'ขาใหญ่พีพี'5บจ.เอี่ยว'เอสแอลซี'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 12 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เปิดรายชื่อนักลงทุนรายใหญ่ แห่ลงทุนหุ้นพีพีบริษัทเล็ก พบพิรุธหน้าซ้ำ บางรายลงขัน"พีพี" เวลาไล่เลี่ย3-5บริษัท

    เปิดรายชื่อนักลงทุนรายใหญ่ แห่ลงทุนหุ้นพีพีบริษัทเล็ก พบพิรุธหน้าซ้ำ บางรายลงขัน"พีพี" เวลาไล่เลี่ย 3-5 บริษัท ควักเงินเฉียดพันล้านบาท อาทิ ภานุรักษ์ แสงอร่าม , เอกวิชญ์ กมลเทพา ,อรอร อัครเศรณี , ตรีขนิษฐ์ มากรักษา เผยเป็นกลุ่มหลักที่โยงใยพีพี 6 บริษัทที่ล้วนเอี่ยว “โซลูชั่น คอนเนอร์”

    “กรุงเทพธุรกิจ” แกะรอยการเพิ่มทุนจดทะเบียนให้กับบุคคลในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้รับความนิยมอย่างคึกคัก ในช่วงปี 2555-2557 โดยพบว่าใน 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียน มีการระดมทุนในรูปแบบพีพี หรือระดมทุนในบุคคลวงจำกัดมากถึง 4.34 แสนล้านบาท

    การแห่ระดมทุนโดยเพิ่มทุนแบบพีพี กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นช่องทางเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย เป็นช่องโหว่ ให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มทุนไม่สมเหตุผล และจากการตรวจสอบของ “กรุงเทพธุรกิจ” ยังพบด้วยว่า นักลงทุนที่เข้ามารับซื้อหุ้นพีพีของหลายบริษัทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีชื่อที่ซ้ำซ้อนอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะบจ. ที่เกี่ยวโยงกับ บริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์(1998) จำกัด(มหาชน) หรือ SLC

    โดยการเพิ่มทุนจดทะเบียน ของ 6 บริษัทจดทะเบียน ซึ่งประกอบด้วย โซลูชั่น คอนเนอร์(1998) จำกัด(มหาชน) หรือ SLC , บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ AQUA, บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) AQ ,บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) GEL ,บริษัท วธน แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) WAT และบริษัท ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด(มหาชน)TH มีรูปแบบการเพิ่มทุนจำนวนมหาศาลคล้ายกัน และ มีผู้ที่ได้รับการจัดสรรทับซ้อนกันอย่างมาก

    กว่า2ปีพบซื้อหุ้นเพิ่มทุนพีพีซ้ำกัน

    “กรุงเทพธุรกิจ” พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนที่ปรากฏชื่อ เข้ารับซื้อหุ้นเพิ่มทุนพีพี ซ้ำกันใน 6 บริษัทดังกล่าวนับสิบราย แต่กรองเฉพาะที่ลงทุนตั้งแต่ 3 บริษัทขึ้นไป มีอยู่จำนวน 6 ราย และยังเป็นที่น่าสังเกตว่า นักลงทุนเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีชื่อปรากฏเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป หรือ NMG ซึ่งบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ ได้แจ้งการเข้าครอบครองหุ้น 12.27 % เมื่อปลายปี 2557 อีกด้วย สะท้อนว่า นักลงทุนกลุ่มนี้ มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน ถึงแม้ในการชี้แจงรายชื่อผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นพีพีแต่ละครั้ง ต่อตลาดหลักทรัพย์ มักระบุว่าผู้ที่ได้รับพีพี แต่ละคน ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

    ตัวอย่างที่บ่งชี้ ถึงการจัดสรรหุ้นพีพี ในกลุ่มบุคคลซ้ำๆ กัน คือ นายภาณุรักษ์ แสงอร่าม นักธุรกิจ และนักลงทุนอสิระ ที่มีชื่อพีพีใน 5 บริษัทจาก 6 บริษัทที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ติดตาม , นายระวิโรจน์ เขียนนิลศิริ อาชีพนักธุรกิจ ลงทุนพีพี 4 บริษัท , นายตรีขนิษฐ์ มากรักษา Business Development บริษัท ดิตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด มีชื่อพีพี 5 บริษัท

    5อันดับรับหุ้นเพิ่มทุนพีพีมากสุด

    นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) ลงทุนพีพีใน 3 บริษัทจาก 6 บริษัทดังกล่าว , นายเอกวิชญ์ กมลเทพา มีชื่อพีพี 4 บริษัท และ, นางสาว อรอร อัครเศรณี ลงทุนในหุ้นพีพี 3 บริษัท , นายยรรยงค์ อินทรสงเคราะห์ พีพี 3 บริษัท , ศิร์วสิษฎ์ สายน้ำผึ้ง ผู้ถือหุ้น 9.14 % ในบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) ก็เป็นบุคคลหนึ่ง ที่ได้รับการจัดสรรหุ้น PP ของ 3 บริษัทในกลุ่มนี้ คือ โซลูชั่น คอนเนอร์ฯ , ตงฮั้วฯ และ เอคิว เอสเตท

    จากการรวบรวม พบว่า นักลงทุนที่เข้ามารับหุ้นเพิ่มทุนพีพี มากที่สุดใน 6 บริษัทนี้ 5 อันดับแรก คือ นายภาณุรักษ์ แสงอร่าม โดยใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนพีพี 5 บริษัท ในช่วงปี 2556-2557 รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท เอคิว เอสเตท มูลค่า 500 ล้านบาท , บริษัท ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ 28.62 ล้านบาท ,บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) มูลค่า 80 ล้านบาท , บริษัทวธน แคปปิตัล 2 รอบของการทำพีพี รวมมูลค่า 180 ล้านบาท และยังเป็นผู้ลงทุนซื้อหุ้นพีพีของ บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง อีก 2 รอบรวมมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท

    "ภาณุรักษ์"รับชื่นชอบลงทุนซื้อหุ้นพีพี

    “กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามไปยัง นายภาณุรักษ์ แสงอร่าม ถึงสาเหตุที่ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนพีพีจำนวนมาก นายภาณุรักษ์ ให้คำตอบว่า ชื่นชอบการลงทุนซื้อหุ้นพีพี เพราะได้รับผลตอบแทนที่ดี ความเสี่ยงต่ำ แต่จะเลือกเฉพาะธุรกิจที่มีอนาคตเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สะท้อนเช่นนั้นนัก เมื่อพิจารณาจาก 5 บริษัทที่นายภานุรักษ์ มีชื่อเป็นผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นพีพี

    สำหรับอันดับสองที่จัดเป็น “ขาใหญ่พีพี” ในกลุ่มนี้ คือ นายทวีป เรืองหร่าย รับซื้อหุ้นเพิ่มทุน 2 บริษัท คือบริษัทอควา คอร์เปอเรชั่น 845 ล้านบาท , บริษัท เอคิว เอสเตท 55 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ นายระวิโรจน์ เขียนนิลศิริ ใช้เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน 4 บริษัท ใช้เงินรวมกันกว่า 800 ล้านบาท เพื่อพีพีของบริษัท เอคิว เอสเตท , บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) , บริษัท วธน แคปปิตัล และ บริษัท ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์

    อันดับ 4 คือ นายนิรันดร์ เหตระกูล ใช้เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน 2 บริษัท คือ บริษัท เอคิว เอสเตท และบริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง รวมประมาณ 600 ล้านบาท ส่วนอันดับที่ 5 ปรากฏชื่อ นายตรีขนิษฐ์ มากรักษา ใช้เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน 4 บริษัท รวมกว่า 600 ล้านบาท โดยซื้อหุ้นพีพี 4 บริษัทในกลุ่มนี้ คือ บริษัท วธน แคปปิตัล , บริษัท เอคิว เอสเตท , บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง และ บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998)

    จากการติดตามแบบรายงานเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนพบว่า ผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนพีพี ที่มีรายชื่อซ้อนๆ กันใน 6 บริษัทดังกล่าว โดยต้องใช้เงินทุน ตั้งแต่ 300 ล้านบาทไปจนถึง 1,000 ล้านบาท บางคน ระบุอาชีพที่ไม่สอดรับ เช่น นักลงทุนอิสระ, พนักงานประจำ, ที่ปรึกษากฎหมาย, เจ้าของอู่ซ่อมรถ

    เปิดพฤติกรรมลงทุนนิยมหากำไร

    สำหรับพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนนิยมหากำไรจากหุ้นเพิ่มทุนแบบพีพี โดยจะถือหุ้นเพิ่มทุนไว้ในมือไม่นาน บางรายขายทำกำไร ตั้งแต่วันแรกที่หุ้นเพิ่มทุนเข้าซื้อขาย โดยเมื่อย้อนดูวันที่หุ้นเพิ่มทุนหลายๆตัวเข้าซื้อขายมักเปิดและปิดสูงกว่าต้นทุนเสมอ และเมื่อพิจารณาจาก

    รายชื่อวันปิดสมุดทะเบียนบางบริษัทแทบไม่ปรากฏชื่อนักลงทุนที่เข้ามารับหุ้นเพิ่มทุนพีพีอยู่แล้ว เช่นกรณีเพิ่มทุนจดทะเบียนในรูปแบบพีพีของบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ หรือ SLC ครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค.2557 และชำระเงินเมื่อเดือนพ.ย.2557 ซึ่งมีชื่อ นักลงทุนที่เข้ามารับซื้อหุ้นพีพี 2 รายคือ นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล และ นางสาวพรเพ็ญ นิธิเกษม และไม่ถึงเดือนหลังการชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุน คือเมื่อหุ้นใหม่เข้าซื้อขายในตลาด นางสาวพรเพ็ญ ได้ขายหุ้นที่ได้รับจัดสรรพีพีทั้งหมด ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความกังขาให้กับ นักลงทุนรายย่อยอย่างมาก

    ตัวอย่างของผลประโยชน์ที่ผู้ซื้อหุ้นพีพีได้รับ เช่นกรณีขายหุ้นเพิ่มทุนบริษัทอควา คอร์เปอเรชั่น ราคา 0.501 บาท หลังเข้าซื้อขายวันแรก เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2557 ราคาหุ้น อควา คอร์เปอเรชั่น ปิดตลาดระดับ 1.60 บาท ระหว่างวันราคาหุ้นปรับตัวสูงสุดที่ 1.93 บาท และต่ำสุดที่ระดับ 0.84 บาท และปิดตลาดที่ 0.85 บาท ซึ่งเมื่อคิดจากราคาสูงสุด บ่งชี้ว่านักลงทุนรายใหญ่ที่ขายทำกำไรออกมาวันแรก จะได้รับผลตอบแทนประมาณ1.429 บาทต่อหุ้นคิดเป็น 285% หรือรับกำไรมากกว่า 2 เท่าตัว

    พบปรากฏชื่อผู้ถือหุ้น NMG

    นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล นักธุรกิจและนักลงทุนชื่อดังชาวอุดรธานี เจ้าของโรงโม่หินขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน หนึ่งในผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นพีพีจำนวนมากในกลุ่มนี้ และยังปรากฏชื่ออยู่ในผู้ถือหุ้น NMG กล่าวว่า เหตุผลที่ตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ และบริษัทวธน นั้นเพราะลงทุนถือหุ้นมานานแล้ว และราคาซื้อขายในตลาดถือว่าไม่แพง มีโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างได้มากกว่าหุ้นตัวอื่นๆ พร้อมทั้งยืนยันว่า “โดยส่วนตัวไม่รู้จักกับกลุ่มผู้บริหารบริษัทโซลูชั่นฯ ”

    “ผมซื้อหุ้นโซลูชั่นตามนายวิชัย ทองแตง แต่ไม่ได้ออกตาม จริงๆ ลงทุนหุ้นตัวนี้มาตั้งแต่ราคา 0.50 บาท ไป 1.50 บาท ช่วงนั้นได้ขายทำกำไร แต่ด้วยความที่เชื่อว่า ราคาจะไปไกล 2-3 บาท ตามคำบอกเล่าของรายใหญ่บางคน ทำให้ทนถือต่อไป ผลปรากฏว่า ไปไม่ถึง ส่วนหุ้น วธน ซื้อตาม พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร คนปัจจุบัน ” นายสุวิทย์ กล่าว

    "เอกวิชญ์"รับถือNMGเชื่อมีอนาคต

    ส่วน นายเอกวิชญ์ กมลเทพา ผู้ลงทุนรายใหญ่อีกหนึ่งคนที่ได้รับการจัดสรรพีพีจำนวนมาก กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” โดยยืนยันว่าการเข้ามาลงทุนในพีพี ส่วนใหญ่เป็นการชักชวนจากเพื่อนฝูง แต่เลือกลงทุนจะเน้นธุรกิจที่ตัวเองสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มสื่อ เพราะเท่าที่ลงทุนช่วงนี้ก็จะถือแต่หุ้นสื่อ ล่าสุดยอมรับว่าเข้าไปถือ NMG เพราะมองว่ามีอนาคต เนื่องจากเชื่อว่ากระแสทีวีดิจิทัล จะช่วยหนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น และสามารถทำกำไรได้

    การเพิ่มทุนจดทะเบียนในรูปแบบพีพี หรือ ขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงในวงจำกัด Private Placement โดยมีรายชื่อผู้ที่ได้รับการจัดสรรซ้ำๆ กัน เป็นประเด็นที่นำมาสู่ข้อกังขา ของนักลงทุนรายย่อย ที่ตั้งคำถามว่า การเพิ่มทุนจดทะเบียนของ หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เป็นไปเพื่อการลงทุนขยายกิจการจริงหรือไม่ หรือ เป็นเพียงแค่เกมการเงิน บนความเสียหายของนักลงทุนรายย่อย

    นักลงทุนรายย่อยอีกราย ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทโซลูชั่น กล่าวว่า การที่บริษัทมีการเพิ่มทุนแบบพีพี จะทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยเสียเปรียบ เนื่องจากสัดส่วนการถือครองหุ้นลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และราคาหุ้นเพิ่มทุนแบบพีพีส่วนมากจะต่ำกว่าราคาในกระดาน ดังนั้นเมื่อประกาศเพิ่มทุนราคาหุ้นในกระดานจะปรับลดลงทันที ขณะที่นักลงทุนที่ได้รับจัดสรรมีโอกาสที่จะได้รับกำไรส่วนต่างมากกว่า ซึ่งถือว่าการเพิ่มทุนลักษณะนี้ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย

    "ที่ผ่านมาถือหุ้นโซลูชั่นประมาณ 1.4 ล้านหุ้น เมื่อบริษัทประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนทั้งแบบอาร์โอ หรือพีพีไม่ได้ใช้สิทธิ์ เพราะมองว่าการเพิ่มทุนในอัตรา 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ เป็นการบังคับให้ต้องเพิ่มทุนเพราะไม่เช่นนั้นสัดส่วนถือหุ้นจะน้อยลงแต่ ส่วนตัวใช้วิธีรับซื้อหุ้นในกระดานปกติเพื่อรักษาสัดส่วนไว้ได้ต้นทุนที่ต่ำกว่าด้วย" นักลงทุนรายย่อยกล่าว

    Tags : กรุงเทพธุรกิจ • พีพี • โซลูชั่น คอนเนอร์ • ซื้อหุ้น

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้