ธปท.ไม่ห่วงเงินเฟ้อหลุดเป้าจากราคาน้ำมันร่วงหนักในรอบเกือบ 6 ปี คาดเป็นภาวะชั่วคราว ขณะที่นโยบายการเงินไม่สามารถช่วยได้ เหตุไม่ได้เกิดจากด้านอุปสงค์ ด้านผลสำรวจบริษัทน้ำมันคาดเริ่มลดเงินลงทุนในปีนี้ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับลดต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อโลก รวมทั้งเงินเฟ้อในไทยด้วย โดยประมาณการของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 ไว้ที่ 1.2% บนสมมติฐานราคาน้ำมันที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ปรับมาใช้เงินเฟ้อทั่วไปในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีค่าเฉลี่ยตรงกลางอยู่ที่ 2.5% บวก/ลบ ไม่เกิน 1.5% หรือคิดเป็นกรอบเป้าหมายระหว่าง 1-4% ดังนั้น หลังจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงต่ำกว่า 50 ดอลลาร์/บาร์เรล จึงมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะหลุดกรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่ที่ 1% นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.). กล่าวว่า ประมาณการเงินเฟ้อที่ ธปท. ประเมินไว้ถือว่าอยู่ระดับใกล้เคียงกับกรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่ ที่ยึดเงินเฟ้อทั่วไปในการดำเนินการ ซึ่งถ้าราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงลดลงต่อเนื่อง ก็มีความเสี่ยงว่าจะหลุดกรอบล่างของเป้าหมายได้ เพียงแต่ไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องกังวลอะไร "คงไม่ใช่เรื่องซีเรียจสอะไรมาก เพราะเงินเฟ้อคือการเปลี่ยนแปลง รอบนี้การเปลี่ยนแปลงอาจจะมีมากหน่อย เป็นขั้นใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อาจจะเกิดขึ้นชั่วคราวครั้งเดียว แล้วก็เป็นการปรับฐานไป" นายประสาร กล่าว ดอกเบี้ยนโยบายไม่ช่วยแก้ปัญหา นายประสาร กล่าวด้วยว่า การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ จะช่วยตรึงความคาดหวังของคนในตลาดเงินเอาไว้ คือ เป็นการตรึงเงินเฟ้อคาดการณ์ แต่ถ้ามีปัจจัยพิเศษที่ทำให้เงินเฟ้อหลุดกรอบไปบ้าง ก็ใช้วิธีอธิบายกับสาธารณชนให้เข้าใจได้ ส่วนกรณีของน้ำมัน ซึ่งทำให้เงินเฟ้อปรับลดลงต่อเนื่อง ก็เป็นผลจากเรื่องของอุปทานที่มีกำลังผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องของอุปสงค์ ดังนั้นดอกเบี้ยนโยบายจึงไม่สามารถไปดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพด้านอุปสงค์เป็นหลัก "ครั้งนี้ที่ลงมาเป็นเรื่องของทางด้านอุปทาน จึงไม่ได้ซีเรียสอะไร ถ้าสมมติว่าลงไปแตะขอบล่าง หรือเลยขอบล่างไปบ้าง ก็ไม่น่าเป็นอะไร เพียงแต่ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ก็ต้องอธิบายกับสาธารณชน" นายประสาร กล่าว มีโอกาสเงินเฟ้อหลุดกรอบ ส่วนกรณีที่เงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย ซึ่งตามข้อกำหนด ธปท. จะต้องบอกแนวทางและกำหนดเวลาในการดึงให้กลับเข้ามาอยู่ในกรอบนั้น กรณีนี้ นายประสาร มองว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการปรับลดลงของเงินเฟ้อรอบนี้ เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในรอบเดียว หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของฐาน ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป เงินเฟ้อก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ "จริงๆ ไม่ต้องไปทำอะไรมาก แค่ปล่อยเวลาไปสักพัก ก็จะกลับมาเอง เป็นผลจากฐานที่เปลี่ยนไป เพราะน้ำมันหล่นจาก 100 ดอลลาร์/บาร์เรล มาอยู่ที่ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล คิดเป็นการลดลง 50% ถ้าจะให้ลดลงอีก 50% หมายความว่า ราคาน้ำมันจะต้องลงไปอยู่ที่ 25 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งจริงๆ ราคาน้ำมันในระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล เริ่มเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตในบางแห่งแล้ว ราคาจึงไม่น่าลงต่ำกว่านี้มากนัก คราวนี้ก็จะเป็นเรื่องของฐาน" ราคาน้ำมันยากเกินคาดการณ์ สำหรับทิศทางราคาน้ำมันนั้น นายประสาร ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานยังไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้อย่างชัดเจนนัก แต่ประเด็น คือ ผู้ประกอบการประเภท เชลล์ออย ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าราคาน้ำมันในปัจจุบัน เริ่มจะมีหลายรายที่ไม่ผลิตแล้ว เพราะไม่คุ้มค่า ทำให้อุปทานในตลาดลดลงโดยอัตโนมัติ ส่วนความคาดหวังของคนเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายประสาร กล่าวว่า ไม่น่าเกิดจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจหลุดกรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่ แต่น่าจะเกิดจากมุมมองในเชิงเศรษฐกิจมากกว่า ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจของเดือนต.ค.และพ.ย.2557 แล้ว โดยภาพรวมถือว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณที่ฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่ทั้งนี้ยังต้องจับตาดูตัวเลขของเดือนธ.ค.ด้วยว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลงต่อ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รายงานว่าเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นครั้งแรกในรอบสัปดาห์ หลังราคาปรับตัวลดลงเกือบ 10% ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ตลาดคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มปรับลงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยพื้นฐานด้านอุปทานที่ยังคงล้นตลาด คาดปีนี้บริษัทน้ำมันลดลงทุน ทั้งนี้ บริษัท โคเวน แอนด์ คอมปานี เปิดเผยผลสำรวจของบริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมันของโลกจำนวน 476 บริษัท ว่าอาจลดเงินลงทุน สำหรับการผลิตน้ำมันลงประมาณ 17% หากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล และอาจลดเงินลงทุนประมาณ 30-35% หากราคาเฉลี่ยแตะที่ระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล นอกจากนี้ เงินลงทุนในการขุดเจาะน้ำมันแนวดิ่งในชั้นหินดินดาน ของภูมิภาคอเมริกาเหนือคาดว่าจะลดลง 22% ในปีนี้ ราคาน้ำมันลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือน ธ.ค. 2557 ปรับตัวลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.1% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก นอกจากนี้อัตราการว่างงานของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือน พ.ย. ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 11.5% Tags : ราคาน้ำมันดิบ • นโยบายการเงิน • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • ดอกเบี้ย • ไทยออยล์ • ธปท.