ชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    (รายงาน) ชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ เหตุเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว

    ตลาดเงินยังคงจับตาทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยมีการประเมินว่าช่วงเวลาที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแตกต่างกัน เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน แต่รายงานการประชุมครั้งล่าสุด มีแนวโน้มว่าภายในปีนี้ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างแน่นอน

    ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดนโยบายประจำวันที่ 16-17 ธ.ค.ออกมาเมื่อวานนี้ (8 ม.ค.) โดยบ่งชี้ว่าเฟดเดินหน้าแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไปในปีนี้ ถึงแม้เจ้าหน้าที่เฟดอภิปรายกันอย่างจริงจังในประเด็นที่ว่าเฟดควรจะใช้วิธีการอย่างไรในการสื่อสารความตั้งใจของเฟด

    รายงานการประชุมระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดได้พิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐสามารถรักษาระดับความแข็งแกร่งไว้ได้ แต่เศรษฐกิจหลายประเทศดำเนินไปในทิศทางที่ผิดพลาด

    การดิ่งลงของราคาน้ำมันส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐออกห่างจากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่เฟดตั้งไว้ แต่ผู้บริโภคสหรัฐดูเหมือนจะพร้อมที่จะใช้จ่ายเงิน ในขณะที่ตำแหน่งงานเพิ่มสูงขึ้น และการลงทุนทางธุรกิจอยู่ในภาวะสม่ำเสมอ

    รายงานการประชุมเฟดระบุว่า "ผู้เข้าร่วมการประชุมหลายคนระบุว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงบ่งชี้ว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในสินค้าฟุ่มเฟือยจะอยู่ในระดับแข็งแกร่งในระยะใกล้ และผู้เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่มองว่า การดิ่งลงอย่างรุนแรงของราคาพลังงานในระยะนี้จะช่วยส่งแรงหนุนด้วย"

    "ผู้ติดต่อด้านอุตสาหกรรมระบุว่า ธุรกิจโดยทั่วไปอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง และธุรกิจในหลายภาคของสหรัฐคาดการณ์ในทางบวกว่าแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นไปอีกในปี 2015 ทางด้านกิจกรรมภาคการผลิตอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง"

    อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจยูโรโซนกับญี่ปุ่นมีแนวโน้มซบเซา ดังนั้นเฟดจึงพยายามหาวิธีการที่ดีที่สุดในการสื่อสารว่า เฟดยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น แต่เฟดจะไม่ให้สัญญาเรื่องกำหนดเวลาที่เฉพาะเจาะจงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

    เฟดได้ออกแถลงการณ์ที่พยายามสื่อสารทั้งสองประเด็นในการประชุมครั้งนั้น โดยเฟดระบุในแถลงการณ์ในวันที่ 17 ธ.ค.ว่า "ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามการประเมินในปัจจุบัน เอฟโอเอ็มซี มองว่าเอฟโอเอ็มซี จะใช้ความอดทนในการเริ่มต้นปรับจุดยืนนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ และเอฟโอเอ็มซีมองว่าสัญญาณชี้นำล่วงหน้านี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแถลงการณ์ครั้งก่อนที่ระบุว่า มีแนวโน้มว่าสิ่งที่จะมีความเหมาะสม คือการตรึงกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 0-0.25% ต่อไปเป็นเวลานาน หลังจากโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์สิ้นสุดลงในเดือนต.ค."

    สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้อยคำที่ใช้ในแถลงการณ์ครั้งก่อนๆของเฟดเป็นสิ่งที่ล้าสมัย เพราะถ้อยคำดังกล่าวผูกติดอยู่กับการปิดโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ของเฟดในเดือนต.ค. 2557

    สมาชิกเอฟโอเอ็มซีหลายคนกล่าวว่า การใช้คำว่า "ความอดทน" ในแถลงการณ์เฟดครั้งล่าสุดนี้ "จะช่วยให้เฟดมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นในการปรับนโยบายการเงินเพื่อตอบรับต่อข้อมูลในอนาคตเมื่อเทียบกับถ้อยแถลงครั้งก่อน โดยถ้อยแถลงครั้งก่อนได้นำจุดเริ่มต้นของการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติไปผูกติดอยู่กับจุดสิ้นสุดของโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์"

    เอฟโอเอ็มซี ตั้งความหวังว่า การระบุว่าสัญญาณชี้นำแบบใหม่นี้มีความสอดคล้องกับแถลงการณ์ครั้งก่อน "จะช่วยหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจผิดว่า ถ้อยแถลงใหม่นี้สะท้อนให้เห็นว่า เอฟโอเอ็มซี ได้ปรับเปลี่ยนความตั้งใจทางนโยบายไปแล้ว" และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะอันใกล้นี้

    นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดได้กล่าวในงานแถลงข่าวในวันที่ 17 ธ.ค.ว่า คำว่า "ความอดทน" ในแถลงการณ์เฟดครั้งนี้หมายความว่า เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสองครั้งข้างหน้าเป็นอย่างน้อย

    ข้อมูลการค้า-จ้างงานหนุนศก.สหรัฐฟื้นตัว

    สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขาดดุลการค้าลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนในเดือนพ.ย. ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลงลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ซึ่งทำให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ขึ้นอย่างมาก

    การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ยังได้แรงหนุนจากข้อมูลอื่นๆ ที่ระบุว่า นายจ้างในภาคเอกชนเพิ่มการจ้างงานในเดือนที่แล้ว

    "เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปรับตัวดีกว่าที่เราคาดไว้มาก" นายไรอัน สวีท นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Moody's Analytics กล่าว "ปัจจัยพื้นฐานสำหรับสหรัฐแข็งแกร่งมาก และเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในปีนี้ แม้ว่าประเทศอื่นๆจะชะลอตัวก็ตาม"

    กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ยอดขาดดุลการค้าลดลง 7.7% สู่ระดับ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนธ.ค.2013

    ยอดขาดดุลการค้าที่ปรับตามเงินเฟ้อแล้วลดลงสู่ 4.78 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 5.01 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนต.ค. ซึ่งทำให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องปรับเพิ่มคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 4 ขึ้นถึง 0.8% สู่ระดับ 3.5%

    ก่อนการเปิดเผยรายงานดังกล่าว หลายคนเชื่อว่า ภาวะการค้าจะถ่วงเศรษฐกิจในไตรมาส 4 โดยภาคการค้ามีส่วนสนับสนุน 0.8% แก่จีดีพีไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 5.0% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี

    ราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลง และตลาดแรงงานที่ตึงตัวเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจ

    ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้นได้แรงหนุนจากข้อมูลของ ADP Employer Services ที่ระบุว่าเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้นเกินคาด 241,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 227,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย.

    ..................

    คาดน้ำมันแนวโน้มลดลงอีก6เดือน

    นักวิเคราะห์คาดว่า ราคาน้ำมันจะยังคงร่วงลงต่อไป โดยได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตที่ระดับสูง อุปสงค์ที่ระดับต่ำ และการแข็งค่าของดอลลาร์ โดยราคาน้ำมันจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นก็ต่อเมื่อประเทศผู้ผลิตสินค้าสำคัญในเอเชียที่ประโยชน์จากราคาพลังงานร่วงลง เริ่มมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

    ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงมาแล้วราว 50 % จากระดับในเดือนมิ.ย. 2557 และลงสู่ระดับใกล้จุดต่ำสุดรอบ 6 ปี ในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างไม่สม่ำเสมอ โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า ภาวะน้ำมันล้นตลาดจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิ่งลงต่อไปอีกก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น

    ในส่วนของอุปทานนั้น ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากภาวะเฟื่องฟูในการผลิตหินน้ำมันสหรัฐ และจากการตัดสินใจของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ในเดือนพ.ย.ที่จะไม่ปรับลดการผลิตลง โดยกลุ่มโอเปกต้องการจะปกป้องส่วนแบ่งตลาดของตนเองจากผู้ผลิตหินน้ำมันสหรัฐ

    ธนาคาร ANZ ระบุว่า "ราคาน้ำมันยังคงมีความเสี่ยงที่จะร่วงลงต่อไปในระยะใกล้ เพราะผู้ผลิตหินน้ำมันสหรัฐจะยังคงไม่ได้รับความเสียหายในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และมีแนวโน้มว่าประเทศสมาชิกโอเปกที่อยู่ในภาวะตึงเครียด อย่างเช่นลิเบีย, ไนจีเรีย และเวเนซุเอลา อาจจะปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันให้สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อราคาน้ำมัน"

    อุปทานน้ำมันในระบบมีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากประเทศที่มีเศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ปรับลดปริมาณการใช้น้ำมัน และประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นในส่วนของทวีปเอเชียนั้น ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่

    อุปสงค์น้ำมันในจีนชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนได้หันเหความสนใจออกจากภาคก่อสร้างที่ใช้พลังงานสูง และมุ่งความสนใจไปยังภาคการบริโภคแทน

    ธนาคารซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ในสัปดาห์นี้ว่า ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนอาจจะเติบโตช้าลงในปีนี้ และระบุว่า "ใครก็ตามที่คาดว่า จีนจะช่วยให้ราคาน้ำมันดีดขึ้นมีแนวโน้มที่จะพบกับความผิดหวัง"

    ซิตี้กรุ๊ปตั้งข้อสังเกตว่าราคาน้ำมันร่วงลง อาจจะช่วยหนุนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนขึ้นได้กว่า 1 % ในส่วนของญี่ปุ่นนั้น จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจะช่วยลดยอดขาดดุลต่างประเทศของญี่ปุ่นลงด้วย หลังจากญี่ปุ่นนำเข้าเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่มีการปิดโรงงานนิวเคลียร์

    นักวิเคราะห์กล่าวว่า ราคาน้ำมันจะลงไปแตะจุดต่ำสุดและจะเริ่มปรับขึ้นอีกครั้ง เมื่อใดก็ตามที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันบางประเทศปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมัน และประเทศผู้ผลิตสินค้าสำคัญเริ่มได้รับประโยชน์จากการดิ่งลงของราคาพลังงาน และเริ่มปรับเพิ่มปริมาณการใช้พลังงาน

    Tags : ธนาคารกลางสหรัฐ • เฟด • เศรษฐกิจ • ดอกเบี้ย • ฟื้นตัว

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้