมาย ส่วนแผนการใช้เงินลงทุนในปีนี้ บริษัทยังคงแผนเดิมไว้ คือ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้น ประเมินว่ามีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะลดลงไปสู่ระดับต่ำสุด เหมือนราคาน้ำมันขาลงในรอบที่แล้ว ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกทำสถิติต่ำสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นราคาก็จะปรับขึ้นไปเข้าสู่จุดสมดุลใหม่ ไตรมาส4ปีก่อนขาดทุนสต็อกกว่า5พันล. ด้าน บล.เคเคเทรด ประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2557 ไออาร์พีซีจะขาดทุน และมีการขาดทุนจากสต็อกน้ำมันไม่น้อยกว่า 5-5.5 พันล้านบาท บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบสิ้นปี 2557 ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปริมาณสต็อกอยู่ ที่ 7.1 ล้านบาร์เรล แม้กำไรปกติ จะได้ประโยชน์จากค่าการกลั่นที่ปรับเพิ่ม โดยค่าการกลั่นสิงคโปร์ไตรมาส 4 อยู่ที่ 6.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 31% จากไตรมาสก่อนหน้า และส่วนต่างราคาปิโตรเคมีที่กลับมาอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิต หรือแนปทาลดลง 28% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากสต็อกลอสท์ได้ ปีนี้คาดพลิกโชว์กำไร1.6พันล้าน ทั้งนี้คาดว่ากำไรในปี 2558 ของไออาร์พีซีจะอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท พลิกจากปี 2557 ที่ขาดทุน โดยมีปัจจัยบวกสนับสนุนการฟื้นตัวมาจาก 1. ต้นทุนการดำเนินงานงานลดลงจากเดลต้า โปรแกรม ( Delta Program) ที่เริ่มมาตั้งแต่ ไตรมาส 3 ปี 2557 และ 2. การกลับมาผลิตของหน่วย DCC ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ในปี 2557 3.รับรู้เงินประกันส่วนธุรกิจหยุดชะงัก จากเหตุการณ์เพลิงไหม้หน่วย DCC ประมาณ 773 ล้านบาท และ 4.โครงการ UHV Project เพิ่มการผลิตโพรไพลีนอีก 3.2 แสนตันต่อปี จากการนำน้ำมันเตาไปเพิ่มมูลค่า ซึ่งภายหลังโครงการดังกล่าวเริ่มผลิต จะทำให้สัดส่วนน้ำมันเตาลดลงจาก 23% เหลือ 8% จากแผนที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากจะทำให้ไออาร์พีซี มีกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น ยังทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 8-8.5 ดอลลาร์เหลือ 7.5-8 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2558 ชี้ส่งผลลบกำไรไตรมาส4ไออาร์พีซี ส่วน บล.บัวหลวง มองแนวโน้มมีมุมมองเชิงลบต่อกำไรสุทธิของไออาร์ซีพีในไตรมาส 4 ปี 2557 เนื่องจากไม่คิดว่า บริษัทจะมีการรับรู้รายได้พิเศษทั้งหมดที่ 3.1 ล้านบาท เหมือนไตรมาส 3 ปี 2557 เพราะกำไรจากการกลับรายการภาษีเงินได้รอตัดบัญชี และการตัดจำหน่ายหนี้เสียถือเป็นกำไรครั้งเดียว ไออาร์พีซี ดังนั้นแนะว่า กำไรค่าสินไหมทดแทนจากประกันในไตรมาสดังกล่าวจะอยู่ที่ 600 ล้านบาท ต่ำกว่า 710 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2557 เนื่องจากบริษัทมีแนวโน้มสูงที่จะขาดทุนสต็อกน้ำมันอีก (อ้างอิงจากสมมติฐานกรณีพื้นฐานของเราว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ระดับ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจนถึงสิ้นปี) เรามองว่าบริษัทจะรายงานขาดทุนสุทธิที่ 599 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2557 สำหรับการเคลื่อนไหวราคาหุ้นไออาร์พีซีเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมาปิดตลาดที่ระดับ 3.12 บาท ลดลง 0.04 บาท หรือลดลง 1.27% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 25.79 ล้านบาท Tags : ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • เศรษฐกิจโลก • ราคาน้ำมัน • ไออาร์พีซี • ส.อ.ท. • แหล่งข่าว • ปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา • ไตรมาส • บล.บัวหลวง