"แบงก์ชาติ" ลั่นพร้อมกำกับดูแลธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เน้นติดตามรูปแบบทวงหนี้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.มีความพร้อมในการกำกับดูแลผู้ประกอบการที่จะมาทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อในระดับรากหญ้า(นาโนไฟแนนซ์) โดยรูปแบบการกำกับดูแลจะเน้นในเรื่องการติดตามทวงหนี้ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นหลัก “เรื่องการตรวจสอบเราคงเน้นไปที่การกำกับดูแลมากกว่า ดูว่ามีการติดตามทวงหนี้เรียบร้อย เป็นระเบียบหรือไม่ ส่วนเรื่องฐานะคงทำในรูปแบบว่า เขามีทุนเท่าไร สามารถกู้ยืมได้กี่เท่ามากกว่า” นายประสารกล่าว สำหรับความพร้อมในการกำกับดูแล เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะนาโนไฟแนนซ์ถือเป็นผลิตภัณฑ์การเงินประเภทหนึ่ง รูปแบบในการกำกับดูแลคล้ายกับ การให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้นใครอยากให้บริการ ก็สามารถมาขอใบอนุญาตจากทางธปท.ได้ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการที่มาขอใบอนุญาต เชื่อว่าส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ แต่อาจจะมีบริษัทใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาบ้าง เพียงแต่จะเป็นลักษณะของบริษัทที่มีเครือข่าย มากกว่าจะเป็นลักษณะของผู้ประกอบการรายเล็กตามจังหวัดต่างๆ เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ธปท. เองก็คงไม่สามารถตามไปกำกับดูแลได้หมด “ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ การกำกับดูแลคงคล้ายๆ กับผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลเดิม แต่อาจมีผู้เล่นใหม่ ซึ่งก็เป็นรูปแบบบริษัทที่มีเครือข่าย มากกว่าจะเป็นประเภทรายเล็กรายย่อยที่อยู่ตามต่างจังหวัด เพราะพวกนี้เราไปดูแลไม่ไหว เราไม่มีคนขนาดนั้น และไม่ใช่หน้าที่เราที่จะลงไปดูแลด้วย แต่อันนี้จะเป็นบริษัทใหญ่ มีสาขาหลายแห่ง แล้วมาขอไลเซ่นส์” นายประสารกล่าว นายประสาร กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและ ธปท. กำกับดูแลอยู่ เช่น บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เพียงแต่เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะผ่อนปรนมากกว่า เพราะในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลจะขีดวงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ แต่นาโนไฟแนนซ์ไม่มีกำหนดวงเงินส่วนนี้ เพียงแต่จะปล่อยกู้ต่อรายไม่เกิน 1 แสนบาท นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเมื่อมีประกาศออกมาเมื่อไหร่ก็สามารถเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้ามาทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ได้ทันที โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่สนใจโทรมาสอบถามข้อมูลบ้าง เพียงแต่รายละเอียดและคุณสมบัติของผู้มาขออนุญาตนั้น อยากรอให้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการก่อน “คิดว่าน่าจะมีประกาศออกมาในเร็วๆ นี้ หลังจากที่มีประกาศออกมาก็จะเป็นขั้นตอนของการเปิดรับสมัคร โดยเราทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับเรื่องและตรวจสอบคุณสมบัติเท่านั้น ถ้าเข้าคุณสมบัติก็ส่งต่อให้กระทรวงการคลังพิจารณา” นายรณดลกล่าว สำหรับในด้านความพร้อมนั้น นายรณดล กล่าวว่า ขณะนี้ทีมงานมีความพร้อมแล้ว หลังจากที่มีประกาศอย่างเป็นทางการ ทางธปท.ก็จะจัดตั้งศูนย์ฮ็อตไลน์ เพื่อคอยตอบคำถามสำหรับผู้สนใจใช้บริการ นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการหารือเพื่อแก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่20)พ.ศ.2557 ว่าด้วยการลดภาระของผู้ค้ำประกัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ก.พ.2558 ว่า เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้เข้าให้ข้อมูลกับ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน หลังจากนี้คงต้องขึ้นกับความเห็นของคณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้วว่า จะมีความเห็นอย่างไร นายสาทร โตโพธิ์ไทย ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธปท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ซึ่งมี นายมีชัย เป็นประธาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสมาคมธนาคารไทย กรมบังคับคดี ธปท. กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เข้ามาชี้แจงถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ภายหลังการหารือกันเสร็จสิ้น คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้หารือกันต่อเป็นการภายใน หลังจากนี้จึงต้องขึ้นกับความเห็นของคณะกรรมการชุดนี้แล้วว่า จะตัดสินใจอย่างไร โดยคณะกรรมการชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ในรัฐบาลแทบทั้งสิ้น เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นต้น “หลังจากนี้คงต้องขึ้นกับคณะกรรมการแล้วว่า ท่านจะมีความเห็นอย่างไร จะเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน หรือจะมีการแก้ไข ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นกับความเห็นของคณะกรรมการ เราเพียงแต่ไปให้ข้อเท็จจริงเท่านั้น”นายสาทรกล่าว Tags : ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • นาโนไฟแนนซ์ • ธปท. • แบงก์ชาติ • หนี้