ปี60ใช้สิทธิ์เอฟทีเอ100%ลดต้นทุน2.5แสนล้าน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สศอ.ตั้งเป้าปี 60 ดันผู้ประกอบการใช้สิทธิเอฟทีเอให้ได้ 100% คาดจะได้ประโยชน์กว่า 2.5 แสนล้านบาท

    นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ตั้งเป้าให้สินค้าในกลุ่มที่ได้ประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจากการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ได้ใช้สิทธิประโยชน์เต็ม 100% อย่างช้าภายในปี 2560

    โดยคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีในการส่งออก 252,789 ล้านบาท และภาษีในการนำเข้า 132,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้ามีต้นทุนลดลง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

    “จากตัวเลขล่าสุดในปี 2556 ภาคส่งออกใช้สิทธิเอฟทีเอเพียง 41% รวมมูลค่าภาษีที่ประหยัดได้ 135,855 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุดถึง 91,370 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าที่สามารถประหยัดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA มากที่สุดยังคงเป็นสินค้ากลุ่มยานยนต์ รองลงมาคือกลุ่มอาหาร 18,327 ล้านบาท และกลุ่มพลาสติก ในขณะที่สถิติของปี 2557 ยังถือว่าอยู่ในภาวะทรงตัว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า” นายอุดม กล่าว

    ส่วนประเทศที่ใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอต่ำที่สุด ได้แก่ พม่า 7.4% กัมพูชา 5.7% และ สปป.ลาว 3.8% ผู้ส่งออกจึงมีโอกาสอีกมากในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการส่งออกสินค้า

    หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มสินค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ในระดับต่ำและไม่ถึง 50% ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 19.3% เหล็ก 22.5% เครื่องหนัง 31% ยา 35.9% เครื่องใช้ไฟฟ้า 37.2% ปูนซีเมนต์ 41.1% กระดาษ 41.9% สิ่งทอ 43.1% และอาหาร 45.3% ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงแต่ไม่เต็ม 100% ได้แก่ พลาสติก 73.3% ไม้และเฟอร์นิเจอร์ไม้ 71.3% เคมีภัณฑ์ 68.7% เครื่องนุ่มห่ม 64.9% และชิ้นส่วนยานยนต์ 52.4%

    อุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิเอฟทีเอได้เต็มที่ เพราะผู้ประกอบการบางส่วนไม่เข้าใจข้อมูลที่แท้จริงว่าได้สิทธิประโยชน์ในสินค้าชนิดใดบ้าง ทำให้ผู้ประกอบการบางรายยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างครบถ้วน และไม่พร้อมในการดำเนินการเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ และในรายที่ได้สิทธิประโยชน์แล้วแต่ยังใช้ไม่ถึง 50% เพราะมีความพอใจในสิทธิที่ได้รับอยู่แล้ว หรือได้รับอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาเลเซียที่ยังกีดกันการนำเข้าสินค้าบางประเภทจากไทย เป็นต้น

    “ถ้าเราสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกรอบเอฟทีเอได้มากขึ้น เรามีโอกาสเติบโตมากในกลุ่มประเทศเออีซี แต่ทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าในกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังไม่ค่อยจะเข้ามาขอใช้สิทธิ์ คงจะต้องมีมาตรการกระตุ้นมากขึ้น” นายอุดม กล่าว

    ปัจจุบันการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วของไทย จำนวน 11 ฉบับ กับ 15 ประเทศ คือ 1. อาเซียน 2. ออสเตรเลีย 3. ญี่ปุ่น 4. อินเดีย 5. เปรู 6. นิวซีแลนด์ และ 7. ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน กับประเทศคู่เจรจาต่างๆ อีก 5 ฉบับ ได้แก่ 1. จีน 2. อินเดีย 3. ญี่ปุ่น 4. เกาหลีใต้ และ 5. ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

    นายอุดม กล่าวด้วยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในปี 2558 จะขยายตัวได้ถึง 4% ตามเป้าที่คาดไว้ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตกว่าปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหาร โดยปี 2558 การส่งออกยานยนต์จะขยายตัวมากขึ้นจากโครงการอีโคคาร์ และอุตสาหกรรมอาหารที่จะขยายตัวจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวจากการเข้าสู่เออีซี

    Tags : นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย • อุตสาหกรรม • สศอ. • ส่งออก • อาเซียน

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้