แก้เกณฑ์ลงทุนรัฐ-เอกชน คาดประกาศใช้ต้นก.พ.นี้

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 มกราคม 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "พีพีพี" ผ่านกฎหมายลูก 5 ฉบับและหลักเกณฑ์เพิ่มความคล่องตัวลงทุนภาครัฐ ตีกรอบการพิจารณาอนุมัติโครงการ

    หวังแก้ปัญหาความล่าช้า มูลค่าต่ำกว่าพันล้าน รัฐมนตรีมีอำนาจอนุมัติ หากเกิน 5 พันล้าน ต้องผ่านคณะกรรมการ"พีพีพี" ด้าน "ปรีดิยาธร"คาดต้นเดือนหน้าประกาศใช้

    การประชุมคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี) นัดแรก วานนี้(8 ม.ค.) ตีกรอบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเห็นชอบร่างกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้มีความรวดเร็วมากขึ้น

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพีพีพี ว่า ที่ประชุมฯได้มีการหารือถึงข้อจำกัดของกฎหมาย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่เป็นกฎหมายหลักในการกำหนดการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนโดยเห็นว่าหากกำหนดให้กิจการและโครงการทุกประเภทซึ่งมีขนาดการลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต้องเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ พีพีพี ก็จะทำให้การพิจารณาอนุมัติการเข้ามาร่วมลงทุนของภาคเอกชนมีความล่าช้า

    ดังนั้นจึงจะกำหนดให้โครงการที่มีขนาดต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทเป็นอำนาจในการอนุมัติของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้แต่ละกระทรวงไปดำเนินการ

    สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะมีขนาดโครงการตั้งแต่ 1,000 - 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ PPP เต็มรูปแบบเนื่องจากเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก

    ส่วนโครงการที่มีขนาดโครงการที่ตั้งแต่ 1,000 - 5,000 ล้านบาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะ เช่น การให้เช่าที่ดิน โครงการเชิงพาณิชย์อื่นๆ อาจให้อยู่ในการพิจารณาอนุมัติของแต่ละกระทรวงได้

    ส่วนโครงการที่มีขนาดเกินกว่า 5,000 ล้านบาทและโครงการขนาดใหญ่จะต้องเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ PPP โดยการแบ่งระดับของการพิจารณาแบบนี้ทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น

    ทั้งนี้โครงการที่เอกชนจะเข้ามาลงทุนนอกจากเป็นโครงการที่มีผลตอบแทนสูง หรือเป็นโครงการที่ในระยะสั้นอาจจะมีผลตอบแทนไม่ดีแต่ในระยะยาวจะมีผลตอบแทนสูงเนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น เช่น โครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องการที่จะให้เอกชนมีการลงทุนมากขึ้นเพื่อลดเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐและดึงเงินเอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้นเพื่อให้โครงการต่างๆที่ล่าช้าเดินหน้าได้เร็วขึ้น

    รัฐบาลหนุนร่วมทุนรัฐ-เอกชน

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่ารัฐบาลอยากเห็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนในโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า ทางด่วน สายต่างๆที่จะมีผู้ใช้บริการมากขึ้นในอนาคต ส่วนสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนจะเป็นเท่าไรขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงการ

    "วันนี้นักกฎหมายเข้ามาช่วยกันดูในการทำให้ พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนมีความคล่องตัวมากขึ้น และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน คาดว่าในสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.จะสามารถออกเป็นประกาศหลักเกณฑ์ได้ และทำให้โครงการที่มีขนาดไม่เกิน 1,000 ล้านบาท และโครงการที่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาทและไม่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะ บางโครงการก็สามารถอนุมัติให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนได้ เมื่อโครงการมีความชัดเจนเอกชนจะเข้ามาร่วมลงทุนได้มากเพราะว่ามีความล่าช้ามามากกว่า 1 ปี" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

    เตรียมประกาศยุทธศาสตร์5ปี

    ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่าโครงการและกิจการที่จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐมีหลายประเภทซึ่งขณะนี้ได้ให้กระทรวงต่างๆเสนอโครงการที่เข้าข่ายให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้เพื่อจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ซึ่งคณะกรรมการพีพีพีจะประกาศได้ภายในเดือน ก.พ.นี้

    ตัวอย่างของโครงการได้แก่ โครงการที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เช่นโครงการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ทั่วประเทศ โครงการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ เช่นการก่อสร้างเส้นทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โครงการรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายสีชมพู ฯลฯ โครงการท่าเรือ โครงการขยายสนามบิน และโครงการเกี่ยวกับด้านสังคม เช่น การศึกษาและสาธารณสุข

    "หากภาครัฐมีการตัดสินใจว่าเป็นโครงการที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและมีการกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไรก็จะมีการบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ด้วย"

    อนุมัติร่างกฎหมายลูก5ฉบับตีกรอบ

    นายกุลิศกล่าวต่อไปว่าคณะกรรมการ พีพีพี มีมติเห็นชอบกฎหมายลูกหรือกฎหมายลำดับรองเพิ่มเติมอีก 5 ฉบับ จากที่ก่อนหน้านี้มีการพิจารณาเห็นชอบแล้ว 8 ฉบับรวมเป็น 13 ฉบับ และเหลือกฎหมายลูกอีก 3 ฉบับที่จะมีการพิจารณาในครั้งต่อไป

    กฎหมายลูกที่คณะกรรมการเห็นชอบอีก 5 ฉบับ เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายพีพีพี มีความคล่องตัวมากขึ้น ประกอบไปด้วย 1.หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าโครงการ เพื่อให้เกิดความชัดเจนของการคำนวณมูลค่าของโครงการที่มีปัญหามามากกว่า 20 ปี โดยจะรวมมูลค่าเงินลงทุนที่ทำให้โครงการเกิดขึ้น และหากมีการใช้ทรัพย์สินของรัฐจะรวมมูลค่าทรัพย์สินของรัฐด้วย

    2.กระบวนการประกาศเชิญชวนและการคัดเลือกเอกชน จะคงหลักการเดิมของกฎระเบียบเดิมที่มีอยู่แต่มีการปรับให้มีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น

    3.ข้อกำหนดมาตรฐานสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เกิดมาตรฐานของสัญญาร่วมลงทุน ทำให้ไม่เกิดความลักลั่นระหว่างโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาลักษณะของลักษณะของสัญญาร่วมลงทุนจะมีความหลากหลาย ซึ่งยากต่อการกำกับดูแล และมีปัญหาจำนวนมาก

    4.ลักษณะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อให้เกิดมาตรฐานว่า การแก้ไขสัญญาลักษณะใดเป็นเรื่องนโยบายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนทำให้ลดปัญหาในการกำกับดูแลสัญญาร่วมลงทุน และเพิ่มความโปร่งใสในการแก้ไขสัญญา

    5.หลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนสำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมอบอำนาจให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่มีมูลค่าโครงการต่ำกว่า 1000 ล้านบาท สามารถดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้โครงการขนาดเล็กจะยังคงต้องยึดหลักการของประโยชน์ของรัฐและประชาชน รวมทั้งการคัดเลือกเอกชนต้องมีความโปร่งใส

    Tags : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล • พีพีพี • เอกชน • รัฐ • ลงทุน

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้