"ซีไอเอ็มบี"ตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตเอสเอ็มอีรายเล็กเป็น10%ในปีนี้ ควบคู่รายได้ค่าธรรมเนียมโต100%หวังเพิ่มกำไรโต40% นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป้าหมายสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 16-17% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 8,300 ล้านบาท เพื่อให้พอร์ตสินเชื่อในสิ้นปีก่อนที่มี 5.25 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็น 6.1 หมื่นล้านบาทในสิ้นปีนี้ โดยกลยุทธ์หลักในปีนี้จะเน้นการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาทเป็นสัดส่วนหลัก หรือเป็นสินเชื่อใหม่ 3-5 พันล้านบาท โดยธนาคารมีเป้าหมายว่าในสิ้นปีนี้สัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากเดิมที่มีสัดส่วนน้อยมาก ขณะที่เอสเอ็มอีรายกลางและเอสเอ็มอีรายใหญ่จะเหลือสัดส่วนอย่างละ 45% โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีรายใหญ่จะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นและมีการคัดเลือกอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ทำให้สินเชื่อกลุ่มนี้อาจชะลอตัวไปบ้าง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคเกษตรเช่นข้าวและยางพารายังเป็นกลุ่มที่ธนาคารใช้ความระมัดระวังต่อเนื่อง ทั้งนี้การหันมามุ่งเน้นเอสเอ็มอีรายเล็กจะทำให้ผลตอบแทนสินเชื่อดีขึ้น โดยส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของสินเชื่อกลุ่มนี้อยู่ที่ 6% หรือ 2 เท่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของกลุ่มเอสเอ็มอีรายใหญ่ โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายกำไรจากธุรกิจสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 40% นอกจากรายได้ดอกเบี้ยแล้วธนาคารยังตั้งเป้าหมายรายได้ค่าธรรมเนียมปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอีก 100% เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารมีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเพียง 11% โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเป็น 15% ของรายได้รวม และจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% ใน 5 ปีข้างหน้า สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลจากสินเชื่อเอสเอ็มอียังอยู่ในระดับต่ำหรือ 0.4-0.5% เทียบกับอุตสาหกรรมที่มี 2% เนื่องจากธนาคารมีการติดตามสถานการณ์ลูกหนี้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ในปีนี้ธนาคารจะมุ่งเน้นกลุ่มเอสเอ็มอีที่ออกไปขยายกิจการตามแนวชายแดนมากขึ้น เช่นการเข้าไปตั้งโรงงาน ร่วมทุน หรือหาพันธมิตรในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างพิจารณาทางเลือกดังกล่าวเช่นบริษัทยูโรเปียนฟู้ดที่สินค้ากำลังเป็นที่นิยมในประเทศเพื่อนบ้าน ทางด้านบล.ทิสโก้ มองแนวโน้มกำไรของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4 ของปี 2557 ยังอ่อนแอ ยกเว้นธนาคารทหารไทยและกสิกรไทย โดยคาดว่ากำไรทั้งระบบจะ เท่ากับ 4.26 หมื่นล้านบาท ลดลง 2% YoY และ 13% QoQ จากการลดลงของรายการพิเศษ และต้นทุนการดำเนินงานและสินเชื่อที่มักจะสูงตามปัจจัยฤดูกาล สำหรับไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อขจัดผลของฤดูกาลออกไปแล้ว เราคาดว่าความต้องการใช้สินเชื่อสำหรับการบริโภคสูงขึ้น แต่สินเชื่ออาจอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจากการชำระคืนเงินกู้ของลูกหนี้ ส่วนภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการจับจ่ายใช้สอย อันจะช่วยเพิ่มการเติบโตของรายได้ให้กับธนาคารที่เน้นปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ SME และรายย่อย มากกว่าธนาคารที่เน้นปล่อยสินเชื่อบรรษัท เราจึงแนะนำ KBANK, TMB และ SCB เป็นหุ้นเด่นที่สุดในกลุ่มธนาคาร Tags : จิรัชยุติ์ อัมยงค์ • ธนาคาร ซีไอเอ็มบี