"คปภ." เล็งปรับเกณฑ์การลงทุนในหุ้นของบริษัทประกันภัยประกันชีวิต นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คปภ.อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเกณฑ์การคิดค่าความเสี่ยง (Risk Charge) เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทประกันชีวิตและประกันภัยใหม่ โดยจะคิดจากต้นทุนราคาหุ้นที่บริษัทเข้าไปลงทุนจากในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เมื่อราคาหุ้นปรับสูงขึ้นไป จนทำให้บริษัทมีพอร์ตลงทุนสูงเกินเกณฑ์ที่ คปภ. กำหนดจะส่งผลต่อการตั้งสำรองของบริษัท โดยจะถูกนำไปคิดค่าความเสี่ยงด้านการกระจุกตัว (Concentration Risk Charge) ทำให้ภาระการตั้งสำรองสูงขึ้น โดยคาดว่าเกณฑ์ดังกล่าว จะบังคับใช้ได้ภายในกลางปีนี้ ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตและประกันภัย มีเบี้ยประกันรวมกว่า 7 แสนล้านบาท มีการเติบโตปีละ 13% หากโตในระดับนี้ต่อไปอีก 4-5 ปีจะไปถึง 1 ล้านล้านบาทได้ ด้วยขนาดเบี้ยที่โตขึ้น เราต้องเปิดช่องการลงทุนอยู่เสมอเพื่อไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในความเสี่ยงเดิมๆ เราจึงต้องขยายเกณฑ์การลงทุนโดยจะทบทวนไปตามโอกาสที่เปิด ซึ่งธุรกิจประกันเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของตลาด มีส่วนผลักดันตลาดทุน และตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว "การลงทุนในหุ้นยังมีความผันผวน จากปัจจัยด้านต่างประเทศ โดยเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวและอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ในประเทศยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนภูมิภาคอาจปรับลดลง แนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และราคาโภคภัณฑ์ยังลดลงปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อตลาดหุ้นและกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งเกณฑ์ของคปภ.มีการจำกัดการลงทุนในแต่ละประเภท"นายประเวช กล่าว นอกจากนี้คปภ.ยังได้อนุมัติให้บริษัทประกันสามารถลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts : Reits) รวมถึงกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่จะออกมามากตามการลงทุนของรัฐในปีนี้ โดยจะเปิดให้ลงทุนในกองทุนได้รวมถึงการให้กู้ยืมหรือซื้อพันธบัตรกับกองทุนเหล่านั้นได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำเพราะมีหลักประกันกว่า 60%ของสินทรัพย์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายการลงทุนให้กับบริษัทประกัน ในขณะนี้อยู่ระหว่างรอกระทรวงการคลังอนุมัติ สำหรับเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้นบริษัทประกันที่ยังมีเงินกองทุนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดยังมีเวลาที่จะปรับตัว โดยทางเลือกในการเพิ่มเงินกองทุนมีหลายทาง ทั้งการเพิ่มทุน หรือการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติก็มีความสนใจและรอความชัดเจนในเกณฑ์ดังกล่าว จึงถือเป็นโอกาสในการหาคู่ค้าของบริษัทประกันด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาคปภ.ได้แยกกลุ่มบริษัทประกันที่มีเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์เป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มที่มีบริษัทต่างชาติถือหุ้น และกลุ่มที่มีบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศถือหุ้น 2 กลุ่มนี้ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง ส่วนกลุ่มสุดท้ายนั้นมีจำนวนไม่มากแล้ว หากจะมีการควบรวมคปภ.ก็ไม่ปิดกั้น ด้านนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า การผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในหุ้นถือเป็นเรื่องที่ดีในการเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับบริษัทประกัน แม้เงินลงทุนในหุ้นของอุตสาหกรรมประกันจะมีสัดส่วนต่ำกว่า 10% ของเงินลงทุนก็ตาม แต่จะช่วยในเรื่องการจัดสรรการลงทุนโดยเฉพาะในเรื่องของผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ที่บริษัทประกันจะใช้เพื่อจัดสรรการลงทุนให้เหมาะกับช่วงอายุของเบี้ยประกันที่เข้ามา ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตไทยมีพอร์ตการลงทุนรวมกันกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาลกว่า 80% นอกจากนี้การปรับเกณฑ์การลงทุนดังกล่าวยังจะเอื้อต่อการเกิดขึ้นของกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุนหรือ Unit Linked อีกด้วย Tags : ประเวช องอาจสิทธิกุล • คปภ. • ประกันภัย